การจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษา

การจัดอันดับสถานศึกษา การจัดอันดับ (ranking) หรือการให้คะแนน (rating) หลักสูตรหรือสถานศึกษานั้น มีขึ้นเพื่อเป็นชี้ถึงจุดเด่นจุดด้อยของสถานศึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น คุณภาพการศึกษา คุณภาพงานวิจัย การยอมรับของผู้จ้างงาน งบประมาณการศึกษา เครือข่ายศิษย์เก่า ความเป็นนานาชาติ สัดส่วนนักศึกษาต่อผับในเมือง จำนวนผู้ได้รับรางวัลโนเบล ฯลฯ

การจัดอันดับของแต่ละสำนักนั้น จะให้น้ำหนักความสำคัญกับแต่ละตัวชี้วัดแตกต่างกันไปตามประเภทและวัตถุประสงค์ของการจัดอันดับ เช่น โดยทั่วไป ในการจัดอันดับหลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) จะให้ความสำคัญกับเครือข่ายศิษย์เก่า มากกว่าในการจัดอันดับสถาบันเทคโนโลยี หรือ ในการจัดดับหลักสูตรระดับปริญญาตรี จะให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างศึกษา มากกว่าในการจัดอันดับหลักสูตรระดับปริญญาโทหรือเอก

ตัวชี้วัดที่นำมาใช้ในการจัดอันดับนั้นสามารถแบ่งได้สองประเภทใหญ่คือ แบบอัตวิสัย (subjective) และแบบภววิสัย (objective) โดยแบบแรกนั้นเป็นลักษณะความคิดเห็น เช่น ชื่อเสียงวิชาการในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพ ความพอใจของผู้จ้างงาน ส่วนแบบหลังนั้นเป็นข้อมูลที่วัดได้โดยตรง เช่น ขนาดแบนด์วิธอินเทอร์เน็ต จำนวนนักศึกษาต่ออาจารย์

ข้อมูลที่นำมาคำนวณหรือประมวลเป็นตัวชี้วัดนั้น ได้มาจากแหล่งข้อมูลหลายประเภท เช่น ทำการสำรวจ ค้นหาจากสิ่งตีพิมพ์/เว็บไซต์ หรือสอบถามโดยตรงกับสถานศึกษาหรือหน่วยงานรับผิดชอบของแต่ละประเทศ โดยแหล่งข้อมูลแต่ประเภทก็จะใช้แรงงาน เวลา และค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน รวมถึงมีความครอบคลุมและความน่าเชื่อถือต่างกันไป และแหล่งข้อมูลบางประเภทอาจเหมาะกับตัวชี้วัดชนิดหนึ่งแต่ไม่เหมาะกับตัวชี้วัดอีกชนิดหนึ่ง เหล่านี้เป็นปัจจัยในการเลือกใช้แหล่งข้อมูลของสำนักจัดอันดับ และยังเป็นตัวชี้ว่า ผลการจัดอันดับนั้นน่าเชื่อถือเพียงใด

การให้ความสำคัญของอันดับสถานศึกษานั้นแตกต่างกันไปตามประเทศ โดยในสหราชอาณาจักร หนังสือพิมพ์หลายฉบับมีการจัดอันดับสถานศึกษา โดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี มีการพิมพ์เป็นคู่มือจำนวนหลายร้อยหน้าทุก ๆ ปี ส่วนในระดับบัณฑิตศึกษา มีหน่วยงานรับผิดชอบของรัฐโดยเฉพาะในการให้คะแนนสถาบันอุดมศึกษาในด้านคุณภาพการศึกษาและคุณภาพการวิจัย ส่วนในสหรัฐอเมริกา อันดับสถานศึกษาส่งผลต่อการเลือกเข้าเรียนของนักเรียน ในขณะที่ในบางประเทศไม่มีการจัดอันดับสถานศึกษา

ในประเทศไทย ได้ริเริ่มให้ 2 หน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย คือ หน่วยงานสมศ. (สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา-องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์ในการประเมินตนเองและประกันคุณภาพ และ หน่วยงาน สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจให้กับนักเรียนที่จะใช้ในการเลือกสอบเข้าเรียนในสถาบันต่างๆ

