ประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2475–2516)

ประวัติศาสตร์ไทยระหว่าง พ.ศ. 2475 ถึง 2516 เป็นสมัยที่ถูกครอบงำโดยระบอบเผด็จการทหาร กองทัพเข้ามาครองอำนาจการเมืองไทยหลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดยกลุ่มที่เรียกตนเองว่า คณะราษฎร ความแตกแยกภายในคณะราษฎรสุดท้ายฝ่ายทหารหนุ่มเป็นฝ่ายชนะ ในช่วงแรก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรีที่ประสานความเข้าใจระหว่างคณะราษฎรกลุ่มต่าง ๆ แต่รัฐบาลยังขาดเสถียรภาพ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2481 เขาหันไปส่งเสริมลัทธิชาตินิยมและแสนยนิยมแทนลัทธิรัฐธรรมนูญ ประกาศรัฐนิยม เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย ลดบทบาททางสังคมของพระมหากษัตริย์ และนำพาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองโดยถือข้างญี่ปุ่น หลังสงคราม ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามจากความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐ มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหลายคน จนในปี 2490 จอมพล ป. พิบูลสงครามชิงอำนาจกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นับเป็นการปิดฉากกลุ่มการเมืองสายปรีดี พนมยงค์และคณะราษฎร ในช่วงสงครามเย็น ไทยเข้าเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอย่างเต็มตัว เข้าร่วมสงครามเกาหลี เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) แต่ในปี 2500 เขาถูกจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหาร นับเป็นการปิดฉากยุคผู้นำสามเส้า

ประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2475–2516)
24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516
330x330
ขบวนยานยนต์หุ้มเกราะที่พระลานพระราชวังดุสิต ในระหว่างการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
พระมหากษัตริย์
นายกรัฐมนตรี
เหตุการณ์สำคัญ
← ก่อนหน้า
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์)
ถัดไป →
ประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2516–2544)

หลังจากนั้นประเทศไทยเข้าสู่ยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใช้อำนาจปกครองประเทศอย่างเฉียบขาดและดำเนินนโยบายพัฒนาชนบท นโยบายให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยเพื่อใช้ทำสงครามเวียดนามทำให้เกิดการกลายเป็นตะวันตกและการทำให้ทันสมัยของประเทศอย่างรวดเร็ว หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 จอมพลถนอม กิตติขจรปกครองประเทศสืบต่อมา ในช่วงนี้ เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่มีความเหลื่อมล้ำสูง ประเทศไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมและทำให้มีการกลายเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการรับค่านิยมเสรีภาพแบบตะวันตกทำให้เกิดสำนึกทางการเมืองจนนำไปสู่การเดินขบวนและการสิ้นสุดของระบอบถนอมในปี 2516

ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับ "คณะชาติ" (พ.ศ. 2475–81) แก้

รัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา แก้

 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม 2475

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เป็นเหตุการณ์เปลี่ยนระบอบการปกครองของสยามจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ นำโดยคณะบุคคลที่เรียก คณะราษฎร โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการกำเนิดของข้าราชการใหม่ซึ่งเป็นชนชั้นกลางหลังการปฏิรูปขยายระบบราชการในปี 2435[1]: 18–9  โดยสบโอกาสในช่วงที่สยามได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ภายในเวลาห้าวัน คณะราษฎรนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรก ตั้งสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารเข้าควบคุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกเพื่อสร้างฐานอำนาจของตน[1]: 41–2 

วันที่ 28 มิถุนายน 2475 สภาผู้แทนราษฎรประชุมกันครั้งแรก มีมติเลือกพระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) คนแรก มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 7 คน โดยมีสมาชิกคณะราษฎรเพียงคนเดียว ส่วนที่เหลือเป็นขุนนางระดับเจ้าพระยาในระบอบเก่า นับว่าคณะราษฎรไม่มีฐานอำนาจพอที่จะผลักดันวาระของพวกตน[1]: 126–7  การร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 5 เดือนก็มีการประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 นับเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกและฉบับที่ใช้ยาวนานที่สุดของประเทศ หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการตั้งรัฐบาลใหม่โดยพระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ มีสมาชิกคณะราษฎรร่วมคณะรัฐมนตรีด้วยหลายคนแต่เป็นเพียงตำแหน่งลอย[1]: 127–8 

ในเดือนมกราคม 2476 รัฐบาลประกาศห้ามตั้ง "สมาคมคณะชาติ" ซึ่งประกอบด้วยขุนนางในระบอบเก่า ซึ่งเท่ากับห้ามคณะราษฎรไปโดยปริยายด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลถือว่าข้าราชการไม่พึงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และรับสนองพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ไม่ทรงโปรดให้มีพรรคการเมือง[1]: 132–3  ในเดือนมีนาคม 2476 เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ("สมุดปกเหลือง") ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้เสนอโดยมีใจความสำคัญคือ รัฐบาลจะซื้อที่ดินเพาะปลูกทั้งหมดแล้วให้ชาวนาเป็นลูกจ้างรัฐบาล รัฐบาลเป็นเจ้าของร้านค้า นับเป็นการตัดพ่อค้าคนกลาง ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้โดยปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์[1]: 134, 138–9  พระยามโนปกรณนิติธาดายังเอาพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (เรียก "สมุดปกขาว") มาเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย ทำให้ปรีดีลาออก[1]: 140–1 

