แดร์ริงเด็สนีเบอลุงเงิน
แดร์ริงเด็สนีเบอลุงเงิน (เยอรมัน: Der Ring des Nibelungen) หรือ แหวนของนีเบอลุง เป็นปกรณัมชุดของริชชาร์ท วากเนอร์ คีตกวีชาวเยอรมันซึ่งใช้เวลาประพันธ์ยาวนาถึง 26 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1848 จนถึง 1874 โดยมีเค้าโครงเรื่องมาจากเทวตำนานนอร์สและมหากาพย์ นีเบอลุงเงินลีท
วากเนอร์แต่งอุปรากรเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยความมั่นหมายให้เป็น "สมบูรณศิลปกรรม" (Gesamtkunstwerk) หมายถึงเป็นศิลปกรรมที่มีความสมบูรณ์แบบเบ็ดเสร็จทุกด้าน ความมุ่งหมายของเขาประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม แหวนของนีเบอลุง ไม่เพียงเป็นอุปรากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเยอรมัน แต่ยังเป็นอุปรากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกจนได้รับยกย่องเป็น "มหาอุปรากร" (Großoper)
อุปรากรเรื่องนี้ต้องใช้เวลาแสดงกว่าสิบห้าชั่วโมง ประกอบด้วยสี่ภาค ผู้แต่งระบุว่าเป็นบุพภาคและไตรภาค อันได้แก่:
- Das Rheingold (ขุมทองแม่น้ำไรน์)
- Die Walküre (ธิดาวัลคือเรอ)
- Siegfried (ซีคฟรีท)
- Götterdämmerung (เทวาอัสดง)
แหวนของนีเบอลุง มีเรื่องราวเกี่ยวกับคนแคระเผ่านีเบอลุงกับแหวนวิเศษ, การเนรเทศวัลคือเรอนามว่าบรึนฮิลเดอ,โศกนาฏกรรมของซีคฟรีทกับบรึนฮิลเดอ
ตัวละคร
แก้ทวยเทพ | มนุษย์ | วัลคือเรอ/ วัลคีรี่ | อื่นๆ |
---|---|---|---|
|
เผ่าเวิลซุง
ตระกูลไนดิง
นครกีบิชชุง
|
|
นางอัปสรแม่น้ำไรน์
คนแคระนีเบอลุง |
เนื้อเรื่อง
แก้บุพภาค: ขุมทองแม่น้ำไรน์
แก้ณ แม่น้ำไรน์ ธิดาอัปสรนามว่าโวคลินเดอ (Woglinde), เว็ลกุนเดอ (Wellgunde) และฟลอสฮิลเดอ (Flosshilde) กำลังระบำร่ายรำอย่างสนุกสนาน คนแคระเผ่านีเบอลุงนามว่าอัลเบอริช (Alberich) ปรากฏตัวและพยายามเกี้ยวพาราสีพวกหล่อน พวกธิดาอัปสรดูถูกรูปร่างหน้าตาของอัลเบอริช อัลเบอริชโกรธจึงวิ่งไล่ตาม ท้ายที่สุดพวกธิดาอัปสรก็หายตัวไป อัลเบอริชหยุดพักด้วยความเหนื่อยล้า เมื่อตกกลางคืน เขาสังเกตเห็นแสงอร่าม เมื่อเดินไปสำรวจก็พบทองคำและกลุ่มธิดาอัปสร อัลเบอริชจึงสอบถาม พวกธิดาอัปสรอธิบายว่านี่เป็นทองคำที่เสด็จพ่อให้พวกหล่อนเฝ้ายาม เพราะมันสามารถนำไปหลอมทำเครื่องประดับที่มีอำนาจครองพิภพ แต่ผู้ที่จะหลอมสำเร็จต้องเป็นคนที่ละทิ้งความรัก พวกธิดาอัปสรบอกว่าไม่มีอะไรต้องกลัวต่อให้บอกความจริงกับคนแคระหื่นกามอย่างอัลเบอริช อัลเบอริชได้ยินดังนั้นจึงปฏิเสธความรัก และตัดสินใจขโมยทองคำ
