กัมปุงเซียม (มลายู: Kampung Siam "บ้านสยาม"; จีน: 暹羅村) เป็นดินแดนแทรกทางชาติพันธุ์ของชาวมาเลเซียเชื้อสายสยามในย่านปูเลาตีกุซ เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง อันประกอบด้วยผู้โยกย้ายถิ่นฐานจากไทยและกลุ่มชาวไทยในท้องถิ่นที่เรียกว่า ชาวสยาม จากพื้นที่ใกล้เคียง คือ เกอดะฮ์ ปะลิส ฮูลูเปรัก และกลันตัน บ้านกัมปุงเซียมมีพื้นที่ 2,681 ตารางเมตร (0.662 เอเคอร์) อยู่ห่างจากตัวเมืองจอร์จทาวน์ 2.6 กิโลเมตร ตั้งอยู่ใกล้มุมถนนบูร์มะฮ์ (หรือ ถนนพม่า) ตัดกับตรอกบูร์มะฮ์ติดวัดไชยมังคลาราม[1][2]

กัมปุงเซียม
เทศกาลสงกรานต์ที่วัดไชยมังคลาราม จุดหมายตาที่มีชื่อเสียงของกัมปุงเซียม
เทศกาลสงกรานต์ที่วัดไชยมังคลาราม จุดหมายตาที่มีชื่อเสียงของกัมปุงเซียม
กัมปุงเซียมตั้งอยู่ในจอร์จทาวน์ ปีนัง
กัมปุงเซียม
กัมปุงเซียม
พิกัด: 5°25′52.1862″N 100°18′46.944″E / 5.431162833°N 100.31304000°E / 5.431162833; 100.31304000
ประเทศมาเลเซีย
รัฐปีนัง
อำเภอเกาะปีนังตะวันออกเฉียงเหนือ
เมืองจอร์จทาวน์
การปกครอง
 • รัฐบาลท้องถิ่นสภานครเกาะปีนัง
 • นายกเทศมนตรีเกาะปีนังยู ตุง เซียง
 • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปูเลาตีกุซคริส ลี ชุน กิต (DAP)
 • สมาชิกรัฐสภาบูกิตเบินเดอราหว่อง ฮน ไว (DAP)
เขตเวลาUTC+8 (เวลามาตรฐานมาเลเซีย)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)ไม่ได้สังเกต
รหัสไปรษณีย์10250
เว็บไซต์mbpp.gov.my

พื้นที่โดยรอบยังเป็นพื้นที่อาศัยของคนเชื้อสายสยามตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19[2] แต่ดินแดนแทรกทางชาติพันธุ์นี้กำลังถูกคุกคามจากการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาพื้นที่[3][4]

ประวัติ แก้

 
วัดไชยมังคลาราม

เชื่อกันว่าชาวสยามกลุ่มแรกเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่ปูเลาตีกุซตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19[2] จากการสำรวจสำมะโนครัวประชากรเมื่อ ค.ศ. 1828 (พ.ศ. 2371) พบว่ามีชาวสยามจำนวน 1,117 คน อาศัยอยู่ในบ้านกัมปุงเซียม[5] กระทั่ง ค.ศ. 1845 (พ.ศ. 2388) รัฐบาลสหราชอาณาจักรมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของกัมปุงเซียมแก่ชาวสยาม เพื่อแสดงความปรารถนาดีต่ออาณาจักรสยาม[1][2] หญิงมีเกียรติชาวสยาม ชาวจีน (รวมเปอรานากัน) และชาวมลายู มีส่วนร่วมในการดูแลที่ดินและสร้างวัดไชยมังคลาราม (นามเดิม วัดปูโลติกุส) ไว้ข้างหมู่บ้าน[6] นอกจากคนเชื้อสยามแท้ ๆ แล้ว ยังประกอบไปด้วยคนจีนที่กลืนกลายเป็นคนไทยอาศัยอยู่ด้วย[7] จากเอกสารของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าเหตุการณ์ที่ปีนังใน พ.ศ. 2477 เมื่อพระองค์เสด็จไปบำเพ็ญพระกุศลเนื่องในวันวิสาขบูชาที่วัดไชยมังคลารามไว้ว่า "พอเข้าวัดก็เกิดพิศวงด้วยเห็นผู้คนไปมาราวสัก 200 คน แต่มีผู้หญิงเป็นพื้น เห็นแต่งตัวเป็นยอหยาทั้งนั้น เป็นคนชั้นมีอันจะกินโดยมาก ได้ยินเสียงพูดจึงรู้ว่าเป็นไทย แต่มีผู้ชายน้อยราวสัก 20 คน"[8]

