เตเฌเว

(เปลี่ยนทางจาก TGV)

เตเฌเว (ฝรั่งเศส: Train à grande vitesse; TGV) เป็นบริการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางไกลระหว่างเมืองของแอ็สแอนเซแอ็ฟ ผู้ให้บริการเดินรถไฟแห่งชาติฝรั่งเศส ได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 โดยฌีเออเซ-อัลสตอม (บริษัทอัลสตอมในปัจจุบัน) และแอ็สแอนเซแอ็ฟ เดิมถูกออกแบบให้ใช้พลังงานจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันแก๊ส ต่อมารุ่นต้นแบบถูกพัฒนาให้เป็นรถไฟที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากวิกฤตการณ์น้ำมันในปี ค.ศ. 1973 ตามมาด้วยการเดินรถเที่ยวปฐมฤกษ์ระหว่างกรุงปารีสกับเมืองลียงในปี ค.ศ. 1981 ในสาย แอลฌีเวซูว์แด็สต์ (ฝรั่งเศส: LGV Sud-Est; Ligne à Grande Vitesse Sud-Est; รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงใต้) ซึ่งมีศูนย์กลางของโครงข่ายทางรถไฟดังกล่าวอยู่ที่กรุงปารีส ต่อมามีการขยายโครงข่ายเส้นทางให้บริการสู่เมืองต่าง ๆ ทั่วฝรั่งเศส และสู่ประเทศใกล้เคียงทั้งในรูปแบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟธรรมดา

เตเฌเว
รถไฟเตเฌเวสองขบวนจอดเทียบชานชาลาสถานีการ์เดอเลสต์ในกรุงปารีส
ภาพรวม
ที่ตั้งฝรั่งเศส, เบลเยียม, ลักเซมเบิร์ก, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, อิตาลี และสเปน
วันที่ให้บริการพ.ศ. 2524–ปัจจุบัน
ข้อมูลเทคนิค
ช่วงกว้างราง1,435 mm (4 ft 8 12 in)
อื่น ๆ
เว็บไซต์TGV on sncf.com

รถไฟเตเฌเวทำลายสถิติความเร็วของรถไฟล้อเลื่อนแตะระดับความเร็วสูงสุดที่ 574.8 km/h (357.2 mph) ในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2007[1] ต่อมากลางปี ค.ศ. 2011 ขบวนรถเตเฌเวที่ให้บริการตามตารางเดินรถปกติให้บริการเดินรถที่ความเร็วสูงสุด 320 km/h (200 mph) ในสายแอลฌีเวเอสต์และสายแอลฌีเวเมดิเตอร์เรเนียน

จากรายงานของนิตยสารเรลเวย์กาเซตต์ (Railway Gazette) ในปี ค.ศ. 2007 เตเฌเวสร้างสถิติให้บริการเดินรถตามตารางปกติที่มีความเร็วตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเฉลี่ยสูงสุดที่ 279.4 km/h (173.6 mph) ระหว่างช็องปาญ-อาร์เดนน์และลอร์แอน[2][3] จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2013 สถิตินี้ก็ถูกทำลายลงโดยรถไฟด่วน ฮาร์โมนีเอ็กซ์เพรส ของจีน[4]

จากความสำเร็จจากการเดินรถไฟแอลฌีเวเชิงพาณิชย์สายแรก เส้นทางสายแอลฌีเวซูว์แด็สต์จึงถูกขยายโครงข่ายไปทางใต้ในสายแอลฌีเวโรนาลป์ และสายแอลฌีเวเมดิเตอร์เรเนียน รวมไปถึงสายทางทิศตะวันตกอย่างแอลฌีเวอัตล็องติก (ฝั่งทะเลแอตแลนติก) สายเหนือแอลฌีเวนอร์ และสายตะวันออกแอลฌีเวแอ็สต์ จากความสำเร็จนี้เองที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิตาลี, สเปน และเยอรมนี ลอกเลียนและพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงของตัวเองขึ้นมา ซึ่งบริการของเตเฌเวก็ขยายเส้นทางไปสู่ประเทศข้างเคียงทั้งในรูปแบบให้บริการโดยตรง (สวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี) และผ่านโครงข่ายการให้บริการรถไฟความเร็วสูงอื่นที่เชื่อมโยงจากฝรั่งเศสสู่เบลเยียม, เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ (รถไฟตาลิส) เช่นเดียวกับบริการรถไฟความเร็วสูงระหว่างสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และเบลเยียมของรถไฟยูโรสตาร์ ปัจจุบันมีการวางแผนขยายเส้นทางและสร้างเส้นทางใหม่หลายเส้นทาง ทั้งที่เป็นเส้นทางในฝรั่งเศสและเส้นทางเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้เตเฌเวยังให้บริการเดินรถไฟชานเมือง (TGV commuter) ที่ให้บริการในเขตชานเมืองรอบกรุงปารีส

