ยาสูบ (พืช)

สปีชีส์ของพืช
(เปลี่ยนทางจาก Nicotiana tobaccum)
ยาสูบ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Solanales
วงศ์: Solanaceae
สกุล: Nicotiana
สปีชีส์: N.  tabacum
ชื่อทวินาม
Nicotiana tabacum
ชื่อพ้อง
  • Nicotiana chinensis Fisch. ex Lehm.
  • Nicotiana fruticosa Moc. & Sessé ex Dunal
  • Nicotiana latissima Mill.
  • Nicotiana mexicana Schltdl.
  • Nicotiana mexicana var. rubriflora Dunal
  • Nicotiana pilosa Dunal
  • Nicotiana tabaca St.-Lag.

ยาสูบ (อังกฤษ: common tobacco ชื่อวิทยาศาสตร์: Nicotiana tabacum L.) มีแหล่งกำเนิดในบริเวณตอนกลางของทวีปอเมริกา แม้มนุษย์จะรู้จักใบยาสูบมาประมาณสองพันปีแล้ว แต่ไม่ได้สูบกันอย่างจริงจังจนเป็นนิสัย จนกระทั่งพวกอินเดียนแดง ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของอเมริกา(American Indian) รู้จักใช้ยาสูบกันอย่างแพร่หลาย จึงได้มีการทำไร่ยาสูบกันทั่วไป

การบันทึกประวัติของยาสูบ มีขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2035 เมื่อโคลัมบัส (Christopher Columbus) ขึ้นฝั่งที่ซานซัลวาดอร์ (San Salvador) ในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก เห็นชาวพื้นเมืองเอาใบไม้ชนิดหนึ่งมามวน จุดไฟตอนปลาย แล้วดูดควัน ตามบันทึกกล่าวว่า ชาวพื้นเมืองมวนยาสูบด้วยใบข้าวโพด

สเปน เรียกยามวนนี้ว่า ซิการา (cigara) ต่อมาเพี้ยนเป็นคำว่า ซิการ์ (cigar) แต่คนบางคนก็ใช้คำว่า ซิการาอยู่ จากการขุดพบซากปรักหักพังของเมืองเก่าของพวกมายาในศเม็กซิโก ได้พบกล้องยาสูบสมัยโบราณ ซึ่งตรงโคนสำหรับดูดแยกออกเป็นสองง่าม สำหรับอัดเข้าไปในจมูก ด้วยเหตุนี้ ชาวอเมริกัน (American)โบราณสูบยากันทางจมูก กล้องชนิดนี้คนพื้นเมืองเรียกว่า ตาบาโก (tabaco) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า โทแบกโก (tobacco)

การเพาะปลูกยาสูบในแหล่งอื่น ๆ ได้เริ่มที่เฮติ (Hiti) เมื่อ พ.ศ. 2074 โดยได้เมล็ดพันธุ์จากเม็กซิโก และขยายไปยังหมู่เกาะข้างเคียง จนกระทั่ง พ.ศ. 2123 จึงได้เริ่มปลูกในคิวบา และต่อไปจนถึงกายอานา และบราซิล ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 แพร่หลายไปยังทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา มีหลักฐานแสดงว่า มนุษย์ในสมัยโบราณรู้จักการปลูกยาสูบ เพื่อนำใบไปซอยและมวนสูบ นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันว่า ยาสูบมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้อโรคที่ดีอย่างหนึ่งด้วย

ประเทศแรกในทวีปเอเชียที่เริ่มปลูกยาสูบคือ ฟิลิปปินส์ แล้วแพร่หลายต่อไปยังอินเดีย จีน และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยไม่มีหลักฐานว่า ใครเป็นผู้นำเข้ามา และมาถึงเมื่อใด มีเพียงบันทึกของหมอสอนศาสนาว่า เมื่อเขาเข้ามาเมืองไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นพบว่า คนไทยสูบยากันทั่วไปแล้ว และจากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องบุหรี่ ทรงกล่าวว่า เมอร์สิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตฝรั่งเศสในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2211 ได้เขียนเล่าเรื่องประเทศสยามว่า คนไทยชอบใช้ยาสูบอย่างฉุน ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง ใบยาที่ใช้กันในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ได้จากกรุงมะนิลา (Manila) บ้าง จากเมืองจีน (China) บ้าง และที่ปลูกในประเทศไทย (Thailand) บ้าง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

