นกกระทุง

(เปลี่ยนทางจาก Pelecanus philippensis)

นกกระทุง (อังกฤษ: Spot-billed pelican; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pelecanus philippensis) นกน้ำขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในวงศ์นกกระทุง (Pelecanidae) จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นในวงศ์นี้ ที่พบได้ในประเทศไทย[2]

นกกระทุง
ขณะหากินในน้ำ
ขณะบิน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Pelecaniformes
วงศ์: Pelecanidae
สกุล: Pelecanus
สปีชีส์: P.  philippensis
ชื่อทวินาม
Pelecanus philippensis
Gmelin, 1789

ลักษณะทั่วไป แก้

นกกระทุงเป็นนกขนาดใหญ่ มีความยาวจากปากถึงปลายหางประมาณ 52–60 นิ้ว มีขาสั้นใหญ่ ปากยาวแบนข้างใต้มี ถุงสีออกม่วงขนาดใหญ่ บริเวณขอบปากบนมีจุดสีน้ำเงินเข้มอยู่เป็นระยะตามความยาวของจะงอยปาก ตีนมีพังผืดสี เหลืองขึงเต็มระหว่างนิ้วทุกนิ้วคล้ายเป็ด ม่านตาสีแดง แข้งและตีนสีเนื้อ สามารถว่ายน้ำได้ดี บินได้สูง ในฤดูผสมพันธุ์ ขนจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินในช่วงบนของลำตัว ส่วนช่วงล่างจะเป็นสีขาว แต่ถ้าไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ ปีก หางและส่วนใต้ลำตัว จะมีสีน้ำตาลเช่นเดียวกับนกกระทุงที่ยังไม่โตเต็มที่ ทั้งตัวผู้และตัวเมียรูปร่างและสีสันเหมือนกัน นกกระทุงชอบอยู่เป็นฝูง กินปลา, กุ้ง, กบ หรือสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารและหาอาหารด้วยกัน ถ้าตัวใดตัวหนึ่งทำอะไรตัวอื่นจะทำตาม เวลาที่อยู่เฉย ๆ จะหันหน้าไปทางเดียวกันหมด เวลาบินจะหดคอเข้ามา บินกันเป็นแถวเรียงหนึ่ง บางครั้งบินเป็นรูปตัว V ส่วนใหญ่จะบินเป็นรูปขั้นบันไดกว้าง ๆ รังสร้างด้วยกิ่งไม้ใหญ่ ๆ วางสานกันบนต้นไม้สูง ๆ ขนาดของรังมีเส้นผ่าศูนย์ กลาง 2 ฟุต วางไข่ครั้งละประมาณ 3 ฟอง ไข่มีสีขาว ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันกกไข่ประมาณ 4–5 อาทิตย์ จึงฟักเป็นตัว

ถิ่นที่อยู่อาศัย แก้

อินเดีย, จีน, ไหหลำ, ไต้หวัน, ซุนดา, ออสเตรเลีย, โซโลมอน, อินโดจีน, ฟิลิปปินส์, แหลมมลายูและไทย ประเทศไทย มีอยู่ทั่วไปทุกภาค ปัจจุบันเป็นนกที่ค่อนข้างพบเห็นยากมาก เคยพบปนอยู่กับฝูงนกปากห่างที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 ได้มีการพบเห็นฝูงนกกระทุงที่บินผ่านประเทศไทยและแวะพักหากินที่บ่อปลาของชาวบ้านใน หมู่ 7 ตำบลหน้าโคก อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีบ่อปลาอยู่ ซึ่งสามารถพบเห็นได้ปีละ 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม–มิถุนายน และช่วงเดือนตุลาคม–พฤศจิกายน และสามารถมองเห็นได้บนเสาไฟฟ้าแรงสูงจากถนนเสนทางสายป่าโมก–สุพรรณ ช่วงหน้าโคก

ในอดีตนกกระทุงสามารถพบได้มากมายในประเทศไทย ในพงศาวดารระบุไว้ว่า ในศึกลาดหญ้า อันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเก้าทัพในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระยาสระบุรีได้รับคำสั่งให้เดินทางล่วงหน้าไปตีทัพหน้าของพม่า ที่ริมแม่น้ำน่าน ตำบลปากพิง ใต้เมืองพิษณุโลก เมื่อพระยาสระบุรีพักทัพที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน ในเวลากลางคืนได้พบกับนกกระทุงฝูงใหญ่ จนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกองทัพพม่า จึงได้สั่งการให้ถอยทัพ[3]

พฤติกรรม, การสืบพันธุ์ แก้

ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงทั้งช่วงเวลาหากินและทำรัง ขณะหาอาหารจะใช้ถุงใต้คอทำหน้าที่คล้ายสวิงช้อนปลาลงในลำคอ นกกระทุงทำรังอยู่บนต้นไม้รวมกันเป็นฝูง วางไข่คราวละ 1–5 ฟอง และใช้เวลาฟักไข่ประมาณ 30 วัน โดยทั้งตัวผู้และตัวเมียผลัดกันทำหน้าที่

สถานภาพปัจจุบัน แก้

ใกล้สูญพันธุ์จากประเทศไทย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 บัญญัติไว้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง[4] [5]

อ้างอิง แก้

  1. undefined. 2017. Pelecanus philippensis. The IUCN Red List of Threatened Species 2017: e.T22697604A117970266. https://dx.doi.org/10.2305/IUCN.UK.2017-3.RLTS.T22697604A117970266.en. Downloaded on 21 May 2020.
  2. Harrison, Peter; Peterson, Roger Tory (1991). Seabirds: A Complete Guide to the Seabirds of the World (Helm Identification Guides) . Christopher Helm Publishers Ltd. ISBN 071363510X.
  3. หน้า 3 , เคล็ดวิชา ซูจี. "ชักธงรบ" โดย กิเลน ประลองเชิง. ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21342: วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559 แรม 8 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก
  4. Spot-billed Pelican (Pelecanus philippensis)
  5. "นกกระทุง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-02. สืบค้นเมื่อ 2012-11-09.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pelecanus philippensis ที่วิกิสปีชีส์