วันที่ 1 เมษายน 2476 สืบเนื่องจากความแตกแยกระดับสูงทำให้พระยามโนปกรณนิติธาดาออกกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวปรากฏชื่อสมาชิกคณะราษฎรส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งอาจถือได้ว่าแยกไปเข้ากับระบอบเก่า[1]: 143, 145  รัฐบาลใหม่รีบออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 และแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยทั้งสองมีจุดประสงค์เพื่อขจัดการวางแผนเศรษฐกิจที่เป็นภัยต่อระบอบเก่า[1]: 145–6  วันที่ 20 มิถุนายน 2476 นายทหารบกและทหารเรือซึ่งมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า ยึดอำนาจการปกครองโดยระบุเหตุผลว่าเพื่อให้เปิดประชุมสภาและขจัดผู้เผด็จการ

รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา, กบฏบวรเดช, การสละราชสมบัติ แก้

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 5 ปี นับเป็นช่วงที่คณะราษฎรเริ่มกุมอำนาจทางการเมือง รัฐบาลพยายามสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ รัฐบาลประสบความสำเร็จในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับชาติตะวันตก มีการร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในปี 2477 และ 2478 ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการยกเลิกสนธิสัญญาเหล่านี้ จนสำเร็จในปี 2482

 
แผนที่จังหวัดที่เข้าร่วมกบฏบวรเดช
  ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช
  ฝ่ายรัฐบาล

ปฏิกิริยาต่อการเดินทางกลับประเทศสยามของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในเดือนเมษายน 2476 นั้น ปรากฏว่า วันที่ 11 ตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม นำทหารจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางบางส่วนนำกำลังมาทางรถไฟและเข้ายึดสนามบินดอนเมือง ข้อกล่าวหาของ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" มีว่าคณะรัฐมนตรีปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและปล่อยให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกระทำการแบบคอมมิวนิสต์ต่อไป รัฐบาลนำกำลังเข้าปราบปรามเริ่มตั้งแต่วันที่ 12–13 ตุลาคม จนวันที่ 16 ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลยึดสนามบินดอนเมืองคืนได้ รัฐบาลเดินทางโดยรถไฟไล่ตามกบฏที่ถอนกำลัง จนยึดนครราชสีมาได้ในวันที่ 25 ตุลาคม ในที่สุดพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปยังอินโดจีน[1]: 158–9  มีการประเมินว่าทรัพย์สินเสียหายเป็นมูลค่า 3 ล้านบาท ทหารฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิต 15 นาย ต่อมารัฐบาลสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่วงเวียนหลักสี่[1]: 159  รัฐบาลตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาโทษฝ่ายกบฏ มีจำเลย 318 คน ลงโทษถอดยศและบรรดาศักดิ์ 35 คน จำคุกตลอดชีวิต 47 คน อีก 107 คนถูกจำคุก[1]: 160 

บทบาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในกบฏครั้งนี้นั้นเป็นประเด็นถกเถียงตลอดมา รัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความขัดแย้งกันมากขึ้น และมีการกล่าวหาว่าราชสำนักสมทบเงินแก่กบฏ พระองค์ทรงประทับอยู่ที่จังหวัดสงขลาเกือบตลอดเวลา ประเด็นเรื่องพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภาฯ ประเภทสองจำนวน 78 คน ในเดือนมกราคม 2476 (นับแบบเก่า)[1]: 161  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับยังประเทศอังกฤษเพื่อรักษาพระเนตร โดยมีบุคคลสำคัญในระบอบเก่าทยอยออกนอกประเทศไปเป็นจำนวนมาก เดือนพฤศจิกายน 2477 ผู้แทนรัฐบาลปฏิเสธข้อต่อรองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจนตกลงกันไม่ได้ จนทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 (นับแบบเก่า) ทั้งนี้ พระองค์ทรงเห็นว่าตราบเท่าที่สยามยังไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง พระมหากษัตริย์ก็ยังต้องมีพระราชอำนาจส่วนหนึ่ง แต่คณะราษฎรเห็นว่าพระมหากษัตริย์ควรเป็นประมุขเชิงสัญลักษณ์แบบพระมหากษัตริย์อังกฤษเท่านั้น[1]: 164 

จากนั้น รัฐบาลสถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขณะทรงมีพระชนมายุ 8 พรรษา ผู้ทรงกำลังศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดไป มีการจัดการเลือกตั้งโดยอ้อมในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2476 นับเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งเดียวของไทย โดยในขณะนั้นประชาชนเลือกผู้แทนตำบล ซึ่งจะทำหน้าที่แลกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง ไม่มีการตั้งพรรคการเมือง และหญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเช่นเดียวกับบุรุษ รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผสม มีแผนสร้างถนนทั่วประเทศ ท่าเรือคลองเตย ขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา รัฐบาลเข้าจัดการการค้าข้าวและน้ำมันเชื้อเพลิงอันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐวิสาหกิจ[1]: 167–8  ผู้แทนราษฎรในช่วงนี้ทำหน้าที่ของตนได้อย่างดี เป็นการกลบข้ออ้างว่าประเทศไทยไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย[1]: 168  ในช่วงนี้จากการตรวจสอบของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกถึง 3 ครั้ง[1]: 169 