จอมเทพโวทัน (Wotan) กำลังบรรทมอยู่บนยอดเขาลูกหนึ่ง โดยมีปราสาทอันตระการตั้งอยู่เบื้องหลัง แล้วจอมเทพก็ถูกปลุกโดยจอมเทพีฟริกกา (Fricka) ผู้เป็นมเหสี และเตือนถึงสัญญาที่โวทันทำไว้กับยักษ์สองตนชื่อฟาโซลท์กับฟาฟเนอร์ (Fasolt & Fafner) โวทันจ้างให้ยักษ์สองตนสร้างปราสาทดังกล่าวให้ แลกกับการจะมอบสุริยเทพีไฟรอา (น้องสาวของฟริกกา) ให้แก่ยักษ์สองพี่น้อง ฟริกกาเป็นห่วงน้องสาวของตนเองจนนั่งไม่ติด แต่จอมเทพโวทันก็ยังคงสบายใจ เพราะเชื่อว่าอัคคีเทพผู้เจ้าเล่ห์อย่างโลเกอ (Loge) จะสามารถคิดอุบายแก้สถานการณ์นี้ ต่อมา ฟาโซลท์กับฟาฟเนอร์ก็ไล่ตามสุริยเทพีไฟรอา และเกลี้ยกล่อมให้นางทำใจเสีย ยักษ์สองพี่น้องชี้ว่าจอมเทพทำพันธสัญญากับพวกตนโดยสลักไว้บนหอกของพระองค์ ดังนั้นหากจอมเทพผิดคำสัญญา พระองค์ก็จะสูญสิ้นอำนาจ ระหว่างนั้น อสุนีเทพโดนเนอร์ (Donner) และวสันตเทพโฟร (Froh) โผล่มาขัดขวางยักษ์สองพี่น้อง โวทันไม่ยอมให้โดนเนอร์และโฟรใช้กำลังทำลายพันธสัญญา และผัดผ่อนให้รออัคคีเทพโลเกอมาถึงเสียก่อน
อัคคีเทพโลเกอมาถึงก็เกริ่นนำว่าสำหรับผู้ชาย ไม่มีสิ่งใดมีค่ากว่าความรัก ดังนั้นสำหรับยักษ์สองพี่น้อง จึงไม่น่ามีสิ่งใดที่จะมีค่าไปกว่าสุริยเทพีไฟรอา หากจะมีสิ่งใดที่มีค่ากว่าสุริยเทพี สิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่มีค่ามากพอที่จะทำให้ผู้ชายคนหนึ่งยอมสละซึ่งความรัก แล้วโลเกอก็แย้มว่าเขารู้จักคนแคระผู้หนึ่งที่ยอมทิ้งความรักเพื่อสิ่งของบางอย่าง คนแคระที่ว่าก็คืออัลเบอริชผู้ทิ้งความรักเพื่อขโมยทองคำแห่งแม่น้ำไรน์ที่สามารถหลอมเป็นวัตถุวิเศษทรงอำนาจที่ทุกคนปรารถนา เมื่อยักษ์สองพี่น้องได้ฟังดังนั้น ก็ยินยอมจะขอรับทองคำเป็นค่าจ้างแทนที่สุริยเทพีไฟรอา ว่าแล้วยักษ์สองพี่น้องก็จากไปโดยพาตัวไฟรอาไปด้วยเพื่อเป็นหลักประกัน พร้อมบอกให้ทวยเทพนำทองคำของคนแคระในจำนวนที่สามารถปิดบังรัศมีของไฟรอา มาให้พวกเขาภายในวันนี้ ไม่เช่นนั้นไฟรอาจะต้องอยู่กับพวกเขาตลอดกาล
ณ นีเบิลไฮม์ (Nibelheim) นครใต้พิภพของเผ่านีเบอลุง อัลเบอริชใช้อำนาจของแหวนวิเศษทำให้คนเคระห์ทั้งหมดรับใช้ตนเอง เขายังบังคับให้น้องชายของตนเองชื่อว่ามีเมอ (Mime) ใช้ทองคำสร้างหมวกทาร์นเฮล์ม (Tarnhelm) ซึ่งมีอำนาจจำแลงกาย และแล้วในช่วงนี้เอง โวทันและโลเกอมาถึงนีเบิลไฮม์ในฐานะแขกแปลกหน้าผู้มาเยือน และได้พูดคุยกับมีเมอ มีเมอเล่าให้ทั้งสองฟังถึงการปกครองอันโหดร้ายของอัลเบอริช ภายหลัง อัลเบอริชกลับมาถึง ก็อวดอ้างกับแขกแปลกหน้าว่าจะครองโลกด้วยแหวนวงนี้ โลเกอถามว่าเวลาหลับจะป้องกันตัวอย่างไร? อัลเบอริชตอบว่าตนมีหมวกที่ทำให้ล่องหนหรือแปลงกายได้ โลเกอขอรับชมเป็นขวัญตา อัลเบอริชแปลงเป็นพญางู