การประทับฟ้อง (อังกฤษ: acceptance หรือ admission) นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 นิยามว่า "รับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป"[1] กล่าวคือ เป็นการที่ศาลมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา หลังจากที่ศาลพิเคราะห์แล้ว ซึ่งอาจจะโดยไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ลงความเห็นว่า คดีที่ฟ้องนั้นมีมูลพอที่จะว่ากล่าวตัดสินให้ได้

ประชุมกฎหมายรัชกาลที่ 1

คำว่า "ประทับฟ้อง" ในภาษาไทยนั้น มีเบื้องหลังมาจากวิธีพิจารณาคดีตามกฎหมายไทยแต่โบราณ คือ พระธรรมศาสตร์ หรือที่ในสมัยต่อมาได้รับการประชุมเข้าเป็น ประชุมกฎหมายรัชกาลที่ 1 ซึ่งมาตรา 1 แห่งพระธรรมนูญ ในประชุมกฎหมายดังกล่าว บัญญัติว่า[2]

"...โย กิญฺจาปิ วิจารโณ ธมฺมานุรูปลญฺจนํ อวหาราทฺตยถานํ โส ธมฺมานุญฺโญ ติวุจฺจเร..."

หมายความว่า ให้พิจารณาคดีที่ฟ้องร้องมานั้นว่าควรจะประทับตราของศาลใดตามความในพระธรรมนูญนี้[3] กล่าวคือ ให้เจ้าพนักงานพิจารณาเสียก่อนว่า ตามพระธรรมนูญนี้ คำฟ้องนั้นเป็นเรื่องอะไร ซึ่งภาษากฎหมายสมัยนั้นเรียกว่า "ตระทรวงความ" และภาษากฎหมายปัจจุบันเรียกว่า "มูลคดี" (cause of action) แล้วให้เจ้าพนักงานประทับตราของศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามคำฟ้องเรื่องนั้นลงในคำฟ้อง และส่งคำฟ้องไปยังศาลนั้น[2]

ในบาลีข้างต้น คำว่า "ธมฺมานุรูปลญฺจนํ" หมายความว่า ให้ประทับตราโดยสอดคล้องกับพระธรรมนูญ โดย "ลญฺจน" หมายความว่า ตราประทับ[4] ส่วนคำว่า "อวหาราทฺตยถานํ" หมายความว่า คดีความ มาจาก "อวหาร" (คดีความ) + "อาทิ" (เป็นต้น) + "อตฺถ" (คดีความ) [2]

ตัวอย่างการประทับฟ้องตามประชุมกฎหมายรัชกาลที่ 1 พระธรรมนูญ เช่น พระธรรมนูญบัญญัติว่า[5]

"[หมวด 1 มาตรา 4] อนึ่ง มีพระธรรมนูญไว้ว่า ถ้าหากันว่า ปล้นสะดมฉกลักเอาทรัพย์สิ่งของทองเงินฆ่าเจ้าเรือนตายกลางวันกลางคืน แลลักลูกเมียไพร่ฟ้าข้าคนท่าน ลักช้างม้าเรือเกวียนโคกระบือเข้าของผ้าผ่อนแพรพรรณเส้นผักวักถั่วเป็ดไก่สิ่งใดก็ดี ทำชู้ด้วยเมียท่านฆ่าฟันกัน แลจะกละ กระสือ กระหาง แลทำยาแฝด ยาเมา รีดลูกเสียสรรพ ทำประการใดให้ตายไซร้ เป็นตระทรวงนครบาล ถ้าเนื้อความไม่ถึงตาย จำเลยเป็นสมใน ขุนพรมสุภาได้พิจารณา ถ้าแลหัวเมืองขุนแขวงหมื่นแขวงได้พิจารณาแต่เบี้ยต่ำแสน

"[หมวด 2 มาตรา 4] ตราพระยมราชขี่สิงห์ พญายมราชอินทราธิบดีศรีโลกากรทันทราธรกรมพระนครบาลอภัยพิรียบรากรมภาหุได้ใช้นั้น ตั้งขุนจ่าเมืองหมื่นรองจ่าเมือง ณ เมืองปากใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวง ประการหนึ่ง ได้ตั้งขุนแขวงหมื่นแขวงสิบร้อยอายัต ณ แขวงจังหวัด แลมีตราไปเอาโจรโทษถึงตายแลข้าหนีเจ้า แลเรียกส่วยหัวเมืองเลกทั้งปวง แลมีตราไปเอาโจรผู้ร้าย แลตระทรวงความโจรผู้ร้าย ณ หัวเมือง แลหากันว่าเป็นจักกละขบกันให้ถึงตายก็ดี เป็นกระสือกินกันให้ตายก็ดี สรรพกระทำให้ตายก็ดี หากันว่าจับหอกดาบฆ่าฟันแทงกันถึงตายตีกันตายกลางวันกลางคืนก็ได้ ใช้ไป ณ หัวเมืองเลกทั้งปวง แลแขวงจังหวัดเอามาพิจารณา ประการหนึ่ง ตราขุนเทพนารายณ์ ใช้ไปเรียกสพมาตราหญ้าช้าง แลทำเรือใช้จำนำเมือง แลขุนจ่าเมือง แลหัวเมืองทั้งปวง แลขุนแขวงจังหวัดทั้งสี่ ตราขุนเพชญดา ใช้ไปเรียกส่วยอาชญาศักมาจ่ายลวดหนังพัทธการขุนจ่าเมือง ณ หัวเมืองทั้งปวงแขวงจังหวัด ตราพญายมราช ตราขุนเทพนารายณ์ ตราขุนเพชญดา ได้ใช้แต่เท่านี้"