รัฐบาลจอมพล ป. และรัฐนิยม แก้

เดือนธันวาคม 2481 พันเอกหลวงพิบูลสงครามได้รับเสียงสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ มีผู้มองว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีความเหมาะสมเช่นกัน แต่บทบาทของกองทัพบกในการเมืองหลังปี 2475 ทำให้ตัวแทนของกองทัพบกมีน้ำหนักมากกว่า[1]: 182  การเมืองไทยเปลี่ยนจากประชาธิปไตยระบบรัฐสภาเป็นลัทธิชาตินิยมและลัทธิทหาร ลัทธิผู้นำที่หลวงพิบูลสงครามสร้างขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดความแตกแยกในคณะราษฎรฝ่ายหลวงพิบูลสงครามกับฝ่ายปรีดี พนมยงค์[1]: 177–8 

วันที่ 29 มกราคม 2481 (นับแบบเก่า) ศัตรูของรัฐบาล 51 คนถูกจับกุม และหลังจากการพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษ ก็มีคำพิพากษาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2482 ประหารชีวิตจำเลย 18 คน[1]: 190  ดูเหมือนว่าคดีดังกล่าวจะเป็นการสิ้นสุดของความขัดแย้งทางการเมืองภายในนับแต่การปฏิวัติสยาม[1]: 192 

 
โปสเตอร์ของรัฐบาลชักชวนให้ประชาชนแต่งกายให้ทันสมัย

วันที่ 24 มิถุนายน 2482 พลตรี หลวงพิบูลสงครามกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติแทนวันเฉลิมพระชนมพรรษา และเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นไทย การทำให้ทันสมัยยังเป็นอีกแก่นหนึ่งที่สำคัญในชาตินิยมไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2482 ถึง 2485 เขาออกประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับ นอกเหนือจากการกำหนดให้คนไทยทุกคนเคารพธงชาติ รู้จักเพลงชาติ และพูดภาษาไทยแล้ว รัฐนิยมดังกล่าวยังกระตุ้นให้คนไทยทำงานหนัก ติดตามข่าวสารปัจจุบัน และแต่งกายแบบตะวันตก มีการประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์และปรับปรุงตัวอักษรไทยในเดือนพฤษภาคม 2485 ให้ใช้เลขอารบิกแทนเลขไทย การออกรัฐนิยมตรงกับช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามมีอำนาจทางการเมืองสูงสุด[1]: 204  รัฐบาลยังพยายามเสริมฐานะของรัฐบาลและผู้นำตามลัทธิบูชาบุคคล โดยลดบทบาทและความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ยกเลิกโบราณราชประเพณี การย้ายพระบรมรูปรัชกาลที่ 7 และการฟ้องคดีพระมหากษัตริย์[1]: 193 

ในปี 2483 นโยบายเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนฝรั่งเศสมีการเดินขบวนสนับสนุรัฐบาลทั่วประเทศ หลวงพิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและได้รับยศจอมพล หลังจากกรณีพิพาทอินโดจีนช่วงสั้น ๆ ไทยได้เข้าสู่เขตอิทธิพลของญี่ปุ่นในปี 2484

สงครามโลกครั้งที่สอง แก้

 
แผนที่แนวรบพม่า แสดงถึงความขัดแย้งระหว่าง จักรวรรดิญี่ปุ่น-ไทย และ สัมพันธมิตร

พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสส่วนใหญ่ถูกนาซีเยอรมนียึดครอง และพลตรี หลวงพิบูลสงครามออกตัวแก้แค้นที่ฝรั่งเศสทำให้สยามอัปยศเมื่อ พ.ศ. 2436 และ 2447 เมื่อฝรั่งเศสวาดพรมแดนของสยามกับลาวและกัมพูชาใหม่โดยการบังคับสนธิสัญญาหลายฉบับ เพื่อจุดประสงค์นั้น รัฐบาลไทยต้องการความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นต่อฝรั่งเศส ซึ่งมีหลักประกันโดยสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน ซึ่งบรรลุในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483 นอกจากนี้ ปีนั้นยังมีการบรรลุสนธิสัญญาไม่รุกรานกันอังกฤษ-ไทยระหว่างรัฐบาลบริเตนใหญ่กับราชอาณาจักรไทย วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 รัฐบาลอังกฤษตอบรับข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นให้ปิดถนนพม่าเป็นเวลาสามเดือนเพื่อป้องกันการส่งกำลังบำรุงยามสงครามสู่จีน เมื่อรัฐบาลไทยขณะนี้สนับสนุนญี่ปุ่น รัฐบาลอังกฤษจึงบรรลุสนธิสัญญากับรัฐบาลไทยเพื่อมิให้เป็นศัตรูกับญี่ปุ่น

หลวงวิจิตรวาทการเขียนละครที่ได้รับความนิยมหลายเรื่องซึ่งเชิดชูความคิดที่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากเป็นของจักรวรรดิ "ไทย" และประณามความชั่วร้ายของการปกครองอาณานิคมยุโรป การเดินขบวนที่มีอุดมการณ์เรียกร้องดินแดนของชนชาติเดียวกันและต่อต้านฝรั่งเศสเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องรอบกรุงเทพมหานคร และปลาย พ.ศ. 2483 เกิดเหตุปะทะพรมแดนตามแม่น้ำโขง วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2484 ประเทศไทยโจมตีเวียดนามตอนใต้ ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีเหตุผลที่จะเข้ามายังไซ่ง่อน ปีเดียวกันนั้น เหตุปะทะได้บานปลายเป็นสงครามขนาดย่อมระหว่างวิชีฝรั่งเศสกับประเทศไทย กำลังไทยครองสงครามทั้งทางบกและทางอากาศ แต่ประสบความพ่ายแพ้ทางเรือที่ยุทธนาวีเกาะช้าง จากนั้น ญี่ปุ่นได้ก้าวเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ข้อตกลงสุดท้ายให้พื้นที่พิพาทในลาวและกัมพูชาแก่ไทย

