บทความนี้มีชื่อเป็นภาษาอื่น หรือใช้อักษรในภาษาอื่น เนื่องจากต้องการคงไว้ตามต้นฉบับ หรือไม่มีชื่อภาษาไทยที่เหมาะสม

Super PI คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับคำนวณค่าพาย (π) โดยระบุจำนวนตำแหน่งหลังจุดทศนิยมในคำตอบตามต้องการ มากที่สุดไม่เกิน 32 ล้านตำแหน่ง Super PI ใช้อัลกอริธึม Gauss-Legendre ในการคำนวณ ตัวโปรแกรมถูกแปลงมาให้ใช้บน Microsoft Windows จากโปรแกรมเดิมที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดย Dr. Yasumasa Kanada จากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) เพื่อใช้ในการคำนวณค่าพายขนาดจุดทศนิยม 4,294,960,000 ตำแหน่ง

Super PI คำนวณค่าพายเสร็จสิ้น

ความสำคัญ แก้

Super PI เป็นที่นิยมของเหล่านักโอเวอร์คล็อก เพื่อใช้ทดสอบความเสถียรของระบบคอมพิวเตอร์ ผลลัพธ์ที่ได้จากโปรแกรมจะนำมาใช้เปรียบเทียบความเร็วในการคำนวณค่าพายกับสถิติโลกและบ่งบอกถึงความสามารถในการโอเวอร์คล็อกของผู้ใช้ โปรแกรมยังสามารถใช้ในการทดสอบความเสถียรของระบบ เพื่อดูว่าระบบเสถียรที่ความเร็วโอเวอร์คล็อกที่ใช้ในการทดสอบหรือไม่ ถ้าหากโปรแกรมสามารถคำนวณค่าพายได้ถึง 32 ล้านตำแหน่งหลังจุดทศนิยมโดยปราศจากความผิดพลาด อาจถือได้ว่าระบบมีความเสถียรในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การทดสอบที่ใช้เวลานานกว่านั้นโดยโปรแกรมอื่นอาจให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เนื่องจากมีการใช้งาน CPU ที่หนักกว่าและสร้างความอ่อนล้าให้ระบบได้มากกว่า แม้ว่า Super PI จะไม่ได้เป็นโปรแกรมที่สามารถคำนวณค่าพายได้รวดเร็วที่สุด แต่มันก็ยังได้รับความนิยมจากเหล่านักโอเวอร์คล็อก

ความน่าเชื่อถือ แก้

ด้วยปัจจุบันมีผู้ใช้บางคนพยายามโกงผลลัพธ์ความเร็วที่ได้จากการคำนวณค่าพายจากโปรแกรม เพื่อเอาชนะกันในแง่ของฝีมือในการโอเวอร์คล้อก ส่งผลให้มีการปรับปรุงพัฒนา Super PI เวอร์ชันดั้งเดิมให้สามารถตรวจสอบความเที่ยงตรงของผลลัพธ์ผ่านกระบวนการ checksum จากเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการพบวิธีการอื่นๆ ในการสร้างผลลัพธ์ที่ไม่เที่ยงตรงหรือผลลัพธ์หลอกขึ้นมาอยู่ดี ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับอนาคตของโปรแกรมนี้ในแง่การวัดเปรียบเทียบสมรรถนะของการโอเวอร์คล้อก

อนาคต แก้

Super PI เป็นโปรแกรมที่ทำงานแบบเทร็ดเดียว (Single-Threaded) ซึ่งการนำมาใช้วัดประสิทธิภาพสำหรับในยุคปัจจุบันอย่างหน่วยประมวลผลแบบหลายแกน จึงถือได้ว่าลดความนิยมลงไป นอกจากนั้น ปัจจุบันความเร็วของหน่วยประมวลผลเร็วขึ้นเรื่อยๆ Super PI จึงอาจมองว่าไม่เหมาะสมในการใช้ทดสอบความเสถียรของระบบได้อีกต่อไป ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าการวัดความเสถียรต้องใช้เวลาในการทำงานที่นานกว่านี้ เพื่อสร้างความอ่อนล้าให้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผู้ใช้หลายรายได้เปลี่ยนไปใช้ Orthos หรือ OCCT แทนเพื่อวัดความเสียรเนื่องด้วยโปรแกรมเหล่านั้นทำงานในแบบหลายเทร็ด (Multi-Threaded)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้