การสังหารหมู่ที่เคลียร์เลก

39°53′51″N 122°31′58″W / 39.8974°N 122.53288°W / 39.8974; -122.53288

การสังหารหมู่ที่เคลียร์เลก (อังกฤษ: Clear Lake Massacre) หรือในสมัยหลังเรียก การสังหารหมู่ที่เกาะบลาดี (อังกฤษ: Bloody Island Massacre) เป็นการสังหารหมู่ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1850 บนเกาะอันมีชื่อเป็นภาษาโปโมว่า โบโนโพที (Bo-no-po-ti) หรือ บาดอนนาโพที (Badon-napo-ti) หมายความว่า เกาะเก่า ตั้งอยู่ทางเหนือปลายเมืองเคลียร์เลก (Clear Lake) เทศมณฑลเลก (Lake County) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา[1][2] หลังจากเหตุการณ์นี้แล้ว ผู้คนก็ขนานนามเกาะโบโนโพทีว่า เกาะบลาดี (Bloody Island, หมายความว่า เกาะเลือดนอง)

ภูมิหลัง แก้

ปี 1847 ชาวอเมริกันสองคน คือ แอนดรูว์ เคลเซย์ (Andrew Kelsey) และ ชาลส์ สโตน (Charles Stone) ซื้อปศุสัตว์ฝูงใหญ่จากโคเซ มานูเอล ซัลบาดอร์ บาย์เยโค (Jose Manuel Salvador Vallejo) นายทหารชาวเม็กซิโก แล้วล่องไปถึงเกาะโบโนโพทีเป็นพวกแรก ณ ที่นั้น มีชาวโปโม (Pomo) กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นชนเผ่าฮูลานาโพ (Hoolanapo) อาศัยอยู่แล้ว ชาวอเมริกันสองคนนั้นจับเอาชาวโปโมลงเป็นทาส และทารุณกรรมนานัปการ เพื่อให้เลี้ยงปศุสัตว์ฝูงนั้นและทำไร่ไถนาให้แก่เขา ทั้งคู่เฆี่ยนตีและสังหารทาสตามอำเภอใจ ทั้งยังข่มขืนสตรีโปโมอีกจำนวนมาก วันหนึ่ง ๆ จะให้อาหารเป็นแป้งสาลีสี่ถ้วยต่อหนึ่งครอบครัว ถ้ามีผู้ขอเพิ่ม มีบันทึกไว้ว่า สโตนก็ฆ่าผู้นั้นเสียโดยไม่ชักช้า[3] ครั้นฤดูใบไม้ร่วง ปี 1849 เคลเซย์บังคับชาวโปโมอีกกลุ่ม เป็นชายทั้งสิ้นห้าสิบคน ไปขุดหาทองให้เขา ใช้งานเสร็จแล้วก็ขายทาสโปโมพวกนี้ให้แก่นักถลุงแร่ต่อ มีบันทึกว่า ชาวโปโมกลุ่มนี้อดอยากจนตายเป็นอันมาก และเหลือรอดกลับไปหาครอบครัวเพียงคนหรือสองคนเท่านั้น[4]

ความอดทนของชาวโปโมมาถึงที่สุด เมื่อเคลเซย์กับสโตนข่มขืนภริยาของ ออกัสติน (Augustine) หัวหน้าเผ่าฮาลานาโพ ทั้งเผ่าจึงตัดสินใจบุกที่พำนักของเคลเซย์กับสโตน โดยวางแผนให้ภริยาหัวหน้าออกัสตินราดน้ำลงบนดินปืนของทั้งคู่เพื่อให้ใช้มิได้เสีย จากนั้น นักรบชาวโปโมแห่มาล้อมบ้านของคนทั้งสองในยามเช้าตรู่ แล้วใช้เกาทัณฑ์ระดมยิงเข้าไป เคลเซย์ต้องลูกเกาทัณฑ์ตาย ส่วนสโตนโจนออกหน้าต่างแล้วซ่อนหลังต้นหลิว แต่หัวหน้าออกัสตินตามเจอ และใช้ศิลาทุบเขาจนถึงแก่ชีวิต[4]

