จุดบอดต่อความเอนเอียง

(เปลี่ยนทางจาก Bias blind spot)

จุดบอดต่อความเอนเอียง[1] (อังกฤษ: bias blind spot) เป็นความเอนเอียงทางประชาน ที่เรารู้จัก/รู้จำว่า การประเมินตัดสินใจของผู้อื่นมีผลมาจากความเอนเอียง แต่ไม่รู้จัก/รู้จำว่า การประเมินตัดสินใจของเราเองก็มีผลมาจากความเอนเอียงด้วย[2] ชื่อนี้บัญญัติโดย ศ.ญ.ดร. เอมิลี โพรนิน ของคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และเพื่อนร่วมงาน[3] โดยตั้งตามจุดบอดทางตา

เหตุ แก้

จุดบอดอาจเกิดจากความเอนเอียงและการหลอกตัวเอง (self-deception) แบบอื่น ๆ[4]

Self-enhancement bias (ความเอนเอียงในการยกตน) อาจจะมีบทบาท คือเรามีแรงจูงใจที่จะมองตนในแง่ดี แต่เพราะว่าความเอนเอียงเป็นสิ่งที่ไม่น่าชอบใจ[5] ดังนั้น เรามักจะคิดว่าการรับรู้และการตัดสินใจของเรานั้นมีเหตุผล แม่นยำ และปราศจากความเอนเอียง และเรามักจะมีความเอนเอียงในการยกตนเมื่อต้องวิเคราะห์การตัดสินใจของตนด้วย คือเรามักจะคิดว่า เราตัดสินใจได้ดีกว่าคนอื่น ๆ[4]

นอกจากนั้นแล้ว เรายังเชื่อด้วยว่า เรารู้ว่าทำไมและอย่างไรเราจึงตัดสินใจเช่นนี้ และดังนั้นก็จะสรุปว่า ความเอนเอียงต่าง ๆ ไม่มีอิทธิพล แต่ว่า การตัดสินใจหลายอย่างของเราเกิดจากความเอนเอียงและวิธีทางลัดทางประชาน (ฮิวริสติก) ซึ่งเป็นกระบวนการจิตใต้สำนึก ที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ และดังนั้น เราจะไม่สามารถเห็นอิทธิพลของกระบวนการเหล่านั้นในการตัดสินใจของเรา[4]

ถึงแม้ว่าเราอาจจะมีข้อมูลว่าเรามีความเอนเอียงต่าง ๆ ในการรับรู้ ในการตัดสินใจ และในการประเมิน ผลงานวิจัยกลับพบว่า เราก็ยังไม่สามารถที่จะควบคุมความเอนเอียงต่าง ๆ เหล่านั้น นี่ส่งผลให้เรามีจุดบอด คือว่าแม้จะมีข้อมูลว่าเรามีความเอนเอียง แต่เราก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนกระบวนการทางประชานที่ประกอบด้วยความเอนเอียงเหล่านั้น[4]

บทบาทของการพินิจภายใน แก้

ศ.ญ.ดร. โพรนินและเพื่อนร่วมงานอ้างว่า ปรากฏการณ์นี้มีเหตุมาจากการแปลการพินิจภายในผิด (introspection illusion)[6] ในงานทดลองของพวกเขา มีการให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินตนเองและผู้อื่น[7] ผลปรากฏว่าผู้ร่วมการทดลองมีความเอนเอียงที่ปกติทั่วไป เช่นให้คะแนนตัวเองสูงกว่าผู้อื่นเกี่ยวกับคุณลักษณะต่าง ๆ ที่น่าชอบใจ (คือแสดง illusory superiority คือความเหนือกว่าลวง) ต่อจากนั้น ผู้ทำการทดลองก็อธิบายเรื่องความเอนเอียงทางประชาน และถามผู้ร่วมการทดลองว่า การประเมินของผู้ร่วมการทดลองได้รับอิทธิพลจากความเอนเอียงหรือไม่ ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนตนเองว่า มีโอกาสเสี่ยงต่อความเอนเอียงน้อยกว่าผู้ร่วมการทดลองอื่น (ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีจุดบอดต่อความเอนเอียง) และเมื่อต้องอธิบายเหตุผลการประเมินของตน ผู้ร่วมการทดลองใช้วิธีการประเมินที่ต่างกันเมื่อประเมินความเอนเอียงของตนเอง และเมื่อประเมินผู้อื่น[7]