โลเกอแสร้งชื่นชมและถามว่าแปลงเป็นสัตว์ตัวเล็กมากได้ไหม? อัลเบอริชจึงแปลงเป็นคางคก ทันใดนั้น โวทันกับโลเกอจึงจับตัวอัลเบอริชมัดแขนขาและพาตัวขึ้นมาบนผืนดิน เทพทั้งสองบังคับให้อัลเบอริชยินยอมมอบทองคำทั้งหมดเพื่อแลกกับอิสรภาพ อัลเบอริชยินยอมมอบทองคำ แต่ขัดขืนไม่ยอมส่งแหวนวิเศษ จอมเทพโวทันจึงตัดนิ้วอัลเบอริชและนำแหวนมาสวมไว้เอง อัลเบอริชจึงสาปแหวนว่าใครก็ตามที่สวมแหวนนี้ จะต้องมีชีวิตอย่างหวาดระแวง และจะถูกแย่งแหวนและโดนฆ่าในที่สุด
ทองคำที่ยึดมา ไม่สามารถปิดบังรัศมีของไฟรอาจนมิดชิด เหลือแต่เพียงช่องว่างขนาดเท่าดวงตา ยักษ์ฟาฟเนอร์เห็นแหวนที่นิ้วของจอมเทพ จึงเรียกร้องจะเอาแหวน จอมเทพจึงยอมมอบแหวนให้แก่ฟาฟเนอร์ พวกยักษ์ปล่อยตัวประกันและเริ่มแบ่งสมบัติ แต่แบ่งไม่ลงตัว ฟาฟเนอร์จึงทุบฟาโซลท์จนตาย และใช้หมวกทาร์นเฮล์มแปลงกายเป็นมังกรและคุ้มครองสมบัติกับแหวนอยู่ในป่าลึก
ปฐมภาค: ธิดาวัลคือเรอ
แก้ชายแปลกหน้าหลบพายุเข้ามาในกระท่อมหลังหนึ่งใกล้ต้นไม้ยักษ์ในสภาพไร้อาวุธและบาดเจ็บเกินจะไปต่อ เขาพบกับซีคลินเดอ (Sieglinde) นางแนะนำตัวว่าเป็นภริยาของชายที่ชื่อฮุนดิง (Hunding) ทั้งสองเริ่มมีความสนใจต่อกัน แต่ก็ถูกขัดจังหวะโดยสามีของนางที่ชื่อฮุนดิง ฮุนดิงเห็นชายแปลกหน้าสวมใส่เสื้อคลุมขนหมาป่า จึงต้อนรับอย่างดิบดีโดยเรียกว่า "พ่อหนุ่มหมาป่า"
ชายแปลกหน้าอธิบายว่าตนเองเคยเติบโตในป่า อยู่กับพ่อแม่และน้องสาวฝาแฝดอีกคน พ่อของเขามีนามว่า "วอล์ฟ" (Wolf) เป็นคนที่มีศัตรูไปทั่ว วันหนึ่งเมื่อเขากลับถึงบ้าน ก็พบว่าบ้านถูกเผาวอด แม่ถูกฆ่า พ่อกับน้องสาวก็หายตัวไป ที่พบมีเพียงเสื้อคลุมขนหมาป่าของบิดาตกอยู่ในป่า ตัวเองเลยต้องระหกระเหินคนเดียวนับแต่นั้น ไม่กี่วันก่อนเขาเห็นหญิงสาวถูกฉุดลาก เลยเข้าไปช่วยหล่อนและฆ่าชายพวกนั้น แต่มารู้ทีหลังว่าผู้ตายคือพี่ชายและญาติที่ลากเธอไปแต่งงาน ครอบครัวนั้นเลยตามล่าเขา เขาต่อสู้จนได้รับบาดเจ็บ สูญเสียดาบ และหลบหนีมา ฮุนดิงเปิดเผยว่าตนเองคือหนึ่งในคนที่กำลังตามล่าชายแปลกหน้า ฮุนดิงบอกว่าคืนนี้บ้านหลังนี้จะต้อนรับพ่อหนุ่มหมาป่า แต่วันพรุ่งนี้ต้องสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง
เมื่ออยู่คนเดียว ชายแปลกหน้าตัดพ้อถึงบิดา บิดาของเขาเคยสัญญาว่าจะมอบดาบให้ในยามที่เขาต้องการที่สุด แล้วไหนล่ะดาบ? แล้วซีคลินเดอก็เข้ามาหาเขา เธอวางยานอนหลับสามีเพื่อจะได้พบชายแปลกหน้าเพียงลำพัง เธอระบายความอัดอั้นว่าเธอเองก็เป็นคนที่ถูกบังคับให้แต่งงานเหมือนกัน นางเล่าว่าในวันแต่งงานของนาง มีชายแก่น่ากลัวคนหนึ่งปักดาบไว้ที่ต้นไม้ยักษ์ แล้วประกาศว่ามีเพียงวีรบุรุษเท่านั้นที่จะดึงออก แต่ไม่เคยมีใครดึงออก ทั้งสองโอบกอดกัน แล้วซีคลินเดอก็เผยว่าตนเองคือน้องสาวที่พลัดพรากของชายแปลกหน้า นางเรียกเขาด้วยชื่อจริงว่าซีคมุนด์ (Siegmund) นางเชื่อว่าซีคมุนด์คือวีรบุรุษที่จะมาปลดปล่อยเธอจากฮุนดิง ซีคมุนด์ดึงดาบอย่างง่ายดายและตั้งชื่อมันว่า "ดาบโนทุง" (Nothung) ที่แปลว่าดาบปรารถนา แล้วทั้งสองก็บรรเลงรักกัน
บนสันเขาสูง จอมเทพผู้เป็นบิดาของซีคมุนด์ บัญชาให้ธิดาวัลคือเรอนามว่าบรึนฮิลเดอ (Brünhilde) ปกป้องซีคมุนด์ในการต่อสู้วันรุ่งขึ้น แต่แล้วเทพีฟริกกาก็ปรากฏตัว นางในฐานะเทพีแห่งครอบครัวต้องการให้ซีคมุนด์และซีคลินเดอได้รับโทษข้อหาคบชู้และสมสู่ร่วมสายโลหิต ทั้งสองยกเหตุผลมาโต้เถียงกัน แต่จอมเทพเถียงสู้ไม่ได้ จึงยอมตกลงว่าจะไม่ปกป้องซีคมุนด์ และจำใจสั่งบรึนฮิลเดอทำให้ฮุนดิงเป็นฝ่ายชนะ
บรึนฮิลเดอแจ้งซีคมุนด์เกี่ยวกับความตายที่กำลังมาเยือน แต่นางพาซีคลินเดอไปวัลฮัลลาด้วยไม่ได้ ซีคมุนด์ไม่ยอมเป็นฝ่ายตาย เขาเชื่อว่าดาบโนทุงจะนำมาซึ่งชัยชนะ แต่บรึนฮิลเดอแจ้งว่าดาบโนทุงไม่มีพลัง ซีคมุนด์จึงขู่ว่าจะฆ่าซีคลินเดอและฆ่าตัวตายตาม บรึนฮิลเดอสงสารจึงขัดคำสั่งจอมเทพ ในการประลอง ซีคมุนด์ได้เปรียบเหนือฮุนดิงด้วยอำนาจของบรึนฮิลเดอ แต่แล้วจอมเทพก็ปรากฏตัวและใช้หอกทำลายดาบของซีคมุนด์จนแตกละเอียด ฮุนดิงแทงซีคมุนด์ถึงแก่ความตาย บรึนฮิลเดอเก็บเศษซากของดาบโนทุงและขี่ม้าหนีไปพร้อมกับซีคลินเดอ จากนั้นจอมเทพก็ฆ่าฮุนดิงและไล่ตามบรึนฮิลเดอ
บรรดาวัลคือเรอรวมตัวบนยอดเขาแห่งหนึ่ง แต่ละนางกำลังอุ้มร่างไร้ลมหายใจของบรรดาวีรชนที่ตายในการรบ บรึนฮิลเดอมาถึงพร้อมกับซีคลินเดอและร้องขอความช่วยเหลือจากเหล่าพี่น้อง แต่ไม่มีใครกล้าขัดคำสั่งจอมเทพ ซีคลินเดอกล่าวว่าถ้าไม่มีซีคมุนด์ นางก็ไม่อยากมีชีวิตต่อ บรึนฮิลเดอแจ้งว่าซีคลินเดอตั้งท้องกับซีคมุนด์ ขอให้นางมีชีวิตต่อเพื่อเห็นแก่เด็ก และขอให้ตั้งชื่อเด็กว่าซีคฟรีท (Siegfried) บรึนฮิลเดอมอบเศษซากดาบโนทุงให้แก่นาง เมื่อซีคลินเดอจากไป จอมเทพก็เดินทางมาถึงพร้อมความพิโรธ ทรงริบฤทธิ์เดชของบรึนฮิลเดอเป็นเพียงหญิงมนุษย์ นางจะต้องหลับไหลอยู่บนภูเขาจนกว่าจะมีบุรุษมาพบนาง แล้วจอมเทพก็บันดาลให้นางหลับไหลอยู่บนหินก้อนหนึ่ง และรับสั่งให้อัคคีเทพโลเกอเสกเปลวไฟนิรันดร์คลุมรอบภูเขาเอาไว้
มัชฌิมภาค : ซีคฟรีท