โดยมากชาวสยามเหล่านี้จะสมรสกับชาวจีนและมลายู แต่ยังคงนับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกับชาวพม่า รวมทั้งยังแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน[9] เพราะตั้งชุมชนใกล้กับชาวพม่าซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ภายหลังชาวพม่าถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมเปอรานากัน และสมรสข้ามชาติพันธุ์กับชาวสยามและจีนซึ่งอยู่ใกล้กันแทน เหลือเพียงวัดพม่าธัมมิการามเป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลัง[10] พึงสังเกตได้จากสถาปัตยกรรมในวัดไชยมังคลารามที่ผสมผสานกันระหว่างไทย จีน และพม่า[11] อย่างไรก็ตามชาวสยามดูจะกลมเกลียวกับชาวจีนเสียมากกว่า[9] เมื่อคนสยามและจีนสมรสข้ามกลุ่มกันราวสองถึงสามรุ่นก็จะกลมกลืนไปกับชาวจีนจนแยกไม่ออก[12]

นอกจากกัมปุงเซียมแล้ว ยังมีชุมชนชาวสยามบนเกาะปีนังอีก เช่น กัมปงเซอรานีในปูเลาตีกุซ ซึ่งเป็นชุมชนลูกครึ่งจากสยามที่นับถือศาสนาคริสต์ มีมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19[13][14] ทางใต้ของปูเลาตีกุซมีชุมชนไทยอีกแห่งคือบ้านซากัซจัง (Sakaschang) ซึ่งมีคนไทยอาศัยอยู่เบาบาง มีศาสนสถานสำคัญสองแห่ง คือ วัดสว่างอารมณ์ (สากัตจัง) และวัดบุปผาราม ปัจจุบันชาวไทยกลุ่มนี้ถูกกลืนจนสิ้นแล้ว[15] และชุมชนไทยที่บาตูลันจัง ปัจจุบันยังมีชาวไทยอาศัยอยู่แบบกัมปง มีการก่อสร้างศาสนสถานสำคัญ คือ วัดปิ่นบังอร (นามเดิม วัดบาตูลันจัง) สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2337 และวัดจันทาราม[16]