ในปี ค.ศ. 2007 แอ็สแอนเซแอ็ฟมีผลประกอบการกำไรกว่า 1.1 พันล้านยูโร (ราว 1.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ, 875 ล้านปอนด์) โดยส่วนมากเป็นผลมาจากการให้บริการรถไฟความเร็วสูงในโครงข่ายที่เพิ่มขึ้น[5][6]

ประวัติ

แก้
 
เตเฌเว-001 รุ่นต้นแบบของรถไฟเตเฌเว

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นช่วงที่ความคิดเรื่องรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นในฝรั่งเศส โดยในยุคแรกนั้นมีความคิดที่ว่าจะทำรถไฟเป็นแบบใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากเครื่องยนต์กังหันแก๊ส (Gas-turbine) เนื่องจากรถไฟของแอ็สแอนเซแอ็ฟนิยมใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวและราคาถูก จึงมีการเสนอต่อรัฐบาลฝรั่งเศสในการพัฒนาและวิจัยในด้านนั้น ในปี ค.ศ. 1967 รัฐบาลฝรั่งเศสจึงอนุมัติงบสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในสายแรก หลังจากนั้นจึงได้เกิดรถไฟต้นแบบของเตเฌเว คือ TGV-001 และ TGV-002 โดยในขบวนรถนั้นประกอบด้วยมอเตอร์ที่ขับเคลื่อนบริเวณหัวและท้ายของขบวน ในขบวนมี 3 ตู้โบกี้ คือตู้ที่นั่งชั้น 1, ตู้ทดลอง และตู้ที่นั่งชั้น 2[7] โดยมอเตอร์จะควบคุมความเร็วรถไฟให้รถไฟมีความเร็วคงที่ตลอดเวลา TGV-001 ถูกทดสอบวิ่งจำนวน 5,227 เที่ยว รวมระยะทางเกือบ 500,000 กิโลเมตร และมีความเร็วเกิน 300 กม./ชม. ในการทดสอบจำนวน 175 เที่ยว ต่อมาในปี ค.ศ. 1974 ได้เกิดวิกฤติการณ์ราคาเชื้อเพลิงขยับสูงขึ้นจึงทำให้ต้องล้มเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในเตเฌเว และเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าแทน ต่อมามีการสร้าง TGV Sud-Est 01 และ 02 โดยมีชื่อเล่นว่า Patrick และ Sophie ซึ่งเป็นตัวทดลองของรุ่น Sud-Est ซึ่งเมื่อทดสอบแล้วพบว่ามีปัญหามาก วิศวกรจึงได้ทำการปรับปรุง จนในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1980 ได้มีการนำ 03 มาทดสอบซึ่งได้ผลดีและในปีต่อมาจึงนำไปบริการในเส้นทางปารีส–ลียง

ระบบต่างๆ

แก้

ระบบรางรถไฟ

แก้
 
เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในฝรั่งเศสโดยเส้นประคือโครงการในอนาคตหรือกำลังก่อสร้าง

ในฝรั่งเศส รางรถไฟมีขนาดความกว้าง 1,435 มิลลิเมตร หรือ 1.435 เมตร (Standard gauge) เท่ากันทั้งรางปกติและรางรถไฟความเร็วสูง จึงทำให้เตเฌเวสามารถที่จะวิ่งทั้งในรางรถไฟปกติซึ่งใช้ร่วมกับรถไฟปกติและรางรถไฟความเร็วสูงที่สร้างสำหรับเตเฌเวโดยเฉพาะ ซึ่งในฝรั่งเศสมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังนี้

