ไนท์อินไวท์ซาติน

(เปลี่ยนทางจาก Nights in White Satin)

ไนท์อินไวท์ซาติน (อังกฤษ: Nights in White Satin) เป็นเพลงจากอัลบั้ม Days of Future Passed อัลบั้มที่สามของวงเดอะมูดีบลูส์ แต่งโดย จัสติน เฮย์เวิร์ด มือกีตาร์และนักร้องนำของวง วางจำหน่ายซิงเกิลเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1967 เพลงนี้ได้รับการจัดเข้าทำเนียบหอเกียรติยศ ในพิธีประกาศรางวัลแกรมมีประจำปี 1999 [1]

อัลบั้ม Days of Future Passed ถือว่าเป็นผลงานในแนวโปรเกรสซีฟร็อกชุดแรกของวง ก่อนหน้านี้เดอะมูดีบลูส์มีสัญญาอยู่กับเดคคาเรเคิดส์ และได้รับมอบหมายจากต้นสังกัดให้ทำผลงานชุดใหม่ โดยนำซิมโฟนีหมายเลข 9 "From the New World" ของอานโตนิน ดโวชาค มาตีความในแบบร็อกแอนด์โรล [2] เพื่อใช้โปรโมตระบบบันทึกเสียงแบบใหม่ Deramic Stereo Sound (DSS) ของค่ายแผ่นเสียง "เดอแรมเรเคิดส์" บริษัทลูกที่ตั้งขึ้นมาใหม่ของเดคคา

เดอะมูดีบลูส์นำผลงานที่แต่งให้เดคคามาพัฒนาเป็นคอนเซปต์อัลบั้ม Days of Future Passed ประกอบด้วย 7 แทรค แต่ละแทรคกล่าวถึงชีวิตประจำวันของชายคนหนึ่ง ตั้งแต่ตื่นตอนเช้าจนถึงเข้านอนตอนกลางคืน มีนักดนตรีประกอบด้วย จัสติน เฮย์เวิร์ด (ร้องนำ-กีตาร์โปร่ง), จอห์น ลอดจ์ (กีตาร์เบส), ไมค์ พินเดอร์ (คีย์บอร์ดเมลโลทรอน), เรย์ โทมัส (ฟลูท), แกรม เอดจ์ (กลอง-เพอร์คัชชัน) และวงออเคสตราอำนวยเพลงและเรียบเรียงโดย ปีเตอร์ ไนท์ เพลงไนท์อินไวท์ซาตินนี้เป็นเพลงที่เจ็ด เพลงสุดท้ายของอัลบั้ม

ผลงานชิ้นนี้เกือบไม่ได้วางจำหน่าย เนื่องจากผู้บริหารเดอแรมเรเคิดส์คิดว่าการนำดนตรีคลาสสิกมาผสมผสานกับดนตรีร็อก แบบซิมโฟนิก เป็นเรื่องล้ำสมัย เกรงว่าผลงานจะล้มเหลวหากไม่ได้การยอมรับ

เมื่อซิงเกิลวางจำหน่ายครั้งแรก มีความยาวถึง 7 นาที 38 วินาที ขึ้นได้ถึงอันดับที่ 19 ในชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร [3] กล่าวกันว่าซิงเกิลน่าจะมีอันดับดีกว่านี้หากมีความยาวไม่ถึง 7 นาที เพราะสถานีวิทยุต่างๆ จะสามารถเปิดโปรโมตได้บ่อยครั้งกว่า

ในปี ค.ศ. 1972 ทางวงได้วางจำหน่ายซิงเกิลอีกครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา หลังจากมีตัวอย่างความสำเร็จของซิงเกิลที่มีความยาวมากๆ เช่น Hey Jude (7 นาที 11 วินาที) ของเดอะบีเทิลส์ และ Layla (7 นาที 2 วินาที) ของอีริก แคลปตัน การวางจำหน่ายในครั้งที่สองนี้ ซิงเกิลขึ้นได้ถึงอันดับ 2 ของบิลบอร์ดฮอต 100 และอันดับ 1 ของนิตยสารแคชบอกซ์ มียอดจำหน่ายมากกว่าหนึ่งล้านแผ่น ในปลายปีนั้นซิงเกิลวางจำหน่ายในสหราชอาณาจักร และขึ้นถึงอันดับ 9 ในปี 1979 ได้วางจำหน่ายซิงเกิลอีกครั้งหนึ่ง ขึ้นถึงอันดับ 14

อ้างอิง แก้

  1. "GRAMMY Hall Of Fame". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-10. สืบค้นเมื่อ 2011-12-28.
  2. Eder, Bruce (2009). "The Moody Blues: Biography". AMG [All Music Group, a subsidiary of Macrovision]. สืบค้นเมื่อ 2009-07-28.
  3. "Chart Stats - The Moody Blues - Nights In White Satin". www.chartstats.com. สืบค้นเมื่อ 11 October 2009.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้