มะกอก

สปีชีส์ของพืช
(เปลี่ยนทางจาก Spondias mombin)
มะกอก
S. mombin, fruiting.
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Sapindales
วงศ์: Anacardiaceae
สกุล: Spondias
สปีชีส์: S.  mombin
ชื่อทวินาม
Spondias mombin
L.
ชื่อพ้อง

Spondias lutea L.

มะกอก หรือ มะกอกป่า ชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ได้แก่ กอกกุก, กูก (เชียงราย); กอกหมอง (เงี้ยว – ภาคเหนือ); ไพแซ (กะเหรี่ยง – เชียงใหม่) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตั้งแต่อินเดีย มาเลเซียจนถึงอินโดนีเซีย เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลาง สูงถึง 25 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเลี้ยงไม่มีขน เปลือกเรียบสีเทาแตกเป็นร่องเล็กน้อย เปลือกข้างในมีริ้วสีชมพูสลับขาว ใบประกอบ มีใบย่อย 3 – 5คู่ ปลายสุดเป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรุปขอบขนาน หรือรูปหอก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบแหลมหรือเบี้ยว ดอกออกเป็นช่อสีขาวตามปลายกิ่ง แต่ละดอกมีขนาดเล็ก มี 5 กลีบเกสรมีตัวเมียแยกเป็นสี่แฉก ผลสดมีเนื้อฉ่ำน้ำ ลักษณะรูปไข่หรือรูปรี เมื่อสุกผลสีเหลืองหม่น มีรอยแต้มสีน้ำตาลทั่วผล

มะกอกเป็นพืชที่ให้ผลตลอดปี ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค เป็นไม้กลางแจ้ง สามารถขึ้นได้โดยทั่วไป พบในป่าเบญจพรรณและป่าแดงทั่วไป ขึ้นได้ดินแทบทุกชนิด และเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยที่ชุมชื่น ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ซึ่งอาจปลุกลงหลุมได้

การใช้ประโยชน์ แก้

 
ใบอ่อนของมะกอก ใช้เป็นผัก

ยอดอ่อนและใบใช้รับประทานเป็นผักรสเปรี้ยว ผลรสเปรี้ยวหวานเย็น ผลสุกใช้ปรุงรสเปรี้ยวในส้มตำ ใช้ปรุงรสเปรี้ยวในน้ำพริกหรือทำมะกอกทรงเครื่อง ในทางยา แก้เลือดออกตามไรฟัน และต้านอนุมูลอิสระ (วิตามินสูง) แก้ธาตุพิการ แก้บิด แก้ดีพิการ ทำให้ชุมคอ แก้กระหาย ผล เปลือก ใบ เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงสายตา แก้กระหายน้ำทำให้ชุ่มคอ และเลือดออกตามไรฟัน ใช้เมล็ดแห้ง 2 – 3 ลูก เผาไฟให้เป็นถ่าน แล้วนำไปแช่น้ำ กรองเอาน้ำดื่ม หรืออาจใช้ผสมยามหานิลก็ได้ แก้ร้อนใน หอบ และสะอึก

อ้างอิง แก้

  • นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. "มะกอกป่า" ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กรุงเทพมหานคร : แสงแดด, 2550, หน้า 134.