ต้นเป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีอายุอยู่ได้เพียงปีเดียว ไม่แตกกิ่งก้านสาขา ทุกส่วนของลำต้นจะปกคลุมไปด้วยขนที่อ่อนนิ่ม ลำต้นสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ใบ เป็นไม้ใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ โคนใบจะแคบแทบจะไม่มีก้านใบเลย ใบมีขนาดโตหนา มีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ด้วยสีเขียว ดอก ออกเป็นช่อยาวขึ้นไป ตรงส่วนปลายยอด ซึ่งบานตั้งแต่ส่วนล่างไปหาส่วนบนตามลำดับ ดอกมีสีชมพูอ่อน ๆ เกือบขาว หรือแดงเรื่อ ๆ ดอกสวยงามน่าดูมาก ผล เป็น capsule

ชนิดของยาสูบ แก้

ยาสูบที่ปลูกกันทั่วไปมีมากกว่า 60 พันธุ์ หรือ 60 ชนิด แต่ที่ปลูกเป็นการค้าเกือบทั้งหมดเป็นพันธุ์ทาบาคัม (tabacum)(rustica) ทางแถบยุโรปตะวันออก และเอเชียไมเนอร์

ธรรมชาติของยาสูบแตกต่างจากพืชอื่น ใบของยาสูบมีสารประกอบไนโตรเจนหมู่หนึ่งที่เรียกว่า "แอลคาลอยด์" ซึ่งมีนิโคตินเป็นส่วนใหญ่ นิโคตินเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดลักษณะเฉพาะตัวของยาสูบ หรืออาจกล่าวได้ว่า นิโคตินคือ ยาสูบ ต้นยาสูบจะผลิตสารนิโคตินที่ราก แล้วส่งไปเก็บไว้ที่ใบ ดังนั้นถ้าต้นยาสูบมีรากมาก ก็มีแนวโน้มที่จะผลิตสารนิโคตินได้มากตามไปด้วย ใบยาเหล่านี้ เมื่อเกิดการเผาไหม้ จะทำให้เกิดสารประกอบต่าง ๆ อีกจำนวนมาก ทำให้เกิดกลิ่น สี และรสต่าง ๆ ความหอม และความฉุน ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของยาสูบ ใบยาแต่ละประเภทจะมีปริมาณสารประกอบเคมี ที่ทำให้เป็นลักษณะเด่นแตกต่างกันเช่น

- ใบยาบ่มไอร้อน (เวอร์ยิเนีย) มีปริมาณน้ำตาลสูง นิโคตินปานกลาง - ใบยาเบอร์เลย์ มีปริมาณไนโตรเจนและนิโคตินสูง น้ำตาลต่ำ - ใบยาเตอร์กิช มีปริมาณสารหอมระเหยสูง

จากความแตกต่างของปริมาณสารประกอบ เป็นเหตุผลหนึ่งที่อุตสาหกรรมผลิตบุหรี่ จำเป็นต้องผสมใบยาประเภทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ตามสัดส่วน เพื่อให้ได้กลิ่นและรสเป็นที่พอใจของผู้สูบ อย่างไรก็ดี ใบยาสูบทุกประเภท หากนำมาสังเคราะห์องค์ประกอบเคมีต่าง ๆ จะได้เหมือนกันหมด เพียงแต่มีปริมาณแตกต่างกันเท่านั้น นอกจากนี้ระดับความแก่สุกของใบยา และตำแหน่งของใบบนลำต้น เช่น ใบยาส่วนยอด ส่วนกลาง และส่วนล่าง ก็มีส่วนทำให้องค์ประกอบทางเคมี และคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น กลิ่นและรสแตกต่างกันด้วย