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) มีการประเมินสถานศึกษาทั่วประเทศ ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา และจะเริ่มคะแนนสถาบันอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2549 โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2549 การประเมินภายนอกรอบแรก (รอบ พ.ศ. 2544 - 2548) ของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้เสร็จสิ้นแล้ว[1]

อันดับระดับนานาชาติ แก้

อันดับโดย Times Higher Education Supplement แก้

หนังสือพิมพ์ไทมส์ไฮเออร์เอดูเคชันซัปพลีเมนต์ (Times Higher Education Supplement) จากสหราชอาณาจักร จัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก 200 อันดับ ทั้งแบบโดยภาพรวมและแบบแบ่งตามสาขาวิชา[2] มีตัวชี้วัดดังต่อไปนี้[3] (ในวงเล็บคือสัดส่วนในการคิดคะแนนรวม):

  • คะแนนความเห็นจากเพื่อนร่วมอาชีพ (40%) - ถามความเห็นจากอาจารย์ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง 2,375 คน
  • คะแนนความเห็นผู้จ้างงาน (เริ่มใช้ใน ค.ศ. 2005) (10%) - ถามความเห็นจากผู้จ้างงาน 333 แห่ง
  • สัดส่วนอาจารย์นานาชาติ (5%)
  • สัดส่วนนักศึกษานานาชาติ (5%)
  • สัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา (20%)
  • คะแนนงานวิจัยของอาจารย์ที่ถูกอ้างอิง/ความสำคัญในสาขา (20%)

อันดับโดยมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวถง แก้

The Academic Ranking of World Universities โดย มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวถง ของประเทศจีน เป็นการจัดอันดับที่มักจะได้รับการกล่าวถึงควบคู่ไปกับการจัดอันดับของ THES และได้รับการอ้างอิงในบทความของนิตยสาร The Economist หลายครั้ง[4] ได้เริ่มจัดอันดับมาได้เพียง 2 ครั้ง คือ ปี ค.ศ. 2004 และ ค.ศ. 2005 และมีการปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดและอัตราส่วน ทำให้แต่ละครั้งมีตัวชี้วัดไม่เหมือนกัน โดยให้น้ำหนักไปที่งานวิจัยและศักยภาพทางวิชาการที่สามารถวัดได้ (ภววิสัย) โดยเกณฑ์ล่าสุดนั้น ให้คะแนนด้านวิชาการ 4 ด้าน (เพิ่มศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้าไป จากเดิมมีแค่ด้านวิทยาศาสตร์อย่างเดียว) ด้านละ 20%, ศิษย์เก่าที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ 10%, และอัตราส่วนผลงานวิจัยต่อจำนวนอาจารย์ประจำ 10%

หากพิจารณาถึงความสามารถด้านวิชาการโดยรวมของทุกสาขาวิชา การจัดอันดับมหาวิทยาลัยของสำนักนี้ เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นการจัดอันดับคุณภาพเชิงปริมาณโดยรวมทุกสาขาวิชา โดยจัดอันดับแยกเป็นหมวดตามภูมิภาคดังนี้

  • ระดับโลก 500 แห่ง (Top 500 World Universities)
  • ระดับภูมิภาค ภูมิภาคละ 100 แห่ง
    • อเมริกาเหนือและละตินอเมริกา (Top 100 North & Latin American Universities)
    • ยุโรป (Top 100 European Universities)
    • เอเชียแปซิฟิก (Top 100 Asia Pacific Universities)

อันดับโดย Webometrics แก้

ตัวชี้วัด Webometrics นั้นจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก อันดับ Webometrics จะบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน

อันดับระดับประเทศ แก้

ประเทศไทย แก้

สำหรับประเทศไทย มีการจัดสถาบันอุดมศึกษาไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในปี พ.ศ. 2549, สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาซึ่งมีหน้าที่ในการประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศ รวมทั้งระดับอุดมศึกษาด้วย และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ มีหน้าที่ในการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาขของรัฐเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังมีการประเมินคุณภาพงานวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาไทยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ซึ่งจะประเมินคุณภาพงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาไทยด้วย

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้