นกยูงคองโก

(เปลี่ยนทางจาก Afropavo)

นกยูงคองโก (อังกฤษ: Congo peacock, Congo peafowl; ชื่อวิทยาศาสตร์: Afropavo congensis) เป็นไก่ฟ้าจำพวกนกยูงชนิดหนึ่ง ในวงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา (Phasianidae)

นกยูงคองโก
คู่นกยูงที่สวนสัตว์แอนต์เวิร์ป โดยตัวผู้อยู่ทางซ้าย และตัวเมียอยู่ทางขวา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: อันดับไก่
วงศ์: วงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา
เผ่า: Pavonini
Chapin, 1936
สกุล: Afropavo
Chapin, 1936
สปีชีส์: Afropavo congensis
ชื่อทวินาม
Afropavo congensis
Chapin, 1936

นกยูงคองโก นับเป็นนกยูงเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Afropavo เพียงชนิดเดียว และไม่ใช่นกยูงที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียด้วย โดยมีถิ่นกำเนิดแถบบริเวณลุ่มแม่น้ำคองโกในตอนกลางของทวีปแอฟริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1913 ถึง ค.ศ.1936 นักปักษีวิทยาเคยเห็นแต่เพียงขนเพียงเส้นเดียวบนหมวกของชาวพื้นเมืองเท่านั้นจนกระทั่ง เจมส์ แชปลิน นักปักษีวิทยาชาวอเมริกันได้เห็นตัวจริงที่สตั๊ฟไว้ในพิพิธภัณฑ์คองโก ประเทศเบลเยี่ยม โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ผิดเป็นนกยูงไทยด้วย จึงได้ศึกษาอย่างจริงจัง บันทึกรายละเอียดต่าง ๆ และ ตั้งชื่อให้ใหม่ในครั้งนั้น

นกยูงคองโกมีขนาดตัวเล็กกว่า รวมถึงตัวผู้ไม่มีขนหางที่ยาวรวมถึงไม่มีแววมยุราเหมือนนกยูงสกุล Pavo ส่วนบนของตัวเป็นสีเขียว คอและส่วนล่างของลำตัว รวมถึงปลายหางเป็นสีม่วงแกมดำ แต่ในตัวเมียส่วนที่เป็นสีม่วงจะเป็นสีน้ำตาลหมด ตัวผู้มีหงอนเป็นเส้นแข็ง ๆ คล้ายขนหมูเป็นกระจุกสีขาว และติดกับสีขาวเป็นกระจุกสีดำอยู่ทางด้านหลัง ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีรูปร่างป้อมอ้วนสั้น

ส่วนหัวของตัวผู้

ชอบอาศัยอยู่ตามป่าที่มีฝนชุกที่ระดับความสูง 1,200-1,500 ฟุต เป็นนกที่จับคู่แบบคู่เดียวตลอดชีวิต มักจะพบออกหากินเป็นคู่ ชอบนอนบนต้นไม้สูง ๆ และมักจะส่งเสียงร้องในเวลากลางคืน ในขณะที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ด้วย เป็นนกที่ไม่ค่อยตื่นกลัวมนุษย์มากนัก ตัวผู้มักจะรำแพนบ่อยทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ ปกติจะวางไข่ครั้งละ 3-4 ฟอง ใช้เวลาฟักประมาณ 26 วัน ตัวผู้จะมีขนสวยสมบูรณ์ในปีที่ 2 แต่การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงทำได้ยากมาก จึงพบมีการเลี้ยงกันแต่ในสวนสัตว์ขนาดใหญ่เท่านั้น[2]

อ้างอิง แก้

  1. BirdLife International (2016). "Afropavo congensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T22679430A92814166. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T22679430A92814166.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. จิตรกร บัวปลี. ไก่ฟ้า & นกยูง :คู่มือการเพาะเลี้ยงไก่ฟ้าและนกยูงฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นาคา, 2553. 134 หน้า. ISBN 9789749240557

แหล่งข้อมูลอื่น แก้