การเพาะกล้ายาสูบ แก้

งานอันดับแรกของการทำไร่ยาสูบ คือ การเพาะกล้ายาสูบ ต้นยาสูบในไร่จะเจริญเติบโตดี ต้องมาจากต้นกล้าที่สมบูรณ์ แข็งแรง เมื่อนำไปปลูกแล้ว ต้นกล้าตายน้อยที่สุด หรือไม่ตายเลย ถ้าต้นกล้าตายหลังจากปลูก 7-10 วัน ควรจะมีการปลูกซ่อมกล้า และไม่ควรจะปลูกซ่อมบ่อย ๆ เพราะการซ่อมกล้าเพียงร้อยละ 10 จะทำให้คุณภาพลดลงได้ถึงร้อยละ 5 ทั้งนี้เนื่องจากการเก็บใบยาสูบไปบ่ม ผู้เก็บมักจะเก็บทุกต้นเหมือนกันหมด ทำให้มีใบยาที่ไม่สุกติดเข้าไปบ่มด้วย ทำให้คุณภาพใบยาลดลง

การที่จะผลิตต้นกล้าให้มีความสมบูรณ์ และแข็งแรง จะต้องมีการเตรียมและทำแปลงเพาะกล้าที่ดีมาก่อน นับตั้งแต่การเลือกที่ดิน ควรเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำดี ถ้าเป็นดินบุกเบิกใหม่ยิ่งดี หลังจากเตรียมดินยกเป็นแปลง (กว้าง 1 เมตร ยาว 11 เมตร) แล้วคลุมด้วยผ้าพลาสติก และรมด้วยก๊าซเมทิลโบรไมด์ นานประมาณ 24-48 ชั่วโมง เพื่อกำจัดโรคแมลง และวัชพืชในดิน เมื่อเปิดผ้าพลาสติกออกแล้ว ผึ่งดินทิ้งไว้ 12-24 ชั่วโมง ใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 4-16-24 ในอัตรา 2-4 กิโลกรัมต่อแปลง และใส่ยาฟูราดาน 3 จี เพื่อป้องกันโรคใบหดในอัตรา 250-300 กรัมต่อแปลง แล้วกลับปุ๋ยและยาให้อยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 1-2 นิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดยาสูบที่หว่าน ได้รับอันตรายจากปุ๋ยและยา

การหว่านเมล็ด เนื่องจากเป็นเมล็ดที่มีขนาดเล็กมาก (เมล็ดยาสูบ 1 กรัม มีจำนวนประมาณ 10,000-12,000 เมล็ด) จึงควรนำเมล็ดผสมขี้เถ้าในการหว่าน เพื่อให้กระจายทั่วแปลง หรือใส่เมล็ดลงในบัวรดน้ำ คนเมล็ดให้กระจายเข้ากับน้ำจนทั่ว แล้วรดให้ทั่วแปลง โดยใช้เมล็ดแปลงละ 1.0-1.5 กรัม รดน้ำให้ชุ่ม แล้วคลุมแปลงเพาะด้วยผ้าดิบ เพื่อป้องกันแสงแดดในเวลากลางวัน และลดแรงกระแทกของน้ำฝน ในฤดูฝน ถ้าเป็นฤดูแล้งอาจใช้แกลบคลุมได้

การรดน้ำ รดน้ำวันละ 4 ครั้ง จนกว่าเมล็ดจะงอก จึงค่อยๆ ลดลงเหลือวันละ 2-3 ครั้ง การพ่นยาป้องกันโรคและแมลง จะต้องทำทุกสัปดาห์ หลังจากเมล็ดงอกแล้ว โรคที่สำคัญในแปลงเพาะได้แก่ โรคโคนเน่า และโรคแอนแทรกโนส สำหรับแมลงได้แก่ หนอน และแมลงหวี่ขาว เมื่อกล้ายาสูบมีอายุ 35-45 วัน จึงถอนย้ายไปปลูกในไร่

