ร่างรัฐบัญญัติชนโลกบาล

(เปลี่ยนทางจาก Jan Lokpal Bill)

ร่างรัฐบัญญัติชนโลกบาล (อังกฤษ: Jan Lokpal Bill) หรือชื่อเต็มว่า ร่างรัฐบัญญัติเพื่อจัดให้มีการก่อตั้งสถาบันโลกบาลสำหรับสอบสวนข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตและสำหรับการทั้งหลายที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องดังกล่าว (Bill to provide for the establishment of the institution of Lokpal to inquire into allegations of corruption against certain public functionaries and for matters connected therewith)[1] หรือ ร่างรัฐบัญญัติผู้ตรวจการแผ่นดินของพลเมือง (Citizen's Ombudsman Bill) เป็นร่างกฎหมายที่นักกิจกรรมประชาสังคมกลุ่มหนึ่งจัดทำขึ้น เพื่อให้มีการก่อตั้ง "ชนโลกบาล" หรือหน่วยงานอิสระสำหรับสืบคดีทุจริตขึ้น[2]

ร่างรัฐบัญญัตินี้มุ่งหมายจะยับยั้งการทุจริต ทดแทนความเสียหายของพลเมือง และคุ้มครอง "ผู้แฉ" (whistle-blower) การทุจริต โดยให้มี "ชนโลกบาล" ขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าว คำว่า "ชนโลกบาล" นั้น L. M. Singhvi สมาชิกรัฐสภา บัญญัติขึ้นระหว่างการอภิปรายใน ค.ศ. 1963 และคำว่า "ชน" ในชื่อดังกล่าว หมายความถึง หมู่ชน ซึ่งสื่อว่า พัฒนาการที่นำมาสู่ร่างรัฐบัญญัติฉบับนี้เป็นการริเริ่มของ "พลเมืองทั่วไป" ผ่านประชาพิจารณ์ที่มีนักกิจกรรมคอยผลักดันและปราศจากส่วนร่วมของภาครัฐ[3]

ใน พ.ศ. 2554 นักเคลื่อนไหวทางสังคม อันนา ฮาซาเร เริ่มขบวนการสัตยาเคราะห์โดยเริ่มการอดอาหารไม่จำกัดเวลาในกรุงนิวเดลี เพื่อเรียกร้องให้ผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ขบวนการนี้ได้รับความสนใจจากสื่อ และผู้สนับสนุนนับหลายแสนคน[4] หลังการอดอาหารประท้วงเป็นเวลาสี่วันของฮาซาเร นายกรัฐมนตรีอินเดีย มานโมฮัน ซิงห์ ระบุว่า ร่างกฎหมายจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในสมัยประชุมฤดูมรสุม พ.ศ. 2554 ของรัฐสภา[5] คณะกรรมการอันประกอบด้วยรัฐมนตรีห้าคนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมอีกห้าคนพยายามร่างร่างกฎหมายประนีประนอม โดยรวมร่างกฎหมายสองฉบับเข้าด้วยกัน แต่ไม่สำเร็จ รัฐบาลอินเดียเดินหน้าเสนอร่างกฎหมายที่ตนร่างขึ้นในรัฐสภา ซึ่งนักเคลื่อนไหวปฏิเสธบนเหตุผลที่ว่า ร่างกฎหมายนั้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ[6]

อ้างอิง

แก้
  1. "The Lokpal Bill Draft version, June 21, 2011" (PDF). 21 June 2011. สืบค้นเมื่อ 16 August 2011.
  2. "What is the Jan Lokpal Bill, why it's important". NDTV. 16 August 2011. สืบค้นเมื่อ 17 August 2011.
  3. "Support for Anna Hazare grows online". The Times of India. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-17. สืบค้นเมื่อ 16 August 2011.
  4. How Arvind Kejriwal, the architect of Anna Hazare’s anti-corruption campaign, brought the rage of an indignant nation to the government’s door เก็บถาวร 2011-08-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Caravan, 20 August 2011
  5. "Anna Hazare's anti-corruption movement: Time-line". Mathrubhumi. 9 Apr 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-24. สืบค้นเมื่อ 2011-08-29.
  6. "Lokpal Bill tabled, Anna sets a copy on fire". NDTV. 4 August 2011. สืบค้นเมื่อ 17 August 2011.