แก้ในป่าลึกภายในหุบเขา ซีคฟรีทกลับจากการเที่ยวเล่นในป่าพร้อมกับดาบที่ทำพังอีกแล้ว ซีคฟรีทตำหนิคนแคระนามว่ามีเมอ ว่าไม่มีปัญญาทำดาบดีๆ ทั้งสองมีปากเสียง มีเมอตัดพ้อว่าเลี้ยงดูซีคฟรีทมาตั้งแต่เกิด ซีคฟรีทไม่เชื่อว่ามีเมอคือพ่อที่แท้จริงของตน เพราะพละกำลังต่างกันลิบลับ จึงเค้นเอาความจริง มีเมอสารภาพว่าเขาพบกับหญิงนามว่าซีคลินเดอในป่า นางคลอดลูกและเสียชีวิต มีเมอจึงเก็บซีคฟรีทมาเลี้ยง มีเมอเอาเศษซากดาบโนทุงมาแสดง ซึ่งเป็นดาบของบิดาที่แท้จริง ซีทฟรีดสั่งให้มีเมอตีดาบโนทุงขึ้นมาใหม่จากเศษซากเดิม แล้วก็โกรธหัวเหวี่ยงออกจากบ้าน มีเมอรู้สึกอับจนหนทาง เขาเก็บบุตรมนุษย์มาเลี้ยงเพื่อหวังให้จัดการมังกร แล้วตนเองจะได้ครอบครองแหวน แต่ตอนนี้ ตนเองกลับไม่มีปัญญาสร้างดาบที่จะใช้ฆ่ามังกร
ชายแก่คนหนึ่งปรากฏตัวที่หน้าบ้านและแนะนำตัวว่าเขาเป็นนักพเนจร ขอมาแวะพักสักครู่ เพื่อเป็นการตอบแทน ชายแก่จะตอบคำถามสามข้อ มีเมอจึงถามว่า ชื่อของเผ่าที่จอมเทพรักใคร่ที่สุดแต่ถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายที่สุด, ชื่อของดาบที่สามารถสังหารมังกรฟาฟเนอร์ และชื่อของผู้ที่สามารถตีดาบนั้น ชายแก่ตอบตามลำดับว่า "เผ่าเวิลซุง" (เผ่าของมารดาของซีคมุนด์กับซีคลินเดอ), "ดาบโนทุง" และ "ผู้ไม่รู้จักกลัว" แล้วชายแก่ก็จากไป มีเมอไม่มีปัญหากับสองคำตอบแรก แต่คำตอบสุดท้ายทำเอาเขาหัวเสียทีเดียว
ซีคฟรีทกลับมาที่บ้าน แล้วถามหาดาบที่สั่งไว้ มีเมอบอกว่าตนหมดปัญญาแล้ว แล้วมีเมอก็นึกได้ว่า "ผู้ไม่รู้จักกลัว" คงหมายถึงซีคฟรีท สิ่งเดียวที่ซีคฟรีทกลัวคือตนเอง นักพเนจรคงทำนายไว้ว่าในอนาคต มีเมอจะถูกซีคฟรีทฆ่า เมื่อมีเมอคิดได้ดังนั้นจึงบอกซีคฟรีทว่า ทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งคือความกลัว ชายหนุ่มมีท่าทางสนใจมาก(เพราะไม่รู้ว่าความกลัวหมายถึงอะไร) มีเมอจึงบอกว่างั้นจะพาไปหามังกรฟาฟเนอร์เพื่อสอนให้รู้จักความกลัว ชายหนุ่มจึงลงมือตีดาบโนทุงด้วยตนเอง ในเวลาเดียวกัน มีเมอก็แอบปรุงยาพิษเพื่อใช้กับซีคฟรีทหลังฆ่ามังกร และแล้วชายหนุ่มก็ตีดาบโนทุงสำเร็จ
ในคืนเดียวกัน นักพเนจรปรากฏตัวต่อหน้าอัลเบอริช พี่ชายของมีเมอ ซึ่งเฝ้ารออยู่หน้าปากถ้ำมังกรมาตลอดเพื่อรอให้ใครสักคนมาจัดการมังกร แล้วตนเองจะได้ครอบครองแหวนอีกครั้ง อัลเบอริชเห็นนักพเนจรก็รู้ว่านั่นคือจอมเทพ จอมเทพบอกว่าตนไม่ได้จะมาแทรกแซง แค่มาสังเกตการณ์ พร้อมบอกอัลเบอริชให้ระวังมีเมอเอาไว้ จอมเทพปลุกฟาฟเนอร์และเตือนว่ากำลังจะมีวีรบุรุษหนุ่มมาฆ่าเขา อัลเบอริชบอกให้ฟาฟเนอร์ทิ้งแหวนเสีย ไม่งั้นจะโดนฆ่า ฟาฟเนอร์ไม่สนใจและหลับต่อ อัลเบอริชและนักพเนจรเดินทางจากไป