การเก็บใบยาสดและการบ่ม แก้

การเก็บใบยาสดในประเทศไทยยังใช้วิธีเก็บด้วยมือ โดยเก็บจากใบยาล่างขึ้นไปหายอด และควรจะเก็บในเวลาเช้า การเก็บให้เลือกเฉพาะใบยาที่เริ่มแก่หรือสุกเท่านั้น เพราะมีส่วนสัมพันธ์โดยตรงกับคุณภาพใบยาแห้ง การเก็บครั้งหนึ่ง ๆ ประมาณ 3-5 ใบต่อต้น แต่ละครั้งห่างกัน 5- 10 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของใบยา และตำแหน่งของใบบนลำต้น เช่น ใบยาชั้นล่างจะแก่หรือสุกเร็วกว่าใบยายอด เป็นต้น

สรรพคุณของยาสูบ แก้

ใบ มีรสเผ็ดร้อนเมาเบื่อฉุน มีสรรพคุณเป็นยาระงับประสาท ทำให้นอนหลับ ทำให้ผอม เพราะมีสารสงบประสาทที่ไประงับความอยากอาหาร ใช้ทำเป็นยาเส้นผสมกับปูนแดงและใบเนียม ใช้ปรุงยานัตถุ์แก้หวัดคัดจมูก แก้หอบหืด ขับเสมหะ ทำให้อาเจียน ช่วยขับพยาธิในลำไส้ ช่วยขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ในการใช้ภายนอกจะใช้ใบยาสูบเป็นยาสมานบาดแผล ชาวกะเหรี่ยงแดงจะใช้เป็นยาประคบเพื่อช่วยห้ามเลือด ช่วยแก้พิษงู ช่วยแก้ลมพิษ ช่วยแก้ปวด ลดอาการบวม แก้ปวดข้อ ปวดศีรษะ ปวดฟัน ใช้รักษาเหา ให้ใช้ใบยาสูบแก่ที่ตากแห้งแล้ว 1 หยิบมือ นำมาผสมกับน้ำมันก๊าดประมาณ 3-4 ช้อนแกง แล้วใช้ชโลมทั้งน้ำและยาเส้นลงบนผมทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วสระออกให้สะอาด โดยให้ทำติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน ชาวอินเดียนพื้นเมืองจะใช้ยาสูบเป็นยาแก้ปวด โดยเฉพาะการปวดท้องคลอด ด้วยการนำมาสูบ กิน หรือใช้เป็นยานัตถุ์

ราก ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เรื้อนกวาง ผื่นคัน หิด

ยาเส้น ใช้เป็นยาถอนพิษ รักษาแผลน้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ยาเส้นหรือยาตั้ง 1 หยิบมือ นำมาคลุกกับน้ำมันมะพร้าวปิดบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวก จะช่วยถอนพิษได้

นิโคติน ในทางยานิโคตินถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย แก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ แม้ว่าบุหรี่จะทำให้ร่างกายเป็นโรค แต่สารนิโคตินในบุหรี่ก็สามารถเป็นยาสำหรับบางคนได้ เพราะทำให้คนที่เป็นโรคพาร์กินสัน โรคจิตเภท โรคอัลไซเมอร์ ฯลฯ ทำงานดีขึ้น เพราะในคนที่เป็นโรคพาร์กินสันและอัลไซเมอร์นั้น สมองจะขาด Dopamine แต่สารนิโคตินนั้นสามารถไปกระตุ้นการหลั่ง Dopamine ได้ ทำให้คนที่เป็นอัลไซเมอร์มีความจำดีขึ้น ส่วนคนที่เป็นโรคพาร์กินสันร่างกายก็จะไม่กระตุกมาก เป็นต้น