ปัจจุบันแทบไม่มีชาวสยามอาศัยอยู่รอบวัดไชยมังคลารามแล้ว เนื่องจากอพยพหรือกลืนกลายเป็นคนจีนไป[17] ส่งผลให้มีคนบวชเป็นพระภิกษุน้อยลง ปัจจุบันจึงมีการนำพระจากประเทศไทยมาจำพรรษาที่วัด[18] พื้นที่ชุมชนกัมปุงเซียมกำลังลดขนาดลงเนื่องจากการจัดสรรที่ดินเพื่อสร้างโรงแรม[1][3][4] เพราะทรัสตีขายที่ดินเมื่อ ค.ศ. 2014 โดยไม่ทราบว่าขายที่แก่นักพัฒนาที่ดิน[19] ส่งผลให้ผู้อาศัยถูกขับไล่ออกจากที่ จึงเกิดการฟ้องร้องนักพัฒนาที่ดิน แต่ศาลยกฟ้องใน ค.ศ. 2015 และเกรงว่าหลังจากนี้ชุมชนสยามจะถูกรื้อถอนจนสิ้นเพื่อพัฒนาที่ดิน[3][4] ยังมีชาวสยามหลงเหลืออยู่ โดยอาศัยรวมกลุ่มกันอยู่ในตรอกแคบ ๆ ใกล้ต้นโพใหญ่บริเวณหลังวัดไชยมังคลารามซึ่งเป็นเขตธรณีสงฆ์ที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรพระราชทานไว้[20]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "myPenang". mypenang.gov.my. สืบค้นเมื่อ 2018-07-19.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Khoo, Su Nin (2007). Streets of George Town, Penang. Penang: Areca Books. ISBN 9789839886009.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Kampung Siam residents in a state of limbo". www.thesundaily.my (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-07-19.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Penang Siamese village to go, making way for urbanisation - Metro News | The Star Online". www.thestar.com.my. สืบค้นเมื่อ 2018-07-19.
  5. "myPenang". mypenang.gov.my. สืบค้นเมื่อ 2018-07-19.
  6. พิเชฐ แสงทอง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2560). ศึกไทย-พม่าที่ปีนัง: แกะรอยปริศนาปีสร้างและคดีความที่วัดปูเลาติกุส (ไชยมังคลาราม) มาเลเซีย. วารสารรูสมิแล (38:2), หน้า 49-51
  7. พิเชฐ แสงทอง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2560). ศึกไทย-พม่าที่ปีนัง: แกะรอยปริศนาปีสร้างและคดีความที่วัดปูเลาติกุส (ไชยมังคลาราม) มาเลเซีย. วารสารรูสมิแล (38:2), หน้า 38
  8. พิเชฐ แสงทอง (พฤษภาคม–สิงหาคม 2560). ศึกไทย-พม่าที่ปีนัง: แกะรอยปริศนาปีสร้างและคดีความที่วัดปูเลาติกุส (ไชยมังคลาราม) มาเลเซีย. วารสารรูสมิแล (38:2), หน้า 43
  9. 9.0 9.1 ปัญญา เทพสิงห์ และวุฒิ วัฒนสิน (2547). ลวดลายตกแต่งหน้าอาคารชิโน-ปอร์ตุเกสในจังหวัดภูเก็ต (PDF). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. p. 96.
  10. ปัญญา เทพสิงห์ และวุฒิ วัฒนสิน (2547). ลวดลายตกแต่งหน้าอาคารชิโน-ปอร์ตุเกสในจังหวัดภูเก็ต (PDF). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. p. 97.
  11. "พุทธพม่า พุทธไทยในมาเล, รัฐปีนัง มาเลเซีย". ไทยพีบีเอส. 1 มีนาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. บรรลือ ขอรวมเดช (2555). อุโบสถวัดไทยในเมืองมลายู (กลันตัน เกดะห์ ปะลิส และปีนัง) สมัยรัตนโกสินทร์ (PDF). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 293.
  13. "The History of Penang Eurasians". Penang Tourism (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2013-12-02. สืบค้นเมื่อ 2017-05-20.
  14. "Church opens mini museum of relics - Nation | The Star Online". www.thestar.com.my. สืบค้นเมื่อ 2017-05-20.
  15. เมธาวี จำเนียร และกรกฎ จำเนียร (2562). แนวทางการสื่อสารอัตลักษณ์ผ่านสื่อเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของคนไทยในมุมมองของคนมาเลเซียในรัฐปีนังประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย. p. 33.
  16. บรรลือ ขอรวมเดช (2555). อุโบสถวัดไทยในเมืองมลายู (กลันตัน เกดะห์ ปะลิส และปีนัง) สมัยรัตนโกสินทร์ (PDF). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 270.
  17. บรรลือ ขอรวมเดช (2555). อุโบสถวัดไทยในเมืองมลายู (กลันตัน เกดะห์ ปะลิส และปีนัง) สมัยรัตนโกสินทร์ (PDF). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 248.
  18. บรรลือ ขอรวมเดช (2555). อุโบสถวัดไทยในเมืองมลายู (กลันตัน เกดะห์ ปะลิส และปีนัง) สมัยรัตนโกสินทร์ (PDF). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 296-297.
  19. "Uncertain future for Kampung Siam". www.thesundaily.my (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-07-19.
  20. "สยามในปีนัง". ไทยพีบีเอส. 28 กุมภาพันธ์ 2560. สืบค้นเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)