วันต่อมา เมื่อซีคฟรีทไปถึงปากถ้ำก็ได้ยินเสียงนกร้องเป็นทำนองไพเราะ จึงเป่าขลุ่ยเลียนเสียงแต่ไม่เหมือน จึงลองด้วยแตรเขาสัตว์ก็ยังไม่เหมือนอีก ฟาฟเนอร์ตื่นและออกมาจากถ้ำ หลังพูดคุยกันสักพัก ทั้งสองก็ต่อสู้กัน ซีคฟรีทสามารถแทงดาบโนทุงที่กลางใจของฟาฟเนอร์ เลือดของมังกรเปื้อนตัวเขายกเว้นด้านหลัง มังกรเตือนชายหนุ่มเกี่ยวกับคำสาปแห่งแหวนแล้วก็สิ้นใจ ซีคฟรีทเลียนิ้วที่เปื้อนเลือดมังกรแล้วพลันเขาก็เข้าใจภาษานก เลือดมังกรทำให้เขาอ่านใจมีเมอได้ด้วย เมื่อเห็นว่ามีเมอเอายาพิษมาให้ดื่ม ซีคฟรีทจึงสังหารมีเมอด้วยความรังเกียจ ด้วยเหตุฉะนี้ ซีคฟรีทจึงได้ครอบครองหมวกทาร์นเฮล์มและแหวนวิเศษ ซีคฟรีทอยู่โดดเดี่ยวกลางธรรมชาติ ฝูงนกเล่าให้ซีคฟรีทฟังว่ามีชาวสวรรค์หลับไหลอยู่บนภูเขากลางทะเลเพลิง ชายหนุ่มสงสัยว่าชาวสวรรค์จะทำให้เขารู้จักความกลัวได้ไหม จึงตามฝูงนกไปยังภูเขา
ซีคฟรีทมาถึงตีนเขาก็พบกับนักพเนจร นักพเนจรถามคำถามชายหนุ่ม ชายหนุ่มไม่รู้ว่าอีกฝ่ายคือจอมเทพ คิดว่าเป็นชายแก่ธรรมดาจึงตอบกลับอย่างโอหัง นักพเนจรขวางซีคฟรีทจึงเกิดการต่อสู้กัน ซีคฟรีทใช้ดาบโนทุงทำลายหอกของนักพเนจร(เล่มเดียวกับที่เคยทำลายดาบโนทุง)จนแตกเป็นเสี่ยงๆ นักพเนจรเห็นดังนั้นก็เข้าใจว่ายุคแห่งการปกครองโดยทวยเทพสิ้นสุดแล้ว จึงเก็บเศษซากหอกและจากไปโดยสงบ ซีคฟรีทมาถึงยอดเขาและพบคนในชุดเกราะนอนหลับไหลอยู่ ชายหนุ่มไม่เคยเห็นสตรีมาก่อนจึงเข้าใจว่าคนในชุดเกราะเป็นผู้ชาย เมื่อเขาถอดชุดเกราะของอีกฝ่ายออก ความงดงามของบรึนฮิลเดอก็ทำให้เขาตกตะลึง ชายหนุ่มคิดว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ชายที่งดงามอะไรเช่นนี้ ชายหนุ่มจุมพิตอีกฝ่ายเพื่อปลุกจากนิทรา ในตอนแรกนางปฏิเสธรักจากซีคฟรีท เพราะความรักกับมนุษย์จะทำให้ความเป็นอมตะของเธอสิ้นสุดลง แต่สุดท้าย เธอก็ยอมรับรักจากซีคฟรีท และครองรักกันอย่างมีความสุข
ปัจฉิมภาค: เทวาอัสดง
แก้ซีคฟรีทได้ครองรักกับบรึนฮิลเดออย่างมีความสุข วันหนึ่งซีคฟรีทต้องการออกไปผจญโลกภายนอก จึงร่ำลาภรรยาและสัญญาว่าจะรักนางเพียงผู้เดียว พร้อมสวมแหวนวิเศษให้นางเป็นของดูต่างหน้า แล้วจึงออกเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ
ริมแม่น้ำไรน์มีนครแห่งหนึ่งนามว่ากีบิชชุง ซึ่งถูกปกครองโดยกษัตริย์กุนเทอร์ (Gunther) พระองค์มีขนิษฐาร่วมบิดามารดานามว่ากูทรูเนอ (Gutrune) และมีน้องชายต่างบิดานามว่าฮาเกิน (Hagen) ซึ่งพ่อของฮาเกินก็คืออัลเบอริช โดยที่กษัตริย์กุนเทอร์และขนิษฐากูทรูเนอยังโสดทั้งคู่ ฮาเกินต้องการครองแหวนวิเศษซึ่งเคยเป็นของบิดาตน จึงถวายคำแนะนำองค์กษัตริย์และพระขนิษฐาว่าสมควรที่จะทั้งสองจะหาคู่อภิเษกสมรสได้แล้ว และบนปฐพีนี้ก็ไม่มีผู้ใดคู่ควรกับองค์กษัตริย์และพระขนิษฐามากยิ่งกว่านางฟ้าตกสวรรค์นามว่าวัลคือเรอ กับยอดวีรบุรุษนามว่าซีคฟรีท ตามลำดับ