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของยาสูบ แก้

ใบใบยาสูบพบสารอัลคาลอยด์ นิโคติน (Nicotine) C10 H14 N2 อยู่ประมาณ 0.6-9% ซึ่งสารอัลคาลอยด์พวก Pyridine นี้จะมีลักษณะเป็น oily, volatile liquid ทำให้ไม่มีสีแล้วกลายเป็นสีเหลือง ถ้าหากถูกอากาศจะเป็นสีน้ำตาล หากนำมาสูดดมเข้าไปจะไปกัดเนื้อเยื่อในจมูก มีกลิ่นเผ็ดร้อน แต่ก็ยังมีสารที่ทำให้มีลิ่นหอมที่ชื่อว่า Nicrotranin หรือ Tabacco camphor โดยสารชนิดนี้จะเกิดก็ต่อเมื่อนำมาใบยามาบ่ม

จากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วในใบยาสูบทำบุหรี่จะมีปริมาณของสารนิโคตินอยู่ 20 มิลลิกรัม ยาเส้นใช้กล้องสูบมี 25 มิลลิกรัม และใบยาที่ทำให้ซิการ์จะมีนิโคนตินอยู่ 100 มิลลิกรัม รวมไปถึงสารประกอบอื่น ๆ อีกด้วย

ประโยชน์ของยาสูบ แก้

1. ใบอ่อนจะนำมาใช้มวนบุหรี่และใช้ทำซิการ์ ซิการา

2. ใบแก่จะนำมาทำเป็นยาเส้นยาตั้ง ยาฉุน และใช้มวนบุหรี่ ชาวกะเหรี่ยงจะใช้ใบแก่นำมาซอนให้เป็นฝอยแล้วตากแห้ง พันด้วยใบตองแห้งใช้เป็นยาสูบ หรือใช้เป็นไส้บุหรี่ขี้โย

3. ในส่วนของยาตั้งนั้นหากนำมาผสมกับน้ำมันก๊าดแล้วนำมาใส่ผมก็จะเป็นยาฆ่าเหาได้ โดยให้ใส่ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที ให้ทำวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน เหาก็จะหาย แต่ต้องระวังอย่าให้ยาเข้าตาได้

4. ใบมีสารนิโคตินอยู่ประมาณ 7% ละลายได้ง่ายในน้ำ แอลกอฮอล์ และอีเธอร์ ใช้ทำเป็นยาฉีดฆ่าแมลงและเพลี้ยต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะจัดเป็นสารพิษชนิดหนึ่ง (การผสมให้ใช้นิโคติน 1 ส่วน สบู่อ่อน 20 ส่วน ในน้ำ 2,000 ส่วน) ยานี้มีพิษแรง การนำมาใช้ต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกผิวหนัง เพราะจะซึมเข้าไปและเป็นพิษมาก

5. ใบใช้ทาภายนอกเพื่อป้องกันทากและปลิงเกาะได้

6. ใบเอาไปใส่ไว้ในรังไก่ เพื่อช่วยไล่ไรไก่ หรือนำมาตำแล้วแช่ในน้ำ ใช้ฉีดพ่นไรไก่ (คนเมือง)

7. ใบนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาผิวหนังวัวควายที่เป็นหนอง (กะเหรี่ยงแดง)

8. ชาวอินเดียนพื้นเมืองถือว่ายาสูบเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และมีการสูบบาเป็นประเพณีเพื่อแสดงความเป็นมิตร และใบยาสูบเป็นของที่มีราคาที่ใช้แทนเงินได้อีกด้วย

9. ยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของประเทศไทย เดิมจะใช้เฉพาะมวนบุหรี่สูบกันภายในประเทศ แต่ในปัจจุบันผลผลิตใบยาสูบเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญมากของไทย เพราะสามารถทำรายได้ให้กับประเทศถึงปีละ 2,500-3,000 ล้านบาท อีกทั้งผลผลิตของใบยาสูบยังมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของเกษตรกร และมีความสำคัญต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมการผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบ

ประเภทของของผลิตภัณฑ์ยาสูบ แก้

ผลิตภัณฑ์ยาสูบสามารถจำแนกตามการใช้งานออกได้เป็น 2 กลุ่ม ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดมีควัน และผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดไม่มีควัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดมีควัน (Smoked tobacco) สามารถจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ บุหรี่โรงงาน บุหรี่มวนเอง และผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น ๆ เช่น ซิการ์, ไปป์, ยาสูบที่สูบผ่านน้ำ, (ชิชา, ฮุกก้า, บารากู่) และอื่น ๆ เช่น บุหรี่ขี้โย (บุหรี่พื้นเมืองของชาวเหนือ), บุหรี่ชูรส (บุหรี่ที่มีรสชาติเลียนแบบผลไม้ รสหวาน สมุนไพร)

ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดไม่มีควัน (Smokeless tobacco) ได้แก่ ยาเส้นหรือยาเส้นปรุง (ใช้สำหรับอมหรือจุกทางปาก เคี้ยวหรือใช้เป็นส่วนผสมของหมากพลู), ยานัตถุ์, และบุหรี่ไฟฟ้า

โทษของยาสูบ แก้

1. สารนิโคตินในใบยาสูบ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนติดบุหรี่ โดยบุหรี่ที่วางขายตามท้องตลาดจะมีปริมาณของนิโคตินประมาณ 4-4.5% หากเข้าไปในร่างกายของคนสูบเพียงครั้งเดียว ก็สามารถทำให้คนสูบนั้นติดบุหรี่ได้ทันที ยิ่งถ้าเป็นผู้หญิงการติดบุหรี่ก็จะยิ่งง่ายกว่าผู้ชาย และยังเลิกได้ยากกว่าผู้ชายอีกด้วย เพราะปอดผู้หญิงมีขนาดเล็กกว่าผู้ชายนั่นเอง

2. ในสมัยก่อนเราจะใช้ยาสูบทำเป็นยาระงับประสาท ยาทำให้นอนหลับ ทำให้อาเจียน และขับเหงื่อ แต่ในปัจจุบันได้มีการค้นพบว่ามันมีสารที่เป็นพิษต่อร่างกายหลายชนิด การสูบบุหรี่ทำให้ไอและเจ็บคอ เนื่องจากลำคอและหลอดลมเกิดการอักเสบบวม ทำให้เกิดการเสพติด ทำให้ประสาทส่วนกลาง คือ หัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ หัวใจอ่อนและเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้ความจำเสื่อม ความดันโลหิตต่ำ หายใจอ่อน เหงื่อออกมากผิดปกติ และมีอาการมือสั่น แต่ในคนที่สูบเป็นประจำ จะไม่มีอาการเหล่านี้ เพราะร่างกายสามารถอ๊อกซิไดซ์นิโคตินได้พอสมควร โดยคนที่สูบซิกาแรควันละ 25 มวน จะทำให้เสียสีของเม็ดเลือดแดงไปประมาณ 25% ในคราวหนึ่ง

3. นิโคตินในระดับต่ำจะไปกระตุ้น Nicrotinic receptor แต่ในขนาดสูงจะไปปิดกั้น Nicrotinic receptor อาการที่พบจะซับซ้อน อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ กระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการสั่นหรือชักได้ โดยปกติจะมีฤทธิ์ช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล และเพิ่มระดับความรู้สึกเจ็บปวด

4. ผู้ที่ติดบุหรี่มักจะมีอาการไอ มีอาการหอบแห้งในลำคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด และหลอดลมอักเสบ

5. บุหรี่เป็นสารเสพติดที่ติดได้ง่ายยิ่งกว่าแอลกอฮอล์ โดยจัดเป็นสารสงบประสาท ระงับความอยากอาหาร เพิ่มน้ำตาลในเลือดเล็กน้อย ทำให้ประสาทเกี่ยวกับการรับรสเสียไป ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด และเป็นโทษต่อร่างกายนานับประการ เพราะถ้าทำการสกัดสารนิโคตินออกมาจากซิการ์เพียงมวนเดียว แล้วนำมาฉีดเข้าเส้นเลือดคน จะมีพิษถึงขนาดทำให้ตายได้เลย

