วงศ์หอยขม

(เปลี่ยนทางจาก Viviparidae)
วงศ์หอยขม
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: แอฟเทียน-ปัจจุบัน[1]
ชนิด Viviparus contectus
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Gastropoda
วงศ์: Viviparidae
Gray, 1847[2]
วงศ์ย่อย:
ชนิด[3]
พบราว 125-150 ชนิด

หอยขม หรือภาษาในบางท้องถิ่นเรีอกว่า หอยจุ๊บ หรือหอยดูด เป็นที่รู้จักกันดีและมีขายในตลาดทั่วไป เป็นหอยฝาเดียวที่พบเฉพาะในแหล่งน้ำจืดเท่านั้น นิยมนำมาทำอาหาร เช่น แกงคั่วหอยขม แกงอ่อมหอยขม และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยส่วนมากจะพบจากแหล่งธรรมชาติ โดยชาวบ้านในท้องที่เก็บมาขาย หรือพบบริเวณบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นผลพลอยได้สำหรับเจ้าของบ่อเลี้ยงปลา แต่ในปัจจุบันมีการทำฟาร์มเพื่อการเพาะเลี้ยงหอยขมในกระชังโดยเฉพาะ หอยขมเป็นสัตว์ที่มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว และขยายพันธุ์เร็ว

ชีววิทยาของหอยขม แก้

หอยขม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Pond snail, Marsh snail, River snail มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Viviparidae ในประเทศไทยพบว่ามีความหลากหลายของหอยในวงศ์หอยขมมากพอสมควร เช่น ชนิด Filopaludina martensi

ลักษณะภายนอก แก้

หอยขมเป็นหอยในกลุ่มหอยฝาเดียว มีเปลือกเป็นรูปกรวยรูปไข่ ลักษณะเป็นเกลียวเวียนขวาเรียวขึ้นไปถึงยอดปลายแหลม หอยขมแต่ละชนิดจะมีความหนาของเปลือก ความสูง ความโค้งและร่องลึกที่ผิวเปลือกที่แตกต่างกันไป เกลียววงยอดสุดมีขนาดเล็กเรียกว่า apex เป็นวงที่เกิดก่อนวงอื่น ถัดลงมา 2 วง เรียกว่า spire วงล่างสุดเรียกว่า body whorl บริเวณนี้มีช่องเปิดขนาดใหญ่ให้ส่วนหัวและส่วนเท้ายื่นออกมาได้ เรียกว่า aperture ขอบในของช่องเปิดเรียกว่า inner lip ขอบนอกของช่องเปิดเรียกว่า outer lip แกนกลางของเปลือกเป็นท่อกลวงบิดโค้งเป็นเกลียวเรียกว่า columella มีช่องเปิด umbellicus ส่วนของฝาปิดเปลือกเป็นแผ่นบาง ๆ เรียกว่า operculum มีลายรูปวงรีอยู่ตรงกลางฝาปิดเป็นวงการแสดงการเจริญเติบโต สีของเปลือกขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เปลือกหอยขมแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้น Periostracum เป็นชั้นนอกสุดประกอบด้วยสารอินทรีย์พวกโปรตีน cochiolin ชั้น Prismatic อยู่ชั้นกลางของเปลือก มีความหนาและแข็ง ส่วนใหญ่ประกอบด้วยหินปูน และชั้นในสุดคือ Nacreous ประกอบด้วยสารอินทรีย์จำพวกโปรตีนลักษณะเป็นสีมุขมันวาว ซึ่งเป็นสารประกอบ calcite ในรูปผลึกหินปูน

ลักษณะภายใน แก้

มีการแบ่งลำตัวออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนก้อนอวัยวะภายในเรียกว่า visceral mass และส่วนของเท้า

ส่วนหัว มีหนวด 1 คู่ สามารถยืดหดได้ ติดกับโคนหวดหนวดมีตาสีดำ 1 คู่อยู่บนก้านตา ปากมีลักษณะคล้ายท่อกลวงหรืองวงอยู่ตรงกลางระหว่างหนวด เรียกว่า siphon

ส่วนก้อนอวัยวะ เป็นส่วนที่รวมอวัยวะไว้เป็นก้อน ขดเป็นเกลียวตามรูปของเปลือก อวัยวะภายในประกอบไปด้วยต่อมน้ำลาย หัวใจ เหงือก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ เป็นต้น

ส่วนเท้า กล้ามเนื้อเท้าจะยึดติดกับฝาปิดเปลือก กล้ามเนื้อเท้าเป็นแผ่นแบน ๆ กว้าง ๆ จะเคลื่อนที่ในลักษณะเป็นคลื่นแบบตัวหนอน การทำงานของกล้ามเนื้อเท้าจะทำงานไล่จากส่วนหน้าไปยังส่วนท้ายติดต่อกัน เวลาหอยขมเคลื่อนที่ไปจะยื่นส่วนหัว ส่วนเท้า และ siphon ออกมาจากเปลือก