  • LGV Sud-Est (LN1)
  • LGV Atlantique (LN2)
  • LGV Nord (LN3)
  • LGV Interconnexion Est
  • LGV Rhône-Alpes (LN4)
  • LGV Méditerranée (LN5)
  • LGV Est européenne (LN6)
  • LGV Perpignan - Figueras
  • LGV Rhin-Rhône (LN7)

และยังมีเส้นทางรถไฟความเร็วสุงซึ่งอยู่ในการก่อสร้าง ดังนี้

  • LGV Est ในเฟสที่ 2
  • LGV Sud Europe Atlantique (Tours–Bordeaux)
  • LGV Bretagne-Pays de la Loire (Le Mans–Rennes)
  • Nîmes-Montpellier bypass

ระบบไฟฟ้า

แก้
 
ภายในห้องควบคุมของเตเฌเว ขบวน 4402 ซึ่งจัดแสดงในนิทรรศการ

ระบบการจ่ายไฟฟ้าในรางปกติและรางความเร็วสูงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือใช้ระบบการจ่ายไฟแบบ Overhead Line (จ่ายไฟเหนือรถไฟ) แต่จะมีความแตกต่างที่ระบบทไฟฟ้าที่ป้อนให้ โดยในรางปกติจะใช้ความต่างศักย์ไฟฟ้าที่ 1.5 กิโลโวลต์ (kV) กระแสตรง ส่วนในรางความเร็วสูงจะใช้ที่ความต่างศักย์ 25 กิโลโวลต์ (kV) 50 เฮิรตซ์ (Hz) กระแสสลับ ซึ่งรถไฟสามารถที่ใช้กระแสไฟฟ้าทั้งสองระบบได้ รวมทั้งระบบไฟฟ้าอื่นที่ถูกเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อใช้ในต่างประเทศ โดยการรับกระแสไฟฟ้าจากสายไฟฟ้าเหนือรถไฟทำได้โดยใช้แหนบรับไฟ (pantograph) แบบ z ในการรับกระแสไฟฟ้า

ระบบอาณัติสัญญาณ

แก้

เนื่องจาก เตเฌเว เป็นรถไฟที่ใช้ความเร็วสูง ดังนั้นระบบอาณัติสัญญาณที่ใช้ทั่วไปในระบบรถไฟไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากพนักงานไม่สามารถเห็นป้ายความเร็วหรือแม้กระทั่งสัญญาณไฟที่อยู่บนรางรถไฟได้ จึงทำให้ต้องพัฒนาระบบอาณัติสัญญาณเพื่อที่จะรองรับรถไฟความเร็วสูง โดยฝรั่งเศสได้พัฒนาเป็นระบบ TVM โดยจัดเป็น Cab-Signalling เนื่องจากมีการแสดงผลในห้องคนขับ และคนขับจะปฏิบัติตามคำสั่งตามสัญญาณต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณแผงหน้าปัดของรถไฟ โดย TVM จะแสดงผลเป็นรูปแบบตัวเลข สี เสียง หรือสัญญาณอื่น ๆ ว่า ต้องทำอะไรในต่อไปเพื่อลดข้อด้อยความสามารถในการมองเห็นของคนขับ ในการมองเส้นทางรถไฟในความเร็วสูง

รุ่นของ TGV

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "French Train Hits 357 mph Breaking World Speed Record". foxnews.com. 4 April 2007. สืบค้นเมื่อ 11 February 2010.
  2. "World Speed Survey: New lines boost rail's high speed performance". Railway Gazette International. 4 September 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-13. สืบค้นเมื่อ 1 May 2009.
  3. "Railway Gazette International 2007 World Speed Survey Tables" (PDF). Railway Gazette International. September 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-07-31. สืบค้นเมื่อ 2019-11-21.
  4. "World Speed Survey 2013: China sprints out in front". Railway Gazette International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-06-26. สืบค้นเมื่อ 2 July 2013.
  5. David Gow (9 July 2008). "Europe's rail renaissance on track". guardian.co.uk. London. สืบค้นเมื่อ 9 February 2010.
  6. Ben Fried (15 July 2008). "French Trains Turn $1.75B Profit, Leave American Rail in the Dust". Streetsblog New York City. streetsblog.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-22. สืบค้นเมื่อ 9 February 2010.
  7. http://www.trainweb.org/tgvpages/history.html

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้