6. ผลของนิโคตินจากการสูบบุหรี่จะเกิดผลกระทบต่อประสาทส่วนกลางภายใน 10 วินาที หากมีการเคี้ยวยาสูบจะมีผลของนิโคตินที่ทำให้เกิดเส้นเลือดตีบ เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หากกินเป็นเวลา 3-5 นาที จะทำให้เกิดผลต่อระบบประสาท CNS นอกจากนี้นิโคตินยังมีผลทำให้เบื่ออาหารและเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ประสาทรับรู้รสและกลิ่นเสียไป ปอดจะถูกทำลายหากสูบเป็นเวลานาน และจะเป็นสาเหตุของโคปอด โรคหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคหัวใจได้

7. ผลของนิโคตินหากเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หงุดหงิด มีอาการฉุนเฉียวง่าย ขาดสมาธิและนอนไม่หลับ

8. การสูบบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ พบว่าในบริเวณที่ลุกไหม้ จำนวน 5% ของนิโคตินจะถูกเผาไหม้เป็นสารอินทรีย์และไม่มีพิษ จำนวน 30% เป็นควันกระจายออกไป จำนวน 25% ถูกสูบเข้าไปในปากและหลอดลม ทำให้นิโคตินจับอยู่บริเวณปากและบางส่วนก็เข้าไปทางเส้นเลือด และจากส่วนที่เข้าไปนั้น 95% จะเข้าไปที่ปอด ซึ่งนอกจากนิโคตินแล้วยังมีสารสำคัญอีกพวก คือ ทาร์ (Tars) ซึ่งจะปรากฏอยู่ในรูปต่าง ๆ หลายชนิด ในขณะที่เผาไหม้ใบยาสูบและกระดาษ ซึ่งสารที่สำคัญ คือ Benzopyrine (เชื่อว่าเป็นสารที่ทำให้เซลล์เปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งได้)

9. ควันบุหรี่ตอนปลายที่เกิดการเผาไหม้และระเหย จะมีนิโคติน ทาร์ คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนน็อกไซด์ แอมโมเนียม ไฮโดรเจนซัลไฟต์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ล้วนเป็นสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปอด ถุงลม เยื่อบุกระเพาะ นิโคตินทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การบีบตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะทาร์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด

10. ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งที่ปอด กล่องเสียง เต้านม กระเพาะ ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร หลอดไต ตับอ่อน ไต มดลูก และเม็ดเลือดได้ และคนที่สูบบุหรี่จัดมักมีอายุสั้นเพราะป่วยด้วยโรคหลายโรค ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด หากมีการสูบบุหรี่ด้วยก็จะยิ่งมีโอกาสสูงในการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้ถึง 3 เท่า

11. นอกจากสารนิโคตินในบุหรี่ที่ทำให้คนติดกันอย่างงอมแงมแล้วเลิกบุหรี่บุหรี่ยังมีสารเคมีที่เป็นพิษอีกมากมาย เช่น 4-aminobiphenyl (ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ), Nitrosamines (ทำให้เกิดมะเร็งมากที่สุด), Hydrogen cyanide (ทำให้ปอดระคายเคือง), Carbon monoxide (ทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ) และในควันบุหรี่ยับพบสาร Benzo-a-pyrene, Benzene, Acrolein, Polonium, และสารตะกั่ว ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนเป็นสารพิษทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าผู้สูงอายุที่สูบบุหรี่ มักจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมองแตก ตาเป็นต้อ ผิวหนังเหี่ยวย่น และหากล้มกระดูกแตก แผลกระดูกก็จะสมานช้า