กษัตริย์กุนเทอร์ไม่ทราบว่าซีคฟรีทกับบรึนฮิลเดอร์เป็นคู่รักกัน จึงเห็นด้วยกับแผนการของเสนาบดีฮาเกิน ฮาเกินจึงลวงซีคฟรีทเข้ามาในวังและวางยาเสน่ห์จนเขาลืมภรรยาและเมารักพระขนิษฐา ซีคฟรีทสาบานเป็นพี่น้องกับกษัตริย์กุนเทอร์ และสัญญาว่าจะเอาตัวนางฟ้าตกสวรรค์มาถวายเป็นชายา
ซีคฟรีทเดินทางกลับไปยังภูเขาอัคคีโดยใช้ของวิเศษแปลงกายให้มีใบหน้าเหมือนกษัตริย์กุนเทอร์ ฝ่าทะเลเพลิงขึ้นไปข่มเหงบรึนฮิลเดอ ถอดแหวนวิเศษที่เป็นเครื่องรางความรักมาสวมไว้เอง ก่อนที่จะนำตัวบรึนฮิลเดอกลับไปถวายกษัตริย์กุนเทอร์ เมื่อถึงราชวัง บรึนฮิลเดอพบกับซีคฟรีทที่กลายเป็นสามีของพระขนิษฐา เมื่อนางเห็นแหวนวิเศษบนนิ้วของซีคฟรีท นางจึงประติดประต่อเรื่องราวทั้งหมดและแค้นที่ถูกทรยศ นางจึงบอกฮาเกินว่ากลางแผ่นหลังคือจุดอ่อนเดียวของซีคฟรีท
ฮาเกินให้ซีคฟรีทดื่มน้ำถอนยาเสน่ห์ ซีคฟรีทคืนความทรงจำและตระหนักถึงความผิดพลาด เขาคร่ำครวญเสียใจและถูกฮาเกินฆ่าตาย จากนั้น ฮาเกินกับกษัตริย์กุนเทอร์ก็แย่งชิงแหวนวิเศษจนตายทั้งคู่ บรึนฮิลเดอตัดสินใจว่าจะล้างคำสาปของแหวน นางจัดพิธีเผาศพให้ซีคฟรีทอย่างสมเกียรติ นางสวมแหวนและขี่ม้าเข้าไปในกองเพลิงเผาศพสามี และมอดไหม้สูงถึงสรวงสรรค์ จอมเทพประทับอยู่ในวัลฮัลลาท่ามกลางเปลวเพลิง รอคอยการสิ้นสุดแห่งยุคเทพ และกำเนิดยุคของมนุษย์ หลังเปลวเพลิงล้างผลาญ แม่น้ำไรน์ก็ไหลบ่าขึ้นท่วมทุกสิ่ง ทองคำกลับสู่ที่ที่ควรจะอยู่
อิทธิพล
แก้แหวนของนีเบอลุง เป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อเจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ในการแต่งปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธ
ดนตรีจากช่วงโหมโรง และฉากที่ 1 ("Hojotoho! Heiaha") องก์ที่ 3 ของภาคDie Walküre มีท่วงทำนองที่ได้รับความนิยม มีชื่อเรียกว่า "วัลคือเรินรีท" (Walkürenritt) หรือ "รีทแดร์วัลคือเริน" (Ritt der Walküren) ออกบรรเลงครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1870 ที่มิวนิก เป็นตอนที่บรรดาวัลคือเรอพี่สาวของบรึนฮิลเดอจำนวนสี่นางบินรวมกลุ่มกัน ดนตรีท่อนนี้เป็นที่นิยมนำมาบรรเลงซ้ำในวัฒนธรรมสมัยนิยม เช่น นำไปบรรเลงประกอบภาพยนตร์ เดอะ เบิร์ธ ออฟ อะ เนชั่น ในค.ศ. 1915[1] และฉากเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพสหรัฐโจมตีหมู่บ้านเวียดกงในภาพยนตร์ อะโพคาลิปส์นาว ใน ค.ศ. 1979[2]
อ้างอิง
แก้ข้อมูล
แก้- Burbidge, Peter; Sutton, Richard (1979). The Wagner Companion. London. ISBN 0571114504.