นักวิจัยกลุ่มนี้ตีความว่า เมื่อเราจะประเมินว่าคนอื่นมีความเอนเอียงหรือไม่ เราจะสังเกตดูพฤติกรรมที่แสดงออก ในนัยตรงกันข้ามกัน เมื่อประเมินว่าเราเองมีความเอนเอียงหรือไม่ เราจะมองภายในตัวเรา สังเกตหาความคิดและความรู้สึกที่เป็นเหตุจูงใจให้เกิดความเอนเอียง แต่เนื่องจากว่า ความเอนเอียงต่าง ๆ ทำงานใต้จิตสำนึก ดังนั้น การพินิจภายในเช่นนี้จึงไม่สำเร็จประโยชน์ แต่อย่างไรก็ดี เรามักจะเห็นความคิดความรู้สึกเหล่านั้นว่า เป็นตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ว่า ตนเองไม่เสี่ยงต่อความเอนเอียงซึ่งไม่เหมือนกับคนอื่น[6][7]

จากนั้นนักวิจัยก็พยายามให้ข้อมูลผู้ร่วมการทดลองเกี่ยวกับการพินิจภายในของผู้อื่น คือ นักวิจัยอัดเสียงของผู้ร่วมการทดลองที่กล่าวเรื่องที่ตนคิดเมื่อกำลังประเมินตนเองว่า คำตอบที่ให้ในคำถามที่ผ่านมามีอิทธิพลจากความเอนเอียงหรือไม่ ผลก็คือ แม้ว่า ผู้ร่วมการทดลองจะเชื่อว่าตนเองมีโอกาสน้อยที่จะมีความเอนเอียง แต่ว่าการรายงานการพินิจภายในของตน กลับไม่มีอิทธิพลต่อผู้อื่นเมื่อผู้อื่นประเมินความเอนเอียงของบุคคลนั้น[7]

ความแตกต่างในการรับรู้ แก้

เรามักจะประเมินความเอนเอียงอย่างไม่สมมาตร เมื่อเรารู้ต่างจากคนอื่น เรามักจะกล่าวว่าคนอื่นมีความเอนเอียง และตนเองมีการรับรู้ที่แม่นยำและไม่มีความเอนเอียง ดร. โพรนินมีสมมุติฐานว่าการยกคนอื่นว่ามีความเอนเอียงอย่างผิด ๆ เช่นนี้ อาจจะเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกันในระหว่างบุคคล ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคิดว่าคนอื่นมีความเอนเอียง เราอาจจะตั้งความสงสัยในเจตนาของคนนั้น แต่เมื่อเราสำรวจการรับรู้ของเราเอง เราจะประเมินตนเองโดยใช้เจตนาที่ดีของเรา ดังนั้นในกรณีนี้ มีโอกาสเป็นไปได้ที่เราจะโทษความเอนเอียงของคนอื่นว่าเป็นเจตนาที่ไม่ดี ไม่ใช่ว่าเป็นกระบวนการใต้จิตสำนึก[8]

ดร. โพรนินยังมีสมมุติฐานเกี่ยวกับการใช้ความสำนึกในเรื่องจุดบอด เพื่อลดความขัดแย้ง และเพื่อการคิดโดยมีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่ดีกว่า แม้ว่าเราจะไม่สามารถควบคุมความเอนเอียงที่เกิดในระบบประชานของเรา[4] เราอาจจะทำไว้ในใจได้ว่า ความเอนเอียงนั้นเกิดขึ้นกับทุกคน ดร. โพรนินเสนอว่า เราอาจจะใช้ความรู้นี้ ในการแยกเจตนา (ที่ดี) และการกระทำของผู้อื่น (ที่อาจประกอบด้วยความเอนเอียงที่ไม่ได้ตั้งใจ)[8]

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ blind spot ว่า "จุดบอด"
  2. Pronin, E.; Lin, D.; Ross, L (2002). "The Bias Blind Spot: Perceptions Of Bias In Self Versus Others". Personality and Social Psychology Bulletin. 28 (3): 369–381.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  3. "The Bias Blind Spot: Psychological Dynamics and Social Consequences". Center for Behavioral and Decision Research at Carnegie Mellon. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 23, 2011. สืบค้นเมื่อ 2015-04-07.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Antony, P (2009). "Unconscious bias and the limits of director independence". University of Illinois Law Review. 1: 237–294.
  5. Pronin, E (2007). "Perception and misperception of bias In human judgment". Trends in Cognitive Sciences. 11 (1): 37–43.
  6. 6.0 6.1 Gilovich, Thomas; Epley, Nicholas; Hanko, Karlene (2005). "Shallow Thoughts About the Self: The Automatic Components of Self-Assessment". ใน Alicke, Mark D; Dunning,David A; Krueger, Joachim I. (บ.ก.). The Self in Social Judgment. Studies in Self and Identity. New York: Psychology Press. p. 77. ISBN 978-1-84169-418-4.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Pronin, Emily; Kugler, Matthew B. (July 2007). "Valuing thoughts, ignoring behavior: The introspection illusion as a source of the bias blind spot". Journal of Experimental Social Psychology. Elsevier. 43 (4): 565–578. doi:10.1016/j.jesp.2006.05.011. ISSN 0022-1031.
  8. 8.0 8.1 Pronin, E (2008). "How we see ourselves and how we see others". Science. 320 (5880): 1177–1180.