เฮลิโคเนีย

(เปลี่ยนทางจาก Heliconia)
Heliconia
Heliconia latispatha
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Liliopsida
ชั้นย่อย: Commelinidae
อันดับ: Zingiberales
วงศ์: Heliconiaceae
สกุล: Heliconia
L.

เฮลิโคเนีย (อังกฤษ: Heliconia; ชื่อวิทยาศาสตร์: Heliconia spp.) เป็นสกุลพันธุ์ไม้ที่มีหลายสายพันธุ์มีชื่อภาษาไทยต่าง ๆ กัน เช่น ธรรมรักษา ก้ามกุ้ง ก้ามกั้ง สร้อยกัทลี เป็นไม้เขตร้อน ที่นิยมใช้เป็นไม้ตัดดอก ไม้กระถาง และตกแต่งสถานที่ ทั้งในและต่างประเทศมีมากมายหลายพันธุ์ เป็นไม้อวบน้ำยืนต้น มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่าเหง้า ส่วนของลำต้นเหนือดินเรียกว่า “ต้นเทียม” (pseudostem) ประกอบด้วยส่วนของลำต้น (stem) และใบเมื่อเจริญเต็มที่ มักมีช่อดอก (infloescemce) แทงออกที่ส่วนกลางของต้นเทียม ลำต้นประกอบด้วยกาบใบ (leaf sheath) วางซ้อนสลับไปมา

เฮลิโคเนียมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาและหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน โดยชื่อ เฮลิโคเนียนำมาจากชื่อ เฮลิคอน ที่เป็นภูเขาสถิตของเทพธิดา 9 พระองค์ที่เรียกว่า มิวส์ (Muses) ซึ่งมีความงามเป็นอมตะเช่นเดียวกับ เฮลิโคเนียที่มีอายุยืนยาว [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

แก้

การเรียงตัวของใบ จะเรียงสลับตรงกันข้ามในระนาบเดียวกัน มีทั้งใบที่คล้ายกล้วย คือมีก้านใบยาว และอยู่ในแนวตั้ง, ใบที่คล้ายขิง คือ มีก้านใบสั้น และใบอยู่ในแนวนอน และใบที่คล้ายพุทธรักษา คือมีก้านใบสั้น หรือยาวไม่มากนัก และใบทุกมุมป้านกับลำต้น

ดอกเฮลิโคเนียจะออกเป็นช่อ สะดุดตา และมีสีสันสวยงาม ช่อดอกมักแทงออกกลางลำต้นเทียม และเป็นส่วนสุดท้ายของการเจริญ. ช่อดอกอาจตั้ง (upright) หรือห้อย (pendent) แล้วแต่ชนิด ส่วนของช่อดอกจะประกอบด้วย ก้านช่อดอก (peduncle) เป็นส่วนต่อระหว่างโคนใบสุดท้ายกับโคนกลีบประดับกลีบแรก กลีบประดับ (inflorescence bract, cincinal bract) เป็นส่วนที่พัฒนามาจากใบ ก้านต่อระหว่างกลีบประดับ (rachis) ส่วนนี้อาจมีสี และผิวแตกต่างจากกลีบประดับ และอาจตรงหรือคดไปมาได้ (zigzag) แล้วแตชนิด

ผลมีลักษณะคล้ายผลท้อ (drupe) มีเนื้อนุ่ม และมีชั้นหุ้มเมล็ดที่แข็ง ผลสุกจะมีสีน้ำเงิน ถ้าเป็นชนิดที่พบในทวีปอเมริกา และสีส้มในชนิดที่พบในหมู่เกาะแปซิฟิก

การปลูกเลี้ยง

แก้

เฮลิโคเนีย สามารถเจริญเติบโตได้ทั้งในที่ร่มรำไรถึงกลางแจ้ง และเจริญเติบโตได้ดีในที่ลุ่มและชื้นแฉะ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด, แยกกอ (การแยกก่อที่ให้ได้ผลที่ดีควรมีทั้งต้นแก่และหน่อติดไปด้วยกัน) หรือเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. พัฒน์ พิชาน,ไม้ประดับสวรรค์ เฮลิโคเนีย,ISBN 978-974-13-4720-9