เกียรติภูมิของหลวงพิบูลสงครามเพิ่มขึ้นมากจนได้รับความสุขจากการเป็นผู้นำที่แท้จริงของชาติ ราวกับจะเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ เขาเลื่อนยศตนเองขึ้นเป็นจอมพล ข้ามยศพลโทและพลเอก อย่างไรก็ดี การรุกรานดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์กับอังกฤษและสหรัฐเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 สหรัฐตัดการส่งปิโตรเลียมมายังประเทศไทย การรณรงค์ขยายดินแดนของไทยยุติลงในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เมื่อญี่ปุ่นรุกรานประเทศตามชายฝั่งทางใต้และจากกัมพูชา หลังจากการต่อต้านในช่วงแรก รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้ยอมให้ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านประเทศเพื่อโจมตีพม่าและรุกรานมาลายา จากเหตุการณ์ความพ่ายแพ้ของฝ่ายสัมพันธมิตรต้น พ.ศ. 2485 ทำให้เขาเชื่อว่าญี่ปุ่นจะชนะสงคราม จึงตัดสินใจสถาปนาพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น

เพื่อเป็นรางวัล ญี่ปุ่นยอมให้ไทยรุกรานและผนวกรัฐฉานและรัฐคะยาทางเหนือของพม่า และฟื้นฟูอธิปไตยเหนือรัฐสุลต่านทางเหนือของมาลายาซึ่งเคยเสียไปในสนธิสัญญาอังกฤษ–สยาม ค.ศ. 1909 เดือนมกราคม พ.ศ. 2485 หลวงพิบูลสงครามประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐ แต่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ปฏิเสธจะส่งให้แก่กระทรวงการต่างประเทศ และประณามรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามว่ามิชอบด้วยกฎหมายและก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นในกรุงวอชิงตัน ปรีดี ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ไม่มีอำนาจอย่างชัดเจน นำขบวนการขัดขืนในประเทศไทย ขณะที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อดีตพระราชินี เป็นผู้นำขบวนการในนามในบริเตนใหญ่

มีการตั้งค่ายฝึกลับ ๆ ขึ้น ส่วนใหญ่โดยเตียง ศิริขันธ์ นักการเมืองและผู้นำเสรีไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีสนามบินลับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกองทัพอากาศอังกฤษและสหรัฐนำเสบียงมาส่ง ตลอดจนฝ่ายบริหารปฏิบัติการพิเศษ (Special Operations Executive) สำนักงานบริการด้านยุทธศาสตร์ (OSS) และเจ้าหน้าที่เสรีไทย พร้อมกับอพยพเชลยศึกออกนอกประเทศด้วย จนถึงต้น พ.ศ. 2488 นายทหารกองทัพอากาศไทยกำลังปฏิบัติหน้าที่ติดต่อประสานงานกับกองบัญชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในกัณฏีและโกลกาตา

เมื่อถึง พ.ศ. 2487 เริ่มปรากฏชัดแล้วว่าญี่ปุ่นกำลังแพ้สงคราม และพฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยเริ่มยโสมากขึ้น กรุงเทพมหานครยังเสียหายหนักจากการทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งเหตุดังกล่าว ประกอบกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการสูญเสียตลาดส่งออกข้าวของประเทศ ทำให้ทั้งสงครามและรัฐบาลจอมพลแปลกไม่ได้รับความนิยม ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 จอมพลแปลกถูกขับไล่โดยรัฐบาลที่ขบวนการเสรีไทยแทรกซึม รัฐสภาประชุมใหม่และแต่งตั้งทนายความเสรีนิยม ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่เร่งอพยพดินแดนของอังกฤษที่จอมพลแปลกเคยยึดรองและให้การสนับสนุนขบวนการเสรีไทยอย่างลับ ๆ ขณะที่แสร้งรักษาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับญี่ปุ่นไปพร้อมกัน

ญี่ปุ่นยอมจำนนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ทันใดนั้น ความรับผิดชอบทางทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อประเทศไทยตกแก่อังกฤษ ทันทีที่ทำได้ ทหารอังกฤษถูกส่งเข้ามาทางอากาศซึ่งรับรองการปล่อยตัวเชลยศึกที่ยังเหลืออยู่อย่างรวดเร็ว อังกฤษประหลาดใจมากที่พบว่าไทยปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นไปส่วนใหญ่แล้ว

อังกฤษถือว่าประเทศไทยมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหายอันมิอาจวัดได้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรและเห็นสนับสนุนให้ปฏิบัติต่อประเทศไทยในฐานะข้าศึกที่ปราชัย ทว่า สหรัฐไม่เห็นใจสิ่งที่ถือว่าเป็นลัทธิอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศส และสนับสนุนรัฐบาลใหม่ ฉะนั้น ประเทศไทยจึงได้รับการลงโทษน้อยมากสำหรับบทบาทยามสงครามภายใต้จอมพลแปลก