การสังหารหมู่ แก้

กรมอัศวานึกที่ 1 แห่งทัพม้าสหรัฐอเมริกา (1st Dragoons Regiment of the United States Cavalry) ภายใต้การนำของ ร้อยโทนาธาเนียล ลีออน (Nathaniel Lyon) กับร้อยโท เจ. ดับเบิลยู. เดวิสัน (J. W. Davison)[2] เข้ายึดเกาะเพื่อลงโทษชาวโปโม พบเจอที่ใด ก็สังหารที่นั้น ไม่เลือกหญิง ชาย หรือเด็ก ชรา[2] กรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐอเมริกาประเมินว่า กองทัพได้ฆ่าชาวโปโมไปหกสิบคน จากทั้งหมดสี่ร้อยคน ขณะที่เอกสารอื่น ๆ ว่า ชาวโปโมตายไปหลายร้อย ในบรรดาผู้ตายนี้ ถูกฆ่าที่แม่น้ำรัสเชิน (Russian River) เจ็ดสิบห้าคน[3]

มีชาวโปโมรอดตายมาเพียงเล็กน้อย ในจำนวนนั้นรวมถึง นิคา (Ni'ka) เด็กหญิงวัยหกปี หรือต่อมารู้จักในชื่อ ลิวซี มัวร์ (Lucy Moore) เธอหลบใต้แม่น้ำ แล้วหักปล้องอ้อมาใช้หายใจ ในภายหลัง ลูกหลานของเธอตั้งมูลนิธิลิวซีมัวร์ (Lucy Moore Foundation) เพื่อทำงานกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชนพื้นเมืองกับชนที่มาอยู่ใหม่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และเพื่อให้การศึกษาเกี่ยวกับการสังหารหมู่ครั้งนี้[3]

เหตุการณ์ภายหลัง แก้

เมื่อการสังหารสงบแล้ว รัฐบาลกลางแห่งสหรัฐอเมริกาสั่งให้ชาวโปโมล่าถอยไปอาศัยในตูบ (rancheria) เล็ก ๆ ที่รัฐบาลปลูกให้ ทำให้จำนวนชาวโปโมลดน้อยถอยลงเป็นอันมากในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่เหลืออยู่ก็ดำรงชีวิตอย่างแร้นแค้น และมีหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์เพียงสองสามเล่มในรัฐแคลิฟอร์เนียที่เอ่ยถึงเหตุการณ์สังหารหมู่หรือการที่ชาวแคลิฟอร์เนียทารุณชนพื้นเมือง[5]

มีการจัดทำหมุดประวัติศาสตร์สองหมุดไว้บนเกาะ หมุดแรกนั้น องค์การเนทีฟซันส์ออฟเดอะโกลเดินเวสต์ (Native Sons of the Golden West) ปักเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1942 บนถนนเรเคฺลอเมเชิน (Reclamation Road) ห่างจากทางหลวงแคลิฟอร์เนียหมายเลข 20 ไป 0.3 ไมล์ บนหมุดมีจารึกสั้น ๆ ว่า เป็นสมรภูมิระหว่างทหารอเมริกันกับชาวอินเดียนของหัวหน้าออกัสติน[5] ส่วนหมุดที่สองนั้น กรมอุทยานและนันทนาการ (Department of Parks and Recreation) ร่วมกับมูลนิธิลิวซีมัวร์ ปักเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2005 บนทางหลวงฯ หมายเลข 20 นั้นเอง บนหมุดมีถ้อยคำว่า พื้นที่ "สังหารหมู่ชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงและเด็ก" (massacre mostly of women and children)[6]

อ้างอิง แก้

  1. Clear Lake's First People. เก็บถาวร 2009-04-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (pdf file) Habematolel Pomo of Upper Lake. (retrieved 27 Feb 2009)
  2. 2.0 2.1 2.2 Key, Karen. Bloody Island (Bo-no-po-ti). The Historical Marker Database. 18 June 2007 (retrieved 27 Feb 2009)
  3. 3.0 3.1 3.2 Elizabeth Larson, "Bloody Island atrocity remembered at Saturday ceremony" เก็บถาวร 2010-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Lake County News, 13 May 2007 (retrieved 27 Feb 2009)
  4. 4.0 4.1 Richerson, Pete and Scott Richerson. "Bloody Island" เก็บถาวร 2007-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, in Putah and Cache: A Thinking Mammal's Guide to the Watershed, ed. Amy J. Boyer, Jan Goggans, Daniel Leroy, David Robertson, and Rob Thayer, University of California, Davis, 2001 (retrieved 27 Feb 2009)
  5. 5.0 5.1 Historical Marker Database. Bloody Island. Retrieved 1 Mar 2010.
  6. Montoliu, Raphael. Lake County News. "Lucy Moore Foundation seeks to create healing, understanding." เก็บถาวร 2011-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 26 Aug 2007. Retrieved 1 Mar 2010.