12. ควันบุหรี่ยังทำให้ผู้สูบเป็นโรคถุงลมปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง และทารกที่คลอดจากสตรีที่สูบบุหรี่มักมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ และแม่ที่สูบบุหรี่มักจะมีปัญหาในการตั้งครรภ์และการคลอดมากกว่าแม่ที่ไม่สูบบุหรี่เลย

13. ควันบุหรี่ใช่ว่าจะฆ่าเฉพาะคนที่สูบบุหรี่เท่านั้น เพราะการใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ก็สามารถทำให้ควันบุหรี่มีละอองพิษผ่านเข้าไปทำร้ายเยื่อหุ้มปอดและเยื้อเยื่อในปอดของคนใกล้ชิดได้ แม้ว่าควันพิษนั้นจะมีน้อยเพียง 1% ของคนที่สูบโดยตรงก็ตาม แต่จากสถิติการตายเพราะการสูดควันโดยทางอ้อมก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี

14. ในบุหรี่จะประกอบไปด้วยใบยาสูบหั่น น้ำมันดิน กระดาษสำหรับมวน ซึ่งจะมีก๊าซอยู่มากถึง 12 ชนิดด้วยกัน โดยชนิดนี้ร้ายแรงจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ไฮโดรไซอาไนด์ (CN) ส่วนนิโคตินเป็นสารที่มีอยู่ในใบยาสูบ น้ำมันดินที่มีอยู่ในบุหรี่ เมื่อสูบเข้าไปจะไปเกาะที่ผนังปอดและหลอดลม

15. การสูบบุหรี่ด้วยวิธีการเผาใบยาจะทำให้นิโคตินและอัลคาลอยด์ต่าง ๆ สลายตัว โดยวัตถุเหล่านี้จะทำให้เกิดเป็นพิษขึ้นในการสูบบุหรี่ และมีหลายคนแสดงว่าการสูบบุหรี่มีฤทธิ์ในการกล่อมประสาท แต่ไม่ใช่เป็นผลอันเนื่องมาจากฤทธิ์ของนิโคติน

16. คนที่ติดบุหรี่มากเมื่อไม่ได้รับนิโคติน จะเกิดอาการกระสับกระส่าย สมาธิสั้น นอนไม่หลับ เมื่อ 20 นาทีหลังจากการอดบุหรี่ ความดันโลหิตจะลดลง ชีพจรเต้นช้าลง และเมื่อผ่านไป 8 ชั่วโมง ระดับออกซิเจนในเลือดจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับปกติ แต่ในขณะเดียวกันระดับคาร์บอนมอนนอกไซด์ก็จะลดลงด้วย และหลังจากหยุดสูบบุหรี่ 2 วัน ระบบความรู้สึก การรับรสและกลิ่นต่าง ๆ จะทำงานได้ดีขึ้น และเมื่อผ่านไป 3 เดือน การเคลื่อนไหวของร่างกาย การทำงานของปอดก็จะดีขึ้นด้วย ยิ่งถ้าหากหยุดไปได้นานถึง 10 ปี โอกาสที่จะเป็นโรคต่าง ๆ ก็ลดลงถึง 50% แต่การจะทำได้ในขนาดนี้คนที่ติดบุหรี่จะต้องมีความตั้งใจ ความอดทน และความพยายามสูง จึงจะชนะยาเสพติดชนิดนี้ได้

17. อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายาสูบจะมีอันตรายและเป็นโทษต่อร่างกายสารพัด แต่ผลเหล่านี้จะเกิดช้า โดยอาจใช้ระยะเวลาเป็นสิบ ๆ ปี ทำให้หลาย ๆ คนไม่รู้สึกตระหนักถึงอันตรายของยาสูบ แต่ในปัจจุบันสังคมเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับโทษของบุหรี่กันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการห้ามสูบในที่สาธารณะ และห้ามเยาวชนสูบ รวมทั้งจำกัดการโฆษณาและให้พิมพ์คำเตือนถึงอันตรายบนซองบุหรี่ ฯลฯ

อ้างอิง แก้

จบอ้างอิง