การกินอาหาร แก้

หอยขมมีปาก ระบบทางเดินอาหารเริ่มจากปาก อาหารที่ลอยอยู่ในน้ำ เช่น แพลงก์ตอนเล็ก ๆ สามารถถูกดูดเข้าไปในช่องใต้ปากได้ นอกจากนี้ภายในปากก็จะมี redula ซึ่งมีลักษณะแข็งทำหน้าที่คล้ายเป็นฟันใช้ขูดแทะอาหารที่ติดอยู่กับวัสดุ เช่น ตะไคร่น้ำ ภายในช่องปากมีท่อเปิดจากต่อมน้ำลาย ต่อจากช่องปากคือหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ และทวาร ตามลำดับ อาหารของหอยขมได้แก่ ตะไคร่น้ำ พืชน้ำ แพลงก์ตอน และอินทรีย์สารที่เน่าเปื่อย

การหายใจ แก้

หอยขมหายใจด้วยเหงือก เหงือกจะอยู่ในช่อง mantle cavity โดยน้ำจะไหลผ่านช่องนี้ไปทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างน้ำกับเส้นเลือดบริเวณเหงือก

การสืบพันธุ์ แก้

หอยขมมีอวัยวะเพศทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน สามารถผสมตัวเองหรือผสมข้ามโดยการมาประกบกันได้ และการผสมพันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเองจะทำได้เมื่ออายุได้ 60 วัน หอยขมออกลูกเป็นตัวครั้งละ ประมาณ 40-50 ตัว ลูกหอยขมที่ออกมาใหม่ ๆ จะมีวุ้นหุ้มอยู่ แม่หอยขมจะใช้หนวดแทงวุ้นจนแตกเพื่อให้ลูกหอยหลุดออกจากวุ้น ลูกหอยขมสามารถเคลื่อนไหวได้ทันทีเมื่อออกจากตัวแม่ ระยะที่จะพบเห็นชุกชุมอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม มีอายุขัยตั้งแต่ 3-11 ปี[4]

แหล่งอาศัย แก้

หอยขมมักอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดธรรมชาติทั่วไป เช่น คู หนอง คลอง บึง และในนาข้าว ที่เป็นพื้นดินหรือโคลน ที่ระดับน้ำตั้งแต่ 10 ซม. ถึง 2 ม. โดยใช้เท้ายึดเกาะอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ เช่น เสา สะพาน ตอไม้ พันธุ์ไม้น้ำ หรือจมอยู่ในโคลน หอยขมมักอยู่ในน้ำที่ไม่ไหลแรงนักหรือเป็นน้ำนิ่งในที่ร่ม มีการแพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วไปในทุกจังหวัด และมีการแพร่กระจายทั่วไปในประเทศใกล้เคียง เช่น พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา รวมถึงในจีน และ ญี่ปุ่น และแอฟริกา

พยาธิจากหอยขม แก้

ในธรรมชาติหอยเป็นสัตว์ที่เป็นพาหะในการนำพยาธิมาสู่ผู้บริโถคในห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากวงจรชีวิตของพยาธิในระยะตัวอ่อนจะเข้ามาฝังตัวในหอย โดยเฉพาะในหอยน้ำจืด สำหรับในหอยขมมีชนิดพยาธิที่ตรวจพบดังต่อไปนี้

- Echinostoma malayanum

- Echinostoma revolutum

- Echinostoma malayanum

- Echinostoma ilocanum

- Angiostrongylus cantonensis[5]

อ้างอิง แก้

  1. Kear B. P., Hamilton-Bruce R. J., Smith B. J. & Gowlett-Holmes K. L. (2003). "Reassessment of Australia's oldest freshwater snail, Viviparus (?) albascopularis Etheridge, 1902 (Mollusca : Gastropoda : Viviparidae), from the Lower Cretaceous (Aptian, Wallumbilla Formation) of White Cliffs, New South Wales". Molluscan Research 23(2): 149-158. doi:10.1071/MR03003, PDF.
  2. Gray J. E. (November 1847) (1833). "A list of genera of Recent Mollusca, their synonyma and types". Proceedings of the Zoological Society in London, 15: 129-182. Viviparidae at page 155.
  3. Strong E. E., Gargominy O., Ponder W. F. & Bouchet P. (2008). "Global Diversity of Gastropods (Gastropoda; Mollusca) in Freshwater". Hydrobiologia 595: 149-166. http://hdl.handle.net/10088/7390 doi:10.1007/s10750-007-9012-6.
  4. Heller J. (1990) "Longevity in molluscs". Malacologia 31(2): 259-295.
  5. ศักดิ์ชัย ชูโชติ. 2533. การเลี้ยงหอยขม. โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์, กรุงเทพมหานคร

แหล่งข้อมูลอื่น แก้