หมายความว่า คดีดังต่อไปนี้ คือ (1) กล่าวหาว่า เป็นโจรปล้นสะดม ฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย ไม่ว่าในเวลากลางวันหรือกลางคืน (2) กล่าวหาว่า ฆ่าผู้อื่นตาย (3) กล่าวหาว่า ลักทรัพย์ คือ ลูก เมีย ข้าทาสบริวาร สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ สิ่งของ เป็นต้น (4) กล่าวหาว่า ฆ่าฟันกันตาย เพราะเหตุทำชู้กับเมียเขา (5) กล่าวหาว่า เป็นจะกละ, กระสือ หรือกระหัง (6) กล่าวหาว่า ทำยาแฝด, วางยาพิษหรือยาเบื่อ หรือทำแท้งจนเขาตาย คดีหกประเภทนี้ เรียกว่า "คดีนครบาล" หรือ "ตระทรวงนครบาล" (พระธรรมนูญ หมวด 1 มาตรา 4) ให้ศาลกรมพระนครบาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษา โดย ขุนงำเมือง เป็นประธานศาลพระนครบาล แต่ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่ถึงตาย และจำเลยเป็นสมใน ให้ศาลนครบาลวังมีอำนาจพิจารณาพิพากษา โดย ขุนพรมสุภา เป็นประธานศาลนครบาลวัง อย่างไรก็ดี เฉพาะในหัวเมืองต่าง ๆ ถ้าคดีเหล่านี้ระวางโทษปรับน้อยกว่าหนึ่งแสนเบี้ย ให้ไปขึ้นศาลขุนแขวงหรือศาลขุนหมื่น ทั้งนี้ ศาลดังกล่าวทั้งหลาย อยู่ในสังกัดกรมพระนครบาล มี พญายมราชอินทราธิบดีศรีโลกากรทันทราธรกรมพระนครบาลอภัยพิรียบรากรมภาหุ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด (พระธรรมนูญ หมวด 1 มาตรา 4 และหมวด 2 มาตรา 4) ดังนั้น เมื่อมีคำฟ้องคดีนครบาลมา ให้เจ้าพนักงานประทับตราของกรมพระนครบาล คือ ตราพระยมราชขี่สิงห์ (เป็นรูปมัจจุราชนั่งบนหลังสิงห์ มือซ้ายถือพวงดอกไม้ มือขวาถือพระขรรค์) เพื่อส่งคำฟ้องไปยังศาลของกรมนี้ (พระธรรมนูญ หมวด 2 มาตรา 4) [5] [6]

ปัจจุบัน เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล ศาลจะพิเคราะห์ดูก่อนว่า เรื่องราวตามคำฟ้องนั้นมีมูลพอที่จะพิจารณาให้ได้หรือไม่ ถ้าพบว่ามีมูล (find a prima facie case) ศาลก็จะมีคำสั่งให้รับคำฟ้องนั้นไว้ คำสั่งนี้เรียกว่า "คำสั่งประทับฟ้อง" (order of acceptance) ถ้าปรากฏว่าไม่มีมูล ศาลก็จะพิพากษาให้ยกฟ้องเสียทีเดียว[7]

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  2. 2.0 2.1 2.2 ราชบัณฑิตยสถาน, 2553 : 58.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน, 2553 : 58 ว่า ความหมายตรงตัว คือ

    "การพิจารณาคดีที่ฟ้องร้องกันว่าควรจะประทับตราขึ้นแก่กระทรวงใด การพิจารณาคดีนั้น เรียกว่า พระธรรมนูญ"

  4. ราชบัณฑิตยสถาน, 2553 : 58.

    "...วิสุทธ์ บุษยกุล : 'ลญฺจนํ หมายถึง ตราประทับ...' "

  5. 5.0 5.1 ราชบัณฑิตยสถาน, 2553 : 72.
  6. ราชบัณฑิตยสถาน, 2553 : 126.
  7. เช่น คดีอาญาในประเทศไทย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 ว่า

    "ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง"

อ้างอิง แก้