ประเทศไทยหลังสงคราม แก้

การเจรจาหลังสงคราม แก้

หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2488 และพลันฟื้นฟูชื่อ "สยาม" เป็นสัญลักษณ์แห่งการยุติระบอบชาตินิยมของจอมพลแปลก ทว่า เขาพบว่าตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐมนตรีที่มีแต่ผู้ภักดีต่อปรีดีนั้นค่อนข้างไม่สุขสบาย นักการเมืองประชานิยมภาคอีสานอย่างเตียง ศิริขันธ์และผู้เลื่อนฐานะทางสังคมอย่างรวดเร็ว (upstart) ชาวกรุงเทพมหานคร เช่น สงวน ตุลารักษ์ ไม่ใช่คนแบบที่อภิชนหม่อมราชวงศ์เสนีย์ชอบร่วมงานด้วย พวกเขาจึงมองว่าหม่อมราชวงศ์เสนีย์เป็นอภิชนที่ไม่เคยสัมผัสความเป็นจริงทางการเมืองของประเทศไทยเลย

หลังสงครามบรรดาผู้นำพลเรือนขาดความสามัคคีซึ่งทำลายโอกาสต่อสู้กับผู้นำทหาร เนื่องจากความพยายามของสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรของขบวนการเสรีไทย สหรัฐจึงละเว้นปฏิบัติประเทศไทยเสมือนประเทศศัตรูในการเจรจาสันติภาพ แต่บริเตนต้องการให้ไทยจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นข้าว ฝรั่งเศสไม่ยอมรับไทยเข้าสู่สหประชาชาติจนกว่าส่งมอบดินแดนของอินโดจีนคืน และสหภาพโซเวียตให้เลิกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์[2]: 31  นอกจากนี้ อังกฤษยังต้องการกำหนดเงื่อนไขเพื่อบั่นทอนเอกราชของไทย และมองว่าจังหวัดภาคใต้ของไทยควรรวมเข้ากับมาลายา[3]: 192–3  แต่ถูกขัดขวางจากสหรัฐที่ต้องการรัฐเอกราชภายใต้รัฐบาลที่มีอิสระ[3]: 192  ประเทศไทยลงนามความตกลงสมบูรณ์แบบ รัฐบาลจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นข้าวได้ภายใน 2 ปี[2]: 31  ประเทศไทยลงนามข้อตกลงวอชิงตัน พ.ศ. 2489 มีการคืนดินแดนที่ถูกผนวกหลังกรณีพิพาทอินโดจีน ได้แก่ จังหวัดพิบูลสงคราม, จังหวัดนครจัมปาศักดิ์, จังหวัดพระตะบอง, จังหวัดเกาะกงและจังหวัดลานช้าง ให้แก่ประเทศกัมพูชาและลาว

มีการจัดการเลือกตั้งประชาธิปไตยในเดือนมกราคม 2489 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่พรรคการเมืองชอบด้วยกฎหมาย และคณะราษฎรของปรีดีและพันธมิตรชนะฝ่ายข้างมาก ในเดือนมีนาคม 2489 ปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคนแรก ในช่วงเวลานั้น มีกลุ่มการเมืองสามกลุ่มแย่งชิงอำนาจกัน ฝ่ายแรกคือ ปรีดีซึ่งมีฐานอำนาจจากตำรวจ สารวัตรทหารและเสรีไทยซึ่งมีอาวุธทันสมัยของฝ่ายสัมพันธมิตร, กลุ่มทหารซึ่งมีจอมพล ป. เป็นหัวหน้า, และกลุ่มอนุรักษนิยม-นิยมเจ้า[3]: 192  ฝ่ายนิยมเจ้ารู้สึกไม่พอใจเพราะการเข้าควบคุมสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเงินมหาศาล[3]: 194 

การผลัดแผ่นดิน แก้

ในเดือนธันวาคม 2488 ยุวกษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จนิวัตประเทศจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ แต่ในเดือนมิถุนายน 2489 พระองค์ทรงถูกพบว่าสวรรคตบนแท่นบรรทมในสภาวะน่าสงสัย คดีนี้ยังเป็นความลับและหัวข้อละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในประเทศไทยปัจจุบัน[a] พระอนุชา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช สืบราชสมบัติต่อ ในเดือนสิงหาคม ปรีดีถูกบีบให้ลาออกท่ามกลางข้อสงสัยว่าเขาเกี่ยวข้องกับการลอบปลงพระชนม์ รัฐบาลพลเรือนกระเสือกกระสนหลังปรีดีพ้นตำแหน่ง และในเดือนพฤศจิกายน 2490 เกิดรัฐประหารโดยกลุ่มนายทหารที่เสียอำนาจให้แก่กลุ่มปรีดี และกลุ่มนิยมเจ้าซึ่งต้องการฟื้นฟูพระราชอำนาจ[4]: 62–3 

กลุ่มจอมพล ป. และกลุ่มนิยมเจ้ายังมีความสัมพันธ์ที่คลอนแคลน เนื่องจากกลุ่มนิยมเจ้าต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถวายพระราชอำนาจคืน ซึ่งขัดต่อความต้องการของจอมพล ป. ส่วนกลุ่มปรีดีเองก็ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลใหม่ในทางต่าง ๆ รวมทั้งการปลุกเร้าให้ภาคอีสานแยกเป็นอิสระ[4]: 67  ต่อมาปรีดีพยายามตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นและเตรียมการเพื่อแย่งชิงอำนาจคืน แต่สหรัฐและสหราชอาณาจักรขัดขวาง[4]: 68–9  ควง อภัยวงศ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว จนการเลือกตั้งปี 2491 ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และเขาเข้าสู่อำนาจจนได้รับการรับรองจากชาติตะวันตก ในขณะเดียวกัน กลุ่มจอมพล ป. และสมาชิกคณะราษฎรสายปรีดีเดิมมีการพบปะกันหลายครั้ง[4]: 75–6  ในเดือนเมษายน 2491 คณะรัฐประหารยื่นคำขาดจนสามารถเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากควง อภัยวงศ์เป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม

รัฐบาลจอมพล ป. รอบสอง แก้

ผู้นำสามเส้าในช่วงปี 2490–2500

การหวนคืนอำนาจของจอมพล ป. ประจวบกับการเริ่มต้นของสงครามเย็นและการสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศเวียดนามเหนือ เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ เป็นจุดเริ่มต้นของธรรมเนียมระบอบทหารในประเทศไทยที่สหรัฐสนับสนุนมายาวนาน นโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีทรูแมนในขณะนั้นเองก็ต้องการเข้ามามีอิทธิพลในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายวิธี คือ ให้ไทยผูกเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐแทนเงินปอนด์ ให้ไทยเป็นตลาดระบายสินค้าออกและให้ไทยต้องพึ่งพาการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐ[4]: 87–8  นโยบายของสหรัฐในช่วงเวลานี้ทำให้กลุ่มการเมืองที่ตอบสนองต่อสหรัฐเท่านั้นที่จะคงอำนาจทางการเมืองต่อไปได้[4]: 88 

คู่แข่งการเมืองถูกจับกุมและพิจารณาคดีอีกครั้ง มีบางคนถูกประหารชีวิต เสรีไทยสายปรีดี พนมยงค์หลายคน รวมทั้ง ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง และทองเปลว ชลภูมิ ถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม (คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. 2492) ดำเนินการโดยพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ มีความพยายามรัฐประหารซ้อนจากผู้สนับสนุนปรีดีในปี 2491, 2492 และ 2494 รัฐประหารในปี 2492 นำไปสู่การต่อสู้อย่างหนักระหว่างกองทัพบกและกองทัพเรือก่อนจอมพล ป. เป็นฝ่ายชนะ ในความพยายามรัฐประหารปี 2494 ที่มีชื่อเสียงว่า "กบฏแมนฮัตตัน" จอมพล ป. เกือบถูกฆ่าเมื่อเรือที่เขาถูกจับเป็นตัวประกันถูกกองทัพอากาศฝ่ายนิยมรัฐบาลทิ้งระเบิดใส่

ในปี 2492 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สถาปนาวุฒิสภาซึ่งรัฐบาลแต่งตั้ง แต่ในปี 2494 รัฐบาลเลิกรัฐธรรมนูญของตนเองแล้วกลับไปใช้แบบปี 2475 รัฐสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอีกต่อไป ทำให้เกิดการคัดค้านอย่างหนักจากมหาวิทยาลัยและสื่อ และมีการพิจารณาคดีและปราบปรามรอบใหม่ ทว่า รัฐบาลได้รับการช่วยเหลือจากเศรษฐกิจบูมซึ่งเกิดขึ้นตลอดคริสต์ทศวรรษ 1950 อันเนื่องจากการส่งออกข้าวและเงินช่วยเหลือจากสหรัฐ เศรษฐกิจไทยเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ประชากรและการกลายเป็นเมืองเพิ่มขึ้น

ในช่วงนั้นการเมืองไทยอยู่ในลักษณะ "การเมืองสามเส้า" ระหว่างจอมพล ป. ซึ่งไม่มีฐานอำนาจของตนเอง กับกลุ่มกองทัพของสฤษดิ์ และกลุ่มตำรวจของพลตำรวจเอกเผ่า ต่อมากลุ่มกษัตริย์นิยมที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถให้การสนับสนุนกลุ่มสฤษดิ์ จอมพล ป. พยายามนำตัวปรีดีกลับประเทศเพื่อสนับสนุนตน จนเป็นชนวนเหตุให้เกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500

ยุคสฤษดิ์และยุคถนอม-ประภาส แก้

เผด็จการสฤษดิ์และการฟื้นฟูพระราชอำนาจ แก้

ในปี 2498 จอมพล ป. เสียตำแหน่งนำในกองทัพแก่คู่แข่งที่มีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลเอก ถนอม กิตติขจรเป็นผู้นำ เพื่อยันฐานะของเขา จอมพล ป. ฟื้นฟูรัฐธรรมนูญปี 2492 และจัดการเลือกตั้ง ซึ่งผู้สนับสนุนของเขาชนะ แต่กองทัพยังไม่พร้อมสละอำนาจ และในเดือนกันยายน 2500 เรียกร้องให้จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อจอมพล ป. พยายามสั่งจับกุมจอมพลสฤษดิ์ กองทัพจึงรัฐประหารโดยไม่เสียเลือดเนื้อเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2500 ยุติบทบาททางการเมืองของจอมพล ป.

