รัฐประหารในประเทศไทย

รัฐประหารในประเทศไทย เป็นการถอดถอนรัฐบาลด้วยวิถีทางนอกกฎหมาย ซึ่งมักเป็นการใช้กำลังทหารเพื่อโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง หรือแม้แต่รัฐบาลชุดที่หัวหน้าคณะรัฐประหารเองเป็นผู้นำก็มี

ทหารกับรถถังควบคุมสถานการณ์ภายในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 19 กันยายน 2549

ลักษณะ แก้

 
การดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์และความแตกแยกในหมู่ประชาชนเป็นสองสาเหตุที่คณะรัฐประหารมักยกขึ้นอ้างเพื่อลงมือก่อการ

ประเทศไทยขาดเสถียรภาพทางการเมืองสูงและมีรัฐประหารหลายครั้ง ประเทศไทยมีรัฐประหารมากที่สุดในโลกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย[1] ในปี 2559 "ประเทศไทยมีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศไทยเป็นเวลา 57 จาก 85 ปีนับแต่ล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475"[2] รัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ส่วนใหญ่เกิดจากกองทัพบก[3] ส่วนทหารเรือเคยพยายามก่อรัฐประหารมาแล้วครั้งหนึ่งในกบฏวังหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2492 และกบฏแมนฮัตตัน เมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่กระทำการไม่สำเร็จ ทำให้ทหารเรือเสียอำนาจในการเมืองไทยไป[4][5]

สาเหตุที่ผู้ก่อการอ้างมักเป็นเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง การดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และความแตกแยกในหมู่ประชาชน[6] อย่างไรก็ตาม นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่า รัฐประหารในประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นจากการตัดสินใจโดยลำพังของกองทัพ แต่ต้องอาศัยความเห็นชอบจากชนชั้นนำกลุ่มอื่น และมองว่ารัฐประหารในประเทศไทยจะยังมีอยู่ตราบเท่าที่การเมืองไทยยังเป็นเพียงเรื่องการจัดสรรอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ[7]

ในกรณีประเทศไทย เมื่อคณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจได้สำเร็จคณะรัฐประหารในไทยมักจะใช้วิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและเสนอให้พระมหากษัตริย์ลงนามประกาศใช้ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (Countersign the Royal Command) มีการออกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวรับรองสถานะของประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ อาจมีการรับรองความสมบูรณ์สถานะทางกฎหมายของคำสั่งหรือประกาศ และรวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอีกด้วย[8]

รายชื่อรัฐประหารในประเทศไทย แก้

 
รถถังจอดใกล้กับพระบรมมหาราชวัง เมื่อปี 2490
  1. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
  2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอก​ พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
  3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย​ จอมพล​ ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พลเรือตรี​ ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
  4. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ พันตรี​ ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  6. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพล​ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
  7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพล​ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล​ ถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
  8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพล​ ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พลเรือเอก​ สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล หม่อมราชวงศ์​เสนีย์​ ปราโมช
  10. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พลเรือเอก​ สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
  11. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พลเอก​ สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พลเอก​ ชาติชาย ชุณหะวัณ
  12. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พลเอก​ สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พัน​ตำรวจ​โท ดอกเตอร์ ​ ทักษิณ ชินวัตร
  13. รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พลเอก​ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ​ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลัง​ นางสาว​ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร​ ถูก​ศาล​รัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)

ทั้งนี้ บางตำราระบุว่า การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย และมิได้แยกเหตุการณ์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นรัฐประหารอีกครั้ง[9]

ประเด็น แก้

การเลือกใช้คำ "รัฐประหาร" กับ "ปฏิวัติ" แก้

การปฏิวัติ หมายถึง การเปลี่ยนรูปแบบหรือระบอบการปกครองประเทศไทย จากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งอย่างสิ้นเชิง หรือมีการเปลี่ยนแปลงประมุขของรัฐเพื่อเปลี่ยน รูปแบบประมุขของรัฐ ดังนั้น การปฏิวัติต้องเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจหรือการเมืองใหม่ทั้งหมด ซึ่งในประวัติศาสตร์สยามและไทยยังเคยเกิดขึ้นครั้งเดียว คือ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[10]

รัฐประหาร หมายถึง การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารประเทศโดยฉับพลันเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล โดยการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลเดิมแต่ไม่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือประมุขของประเทศ

การรับรองคณะรัฐประหารของพระมหากษัตริย์ แก้

ในปี 2563 รองศาสตราจารย์ หริรักษ์ สูตะบุตร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ้างว่า พระมหากษัตริย์จะปฏิเสธไม่รับรองคณะรัฐประหารและบรรดาคำสั่งต่าง ๆ ไม่ได้ เพราะจะเป็นการถือฝ่ายทางการเมือง[11] และ อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการประวัติศาสตร์ อ้างว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้แล้ว คณะรัฐประหารจะถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าพระมหากษัตริย์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่ไม่อาจปฏิเสธการรับรองคณะรัฐประหารหรือคำสั่งต่าง ๆ ได้[12]

อย่างไรก็ตาม ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่าพระมหากษัตริย์เคยปฏิเสธการรับรองรัฐประหารมาแล้ว ได้แก่ กบฏยังเติร์กปี 2524 แม้ว่าจะมีประชาชนส่วนหนึ่งสนับสนุนด้วยซ้ำ ทำให้การก่อการครั้งนั้นล้มเหลว[13] ด้านพันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร หัวหน้าคณะจะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้าคณะ (ในส่วนนี้มีข้อสังเกตว่า ยังไม่มีการอ้างอิงทางวิชาการ) จะเห็นว่าเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างกองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ปี 2490 คณะใดที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้า คณะนั้นก็จะเป็นกบฏ[14]

แนวทางแก้ไข แก้

ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์และนักการเมือง เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต โดยมีแนวทาง เช่น การปฏิรูปกองทัพ การเปิดกลไกเพื่อเอาผิดกับคณะรัฐประหารในอนาคต ตลอดจนการห้ามองค์การตุลาการรับรองอำนาจคณะรัฐประหาร[15] ส่วนเมื่อปี 2563 ในการชุมนุม "#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มีการเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์โดยมีข้อเรียกร้องหนึ่งว่าห้ามพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรองรัฐประหารอีก[16]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Fisher, Max (December 3, 2013). "Thailand has had more coups than any other country. This is why". Washington Post. สืบค้นเมื่อ August 28, 2018.
  2. Gray, Denis D. (2015-08-2015). "Deadly bombing in military-ruled Thailand adds to mounting woes in one-time 'Land of Smiles'". U.S. News & World Report. Associated Press. สืบค้นเมื่อ 23 August 2015. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  3. ย้อนรอยรัฐประหาร 13 ครั้ง นานแค่ไหนกว่าจะเลือกตั้ง คสช.ท้าชิงสฤษดิ์-ถนอม
  4. ทหารเรือเคยพยายามก่อรัฐประหารมาแล้ว[ลิงก์เสีย]
  5. กบฎแมนฮัตตัน ทหารเรือก็เสียอำนาจในการเมืองไทยไป[ลิงก์เสีย]
  6. "พลิกข้ออ้าง รัฐประหาร 13 ครั้ง เปลี่ยนรูปรัฐ ทุจริต-จาบจ้วงสถาบัน". ประชาชาติธุรกิจ. 25 November 2020. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
  7. เอียวศรีวงศ์, นิธิ (29 October 2018). "รัฐประหารไม่ได้อยู่ที่กองทัพ : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
  8. “ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561. หน้า 247
  9. ย้อนรอยรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทย
  10. ศรีเกตุ, ทวียศ. "จากปฏิวัติสู่การเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย". สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
  11. "ต้องอ่าน!รศ.หริรักษ์อรรถาธิบายทำไมพระกษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองการทำรัฐประหาร". Thai Post. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
  12. "นักประวัติศาสตร์'อัษฎางค์'พลิกตำรา!ตอนที่1'ทำไม ร.9 ลงนามให้กับการรัฐประหาร'". แนวหน้า. 15 June 2021. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
  13. "15 ปีรัฐประหาร 49 (6) ธงชัย วินิจจะกูล: รัฐประหาร 2549 จุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์?". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
  14. "รายงานเสวนา: กองทัพ การเมือง ประชาธิปไตย". ประชาไท. 6 ก.พ. 2554. สืบค้นเมื่อ 9 ต.ค. 2557. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. "ปิยบุตร เสนอแนวทางปิดตายรัฐประหารในไทย ทุกคนฟ้องได้-คดีไม่มีหมดอายุความ". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
  16. "ประมวลชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 'เราไม่ต้องการปฏิรูปเราต้องการปฏิวัติ'". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้