- Cooke, Deryck (2000). I Saw the World End: A Study of Wagner's Ring. New York: Oxford University Press. ISBN 0193153181.
- Fifield, Christopher (2005). Ibbs and Tillett: The Rise and Fall of a Musical Empire. London: Ashgate. ISBN 978-1840142907.
- Magee, Bryan (2001). The Tristan chord: Wagner and Philosophy. Metropolitan Books. ISBN 0805067884.
- Mendelssohn, Fanny (1987). Marcia Citron (บ.ก.). Letters of Fanny Hensel to Felix Mendelssohn. Pendragon Press. ISBN 978-0-918728-52-4.
- Millington, Barry (2008). "Der Ring des Nibelungen: conception and interpretation". ใน Grey, Thomas S. (บ.ก.). The Cambridge Companion to Wagner. Cambridge Companions to Music. Cambridge University Press. pp. 74–84. ISBN 978-0521644396.
- Shaw, George Bernard (1898). The Perfect Wagnerite. สืบค้นเมื่อ 2017-04-29 – โดยทาง Project Gutenberg.
- Wagner, Richard (1994). The Art Work of the Future, and other works ("A Communication to My Friends" is on pp. 269–392.). แปลโดย William Ashton Ellis. Lincoln and London. ISBN 978-0803297524.
อ่านเพิ่ม
แก้- Besack, Michael, The Esoteric Wagner – an introduction to Der Ring des Nibelungen, Berkeley: Regent Press, 2004 ISBN 9781587900747.
- Di Gaetani, John Louis, Penetrating Wagner's Ring: An Anthology. New York: Da Capo Press, 1978. ISBN 9780306804373.
- Gregor-Dellin, Martin, (1983) Richard Wagner: His Life, His Work, His Century. Harcourt, ISBN 0151771510.
- Holman, J. K. Wagner's Ring: A Listener's Companion and Concordance. Portland, Oregon: Amadeus Press, 2001.
- Lee, M. Owen, (1994) Wagner's Ring: Turning the Sky Round. Amadeus Press, ISBN 9780879101862.
- Magee, Bryan, (1988) Aspects of Wagner. Oxford University Press, ISBN 0192840126.
- May, Thomas, (2004) Decoding Wagner. Amadeus Press, ISBN 9781574670974.
- Millington, Barry (editor) (2001) The Wagner Compendium. Thames & Hudson, ISBN 0500282749.
- Sabor, Rudolph, (1997) Richard Wagner: Der Ring des Nibelungen: a companion volume. Phaidon Press, ISBN 0714836508.
- Scruton, Sir Roger, (2016) The Ring of Truth: The Wisdom of Wagner's Ring of the Nibelung. Penguin UK, ISBN 1468315498.
- Spotts, Frederick, (1999) Bayreuth: A History of the Wagner Festival. Yale University Press ISBN 0712652779.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ฟังผลงาน Prelude and entrance of the Gods into Valhalla (From Das Rheingold) ที่ มิวโซเพน
- ฟังผลงาน Die Walkure (The Valkyries) ที่ มิวโซเพน
- ฟังผลงาน Fantasie, Funeral March and Finale (from Siegfried) ที่ มิวโซเพน
- "Das Rheingold – Entire vocal score online". William and Gayle Cook Music Library. Indiana University School of Music.
- Ring synopsis
- Anthony Tommasini (21 July 2007). "The 'Kirov' Ring: Let's Hear It for the Home Team". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 10 July 2020.
- "Radio Lab – The Ring and I". WNYC – A podcast about The Ring. 2004.