จอมพลสฤษดิ์เริ่มการฟื้นฟูพระราชอำนาจ กองทัพและพระมหากษัตริย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด พระมหากษัตริย์กลับมามีพระราชอำนาจดังก่อนการปฏิวัติสยามปี 2475 จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปี 2501 แล้วคืนตำแหน่งให้กับจอมพลสฤษดิ์ เขาเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 เขาดำเนินนโยบายสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปาและถนน และดำเนินโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค โดยสหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ เริ่มต้นการทำให้ทันสมัย การกลายเป็นตะวันตก และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รัฐบาลสฤษดิ์และถนอมได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสหรัฐ ประเทศไทยเป็นพันธมิตรของสหรัฐในปี 2497 ด้วยการสถาปนาองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) หลังสหรัฐเข้าร่วมสงครามเวียดนามต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยถือฝ่ายสหรัฐเต็มที่ โดยลงนามความตกลงลับส่งทหารไปเวียดนามและลาว และอนุญาตให้สหรัฐใช้ฐานทัพอากาศในประเทศเพื่อดำเนินการทัพทิ้งระเบิดต่อประเทศเวียดนามเหนือ

สงครามเวียดนามกับการพัฒนา แก้

สงครามเวียดนามเร่งกระบวนการทำให้สังคมไทยทันสมัยและกลายเป็นตะวันตก การมีทหารอเมริกันและการเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกมีผลกระทบต่อแทบทุกส่วนของชีวิตคนไทย โดยก่อนปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 การเข้าถึงวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเต็มที่นั้นจำกัดอยู่เฉพาะอภิชนที่มีการศึกษาสูง เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคบริการ การขนส่งและอุตสาหกรรมก่อสร้างเติบโตขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับยาเสพติดและการค้าประเวณี หน่วยครอบครัวชนบทแบบเดิมเสื่อมลงเมื่อคนไทยชนบทย้ายเข้าเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้เกิดการปะทะกันทางวัฒนธรรมเมื่อคนไทยเปิดรับความคิดเกี่ยวกับแฟชัน ดนตรี ค่านิยมและมาตรฐานศีลธรรมแบบตะวันตก

ประชากรเริ่มเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกับมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น ประเทศไทยมีประชากร 30 ล้านคนในปี 2508 แต่เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณปี 2543) ประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นสองเท่า ประชากรของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นสิบเท่าตั้งแต่ปี 2488

โอกาสการศึกษาและการเปิดรับสื่อมวลชนเพิ่มขึ้นระหว่างยุคสงครามเวียดนาม นักศึกษามหาวิทยาลัยเรียนรู้เกี่ยวกับความคิดระบบเศรษฐกิจและการเมืองของไทยเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการรื้อฟื้นการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ยุคสงครามเวียดนามยังมีการเติบโตของชนชั้นกลางซึ่งค่อย ๆ พัฒนาอัตลักษณ์และสำนึกของตนเอง

การพัฒนาเศรษฐกิจยังนำมาซึ่งความไม่เสมอภาค ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1960 คนยากจนในชนบทเริ่มรู้สึกไม่พอใจกับสภาพของตนในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ และเห็นการถูกปฏิบัติโดยรัฐบาลกลางในกรุงเทพมหานคร ความพยายามของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่ชนบทที่ยากจนไม่มีผลที่ต้องการโดยส่งเสริมให้เกิดความสำนึกของเกษตรกรว่าได้รับการปฏิบัติเลวร้ายเพียงใด การเพิ่มการปรากฏของรัฐบาลในหมู่บ้านชนบทแทบไม่ค่อยพัฒนาสถานการณ์ หมู่บ้านถูกทหารและตำรวจก่อกวนเพิ่มขึ้น และมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการ เมื่อถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ความไม่พอใจในชนบทสำแดงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกร

สิ่งแวดล้อมทางการเมืองของไทยแตกต่างจากยุคสฤษดิ์ไม่มากนัก จอมพอลถนอมและจอมพลประภาสยังรวบอำนาจไว้อย่างแน่นหนา พันธมิตรระหว่างทั้งสองยิ่งมั่นคงขึ้นจากการสมรสธิดาของประภาสกับบุตรของถนอม เมื่อถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 หลายภาคส่วนในสังคมไทยเริ่มวิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างเปิดเผยซึ่งถูกมองว่าไม่สามารถจัดการกับปัญหาของประเทศได้มากขึ้นทุกที ไม่เพียงแต่นักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษาเท่านั้น แต่ชุมชนธุรกิจยังเริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นผู้นำของรัฐบาลและความสัมพันธ์ของรัฐบาลกับสหรัฐ

จอมพลถนอมถูกบีบให้ผ่อนคลายการรวบอำนาจเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีความเห็นว่าถึงเวลาฟื้นฟูรัฐสภาและให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หลังจอมพลสฤษดิ์เลิกรัฐธรรมนูญในปี 2501 มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เวลาผ่านไปเกือบสิบปีแล้วยังไม่แล้วเสร็จ สุดท้ายในปี 2511 รัฐบาลออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจัดการเลือกตั้งในปีถัดมา พรรครัฐบาลที่คณะทหารผู้ยึดอำนาจปกครองก่อตั้งชนะการเลือกตั้งและถนอมได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

อย่างไรก็ดี สมาชิกสภาจำนวนหนึ่งเริ่มท้าทายนโยบายของรัฐบาลอย่างเปิดเผย โดยเปิดโปงหลักฐานการฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลอย่างกว้างขวางในโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ระหว่างที่มีการอภิปรายงบประมาณใหม่ในปี 2514 เมื่อดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องงบประมาณเพิ่มของกองทัพจะถูกตีตก ถนอมจึงรัฐประหารตนเอง ระงับรัฐธรรมนูญ และยุบสภา ทำให้ประเทศไทยหวนกลับสู่การปกครองระบอบทหารอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง แนวทางดังกล่าวซึ่งเคยใช้ได้ผลในสมัยจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์กลับไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 ประเทศไทยมีสำนึกทางการเมืองซึ่งไม่ยอมรับการปกครองอำนาจนิยมอย่างไม่ชอบธรรม

คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองยังเผชิญการคัดค้านจากในกองทัพเองเพิ่มขึ้น ถนอมและประภาสมีการควบคุมกองทัพโดยตรงได้น้อยลงเนื่องจากใช้เวลาไปกับบทบาททางการเมือง นายทหารหลายคนรู้สึกโกรธกับการเลื่อนยศของณรงค์ บุตรจอมพลถนอม อย่างรวดเร็ว และข้อเท็จจริงที่ว่าเขาดูได้รับลิขิตให้เป็นทายาทของถนอม จนดูเหมือนกับว่ากำลังจะมีการสร้างตระกูลการเมือง

กบฏชาวนา แก้

ขบวนการชาวนาเริ่มต้นในภูมิภาคทางเหนือของที่ราบลุ่มภาคกลางและพื้นที่เชียงใหม่ (ซึ่งไม่ใช่ที่ที่การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์สูงสุด) เมื่อภูมิภาคเหล่านี้มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อภิชนท้องถิ่นเก่าได้รับอนุญาตให้ถือครอบที่ดินผืนใหญ่ ผลสุดท้ายทำให้ในคริสต์ทศวรรษ 1960 ครัวเรือนเกือบ 30% ไม่มีที่ดินทำกิน

ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 นักศึกษาช่วยนำการประท้วงท้องถิ่นบางส่วนเข้าสู่เวทีระดับชาติ การประท้วงมุ่งเน้นการเสียที่ดิน ค่าเช่าที่สูง บทบาทไม่ยั้งมือของตำรวจ การฉ้อราษฎร์บังหลวงในหมู่ข้าราชการประจำและอภิชนท้องถิ่น โครงสร้างพื้นฐานที่เลว และความยากจนที่แร้นแค้น รัฐบาลตกลงตั้งคณะกรรมการเพื่อรับฟังคำร้องทุกข์ของชาวนา ในเวลาไม่นานคณะกรรมการนั้นได้รับคำร้องเรียนถึง 50,000 คำร้อง ซึ่งไม่สามารถจัดการได้ไหว ข้าราชการเรียกข้อเรียกร้องของชาวนาจำนวนมากว่าไม่อยู่บนความเป็นจริงและไกลเกินเอื้อม

ขบวนการประชาธิปไตย พ.ศ. 2516 แก้

การเดินขบวนของนักศึกษาเริ่มขึ้นในปี 2511 และมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1970 (2514–2523) แม้มีการสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคม 2516 นักศึกษา 13 คนถูกจับฐานสมคบคิดโค่นล้มรัฐบาล นักศึกษา คนงาน นักธุรกิจและพลเมืองธรรมดาเข้าร่วมประท้วงด้วย การเดินขบวนเติบโตขึ้นจนมีผู้เข้าร่วมหลายแสนคนและประเด็นการประท้วงขยายจากการเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาเป็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ด้วย

รัฐบาลสั่งปล่อยตัวนักศึกษาในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 เมื่อฝูงชนเริ่มสลายตัวในวันรุ่งขึ้น นักศึกษาจำนวนมากออกจากพื้นที่ไม่ได้เพราะตำรวจพยายามควบคุมการไหลบ่าของฝูงชนโดยสกัดเส้นทางฝั่งทิศใต้ไปยังถนนราชวิถี เมื่อตำรวจจนมุมและมีจำนวนน้อยกว่าฝูงชนมาก จึงยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนใส่ผู้ชุมนุม มีการระดมกองทัพเข้ามา และรถถังวิ่งมาตามถนนราชดำเนิน และมีการยิงปืนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษากลุ่มหนึ่งขับรถโดยสารประจำทางและรถดับเพลิงเพื่อพยายามหยุดการเข้ามาของรถถังโดยขับรถพุ่งชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประณามรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดการการเดินขบวนและมีรับสั่งให้จอมพลถนอม ประภาสและณรงค์ออกจากประเทศ วันเดียวกัน จอมพลถนอม กิตติขจรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีประกาศทางโทรทัศน์ประกาศว่า สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์กฎหมายที่ได้รับความนับถือ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ลำดับเหตุการณ์กราฟิก แก้

 
 
 
 
1
2
3
4
3
5
 
 
2475
2480
2485
2490
2495
2500
2505
2510
2515

ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2475–2516
แถวแรก:   = รัฐประหาร (คลิกเพื่อดูบทความ); แถวสอง: รายชื่อนายกรัฐมนตรี; แถวสาม: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่)

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. แม้ว่าศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิตข้าราชบริพารสามคน เฉลียว ปทุมรส, ชิต สิงหเสนี และบุศย์ ปัทมศริน แต่สาธารณชนส่วนหนึ่งยังคงตั้ข้อสงสัยว่าอาจเป็นแพะรับบาป

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 1.22 เกษตรศิริ, ชาญวิทย์ (2551). ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475–2500. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 978-974-372-972-0.
  2. 2.0 2.1 Barbara Leitch LePoer (1989). Thailand: A Country Study. Federal Research Devision, Library of Congress. ISBN 978-0739715666.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Apbomsuvan, Thanet (1987). "THE UNITED STATES AND THE COMING OF THE COUP OF 1947 IN SIAM" (PDF). Journal of The Siam Society (75). สืบค้นเมื่อ 8 February 2021.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 ใจจริง, ณัฐพล. การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) (PDF) (ร.ด.). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 2021-04-14.[ลิงก์เสีย]