ไฮบุตสึคิชากุ (ญี่ปุ่น: 廃仏毀釈โรมาจิHaibutsu kishaku; "ล้มเลิกพุทธศาสน์ พิฆาตศากยมุนี") เป็นคำที่ใช้เรียกการกำจัดศาสนาพุทธที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น[1] โดยเฉพาะในยุคฟื้นฟูเมจิ ที่มีการกดขี่ศาสนาพุทธที่ชัดเจนที่สุด คือมีการทำลายวัดพุทธ พระพุทธรูป เผาภาพแขวน และพระสูตร รวมทั้งการสึกพระภิกษุไปเป็นฆราวาส[1]

การเผาทำลายพระสูตร ในช่วง ไฮบุตสึคิชากุ

ไฮบุตสึคิชากุ ในประวัติศาสตร์ แก้

หลังศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าสู่ญี่ปุ่นในยุคโคฟุง ตระกูลโมโนโนเบะกระทำการต่อต้านศาสนาพุทธ เหตุผลไม่ใช่เพราะคำสอนทางศาสนา หากแต่เป็นการหวาดกลัวคนต่างด้าวและคลั่งชาติ[1] ในเวลาต่อมาตระกูลนากาโตมิ (บรรพชนของตระกูลฟูจิวาระ) ได้ร่วมมือกับตระกูลโมโนโนเบะในการต่อต้านศาสนาพุทธ

ต่อมาในยุคต้นสมัยใหม่ แคว้นโอกายามะ แคว้นไอซุ และแคว้นมิโตะ มีการปิดวัดพุทธ และขับไล่พระภิกษุ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมือง หาใช่เหตุผลด้านศาสนาอีกเช่นกัน[1] ซึ่งนโยบายต่อต้านศาสนาพุทธของแคว้นเหล่านี้เป็นแนวคิดของกลุ่มลัทธิขงจื๊อ[1] ครั้นเมื่อถึงในยุคฟื้นฟูเมจิ มีการศึกษาเกี่ยวกับชาติญี่ปุ่น และมีการขับเน้นให้ลัทธิชินโตเป็นศูนย์กลางความเชื่อของชาติ ด้วยเหตุนี้จึงมี ไฮบุตสึคิชากุ จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยมีเป้าประสงค์ที่จะแยกลัทธิชินโตของชาวญี่ปุ่นออกจากศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาของคนต่างด้าว[1]

ไฮบุตสึคิชากุ ในยุคฟื้นฟูเมจิ แก้

 
การทุบทำลายระฆังวัดในยุคฟื้นฟูเมจิ
 
พระพุทธรูปถูกตัดพระเศียรในยุคฟื้นฟูเมจิ

ในยุคฟื้นฟูเมจิ ถือเป็น ไฮบุตสึคิชากุ ที่ชัดเจนที่สุด เพราะมีการออกนโยบาย ชินบุตสึบุนริ (神仏分離) เพื่อแยกลัทธิชินโตออกจากศาสนาพุทธ[1] หลัง พ.ศ. 2411 ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง มีการทำลายทรัพย์สินทางศาสนาอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่วัดโคฟูกุในนาระถูกทำลายหนัก เขตธรณีสงฆ์ถูกริบ พระภิกษุถูกบังคับให้เข้ารีตเป็นนักบวชชินโต มีการรื้อทำลายกำแพงวัด แล้วปลูกต้นไม้แทน เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะประจำเมือง[2] การจลาจลต่อต้านศาสนาพุทธที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายแก่วัดพุทธใหญ่ ๆ หลายแห่งตามหัวเมือง[3] การต่อต้านศาสนาพุทธกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคในญี่ปุ่นระหว่าง พ.ศ. 2415 ถึง พ.ศ. 2417 (บางแห่งว่าเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2411) วัดพุทธราว 18,000 แห่ง ถูกทำลายจนสิ้นซาก[4] มาร์ติน คอลคัตต์ (Martin Collcutt) นักญี่ปุ่นศึกษา เชื่อว่า ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นถูกทำลายจวนจะสูญไปแล้ว[4]

การกระทำดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นแก่พุทธศาสนิกชนเป็นอันมาก เพราะพวกเขาเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลโทกูงาวะด้วยระบบดันกะ (檀家制度) มายาวนานหลายศตวรรษ[5] ทำให้ศาสนาพุทธได้รับผลประโยชน์อย่างสูงมาตลอด แม้ว่าปรัชญาการปกครองของโชกุน ซึ่งเป็นผู้ปกครองจะยึดตามลัทธิขงจื๊อก็ตาม[6] ศาสนาพุทธถูกนำมาใช้ในนโยบายต่อต้านศาสนาคริสต์ของรัฐบาลโทกูงาวะ โดยประกาศใช้ระบบดันกะซึ่งจะผูกพันสมาชิกของครอบครัวให้ขึ้นสังกัดวัดในศาสนาพุทธ เพื่อรับรองว่าพวกเขาไม่ใช่คริสตังลับ[7] และหากไม่มีชื่อขึ้นกับวัดพุทธก็ไม่อาจใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในญี่ปุ่นแน่[7] ด้วยเหตุนี้ วัดสามารถกรรโชกทรัพย์ผู้คนที่ขึ้นกับวัดได้[8] ในระบบดันกะ หลายครอบครัวจะต้องบริจาคทรัพย์แก่วัดที่ตนสังกัด[7] เมื่อมีวัด 100,000 แห่ง กับประชากร 30 ล้านคน เฉลี่ยแล้ววัดแห่งหนึ่งจะมีสมาชิกเป็นข้าวัดในสังกัดถึง 300 คน[8] ด้วยเหตุนี้ศาสนาพุทธจึงมีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐบาลโทกูงาวะอย่างไม่ต้องสงสัย และศาสนาพุทธจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของทุกฝ่ายที่จะบ่อนทำลายระบอบโชกุนโทกูงาวะ นอกจากนี้แรงจูงใจด้านเศรษฐกิจและการเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะรัฐบาลต้องการใช้เพิ่มเงิน จึงนำเงินที่ได้จากทรัพย์สินในศาสนาพุทธที่มีอยู่มั่งคั่ง รวมทั้งการยึดเขตธรณีสงฆ์ไปเป็นของรัฐ[1]

ประมาณการว่า มีวัดพุทธ 40,000 แห่งถูกทำลายลง และบางท้องที่วัดถูกทำลายมากถึงร้อยละ 80[9] เป็นการยากที่จะทราบถึงจำนวนวัดพุทธที่ถูกปิดลงจากเหตุวุ่นวายดังกล่าว เพราะวัดบางแห่งถูกปิดลงเพราะเสียประโยชน์จากการล่มสลายของรัฐบาลโทกูงาวะ[10] อย่างไรก็ตามวัดพุทธที่หายไปจากแคว้นซัตสึมะอย่างสิ้นซากนั้น ล้วนเกิดขึ้นจาก ไฮบุตสึคิชากุ[10]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "Haibutsu Kishaku". Encyclopedia of Shinto. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2008.
  2. "Kofukuji, Dream of a Temple". www.japannavigator.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2009. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2009.
  3. "History of Nara". Nara City Home Page. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มกราคม 2008. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2008.
  4. 4.0 4.1 John Breen (กรกฎาคม 2000). Mark Teeuwen (บ.ก.). Shinto in History: Ways of the Kami. Honolulu: University of Hawaii Press. p. 230. ISBN 978-0-8248-2363-4. OCLC 43487317.
  5. Bernhard Scheid. "Inquisition unter buddhistischen Vorzeichen". Religion-in-Japan>Geschichte>Terauke (ภาษาเยอรมัน). Universität Wien. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กรกฎาคม 2015.
  6. Ronald Loftus. "Neoconfucianism". Willamette University. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2008.
  7. 7.0 7.1 7.2 Paul B. Watt. "Review of Nam-Lin Hur, Death and Social Order in Tokugawa Japan: Buddhism, Anti-Christianity, and the Danka System". Universiteit Leiden. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2012.
  8. 8.0 8.1 Nam-Lin Hur (2007). "Death and social order in Tokugawa Japan: Buddhism, anti-Christianity, and the danka system" (PDF). The Rise of Funerary Buddhism in Tokugawa Japan. Harvard University Asia Center. pp. 1–30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 31 มีนาคม 2012.
  9. Jørn Borup (25 กุมภาพันธ์ 2008). Japanese Rinzai Zen Buddhism: Myōshinji, a living religion. Brill. p. 21. ISBN 978-90-47-43309-5.
  10. 10.0 10.1 Jason Ānanda Josephson (2006). "When Buddhism Became a "Religion"". Japanese Journal of Religious Studies. 33 (1): 143–168. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 ธันวาคม 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้