ไทยชนะ
ไทยชนะ เป็นระบบลงทะเบียนออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานในพื้นที่สาธารณะของประชาชนเพื่อเป็นการตอบสนองต่อการระบาดทั่วในประเทศไทยของโควิด-19 โดยมีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลเพียงผู้เดียว เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามข้อมูลและกักโรค ระบบลงทะเบียนออนไลน์นี้เป็นของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019[2]
ตราสัญลักษณ์ | |
ภาพจับหน้าจอ | |
ประเภท | ระบบลงทะเบียนออนไลน์และฐานข้อมูลปิด |
---|---|
ภาษาที่ใช้ได้ | ภาษาไทย |
เจ้าของ | ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 |
บรรณาธิกรณ์ | ธนาคารกรุงไทยร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) |
เชิงพาณิชย์ | ไม่ใช่ |
ลงทะเบียน | ลงทะเบียน |
เปิดตัว | 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 |
สถานะปัจจุบัน | เปิดให้บริการ Alexa rank: 1059 (ในประเทศไทย)[1] |
การพัฒนา
แก้ไทยชนะได้รับการพัฒนาโดยธนาคารกรุงไทยร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 หลังรัฐบาลอนุญาตให้เปิดร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเป็นวันแรกหลังการสั่งปิดกิจการชั่วคราวเป็นเวลาราว 2 เดือน เป็นข้อบังคับของรัฐบาลในการให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ต้องให้ผู้เข้ารับบริการลงชื่อว่า "เช็คอิน" ก่อนเข้าไปในพื้นที่ และให้ "เช็คเอาท์" หลังออกจากพื้นที่ไทยชนะมีให้บริการในรูปแบบของเว็บไซต์ผ่านการสแกนรหัสคิวอาร์และแอปพลิเคชันมือถือบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เท่านั้น (ข้อมูลวันที่ 2 มิถุนายน 2563) ในวันแรกของการเปิดใช้งานมีร้านค้าร่วมลงทะเบียนมากกว่า 44,000 ร้าน และมีผู้เข้าใช้บริการรวมมากกว่า 2 ล้านคน[3]
เป้าหมายหลักของไทยชนะคือเพื่อ "ประเมินความหนาแน่นของสถานประกอบการ เพื่อให้ร้านค้าสามารถบริหารจัดการและช่วยผู้ใช้ในการตัดสินใจว่าจะไปใช้บริการหรือไม่" และ "เพื่อการสอบสวนโรค ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด จากพิกัดสถานที่ที่บุคคลเข้าใช้บริการร้านค้า" อย่างไรก็ตามได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความจำเป็นในการเก็บข้อมูลบางประการของผู้ใช้[4] ที่อาจะเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวออนไลน์ของประชาชนโดยไม่จำเป็น[5]
กระแสวิพากษ์วิจารณ์
แก้หลังการเปิดตัวใช้งานไทยชนะได้มีการเปิดเว็บไซต์ฟิชชิงในลักษณะเลียนแบบไทยชนะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นส่วนตัวและความโปร่งใสของโครงการเกิดขึ้น
ความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้
แก้ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์กระปุกดอตคอม ระบุผ่านบีบีซีไทยว่า[4] ไทยชนะทำให้เขารู้สึกว่า "สิทธิของประชาชนบางมาก" พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นว่าไทยชนะมีการเก็บข้อมูลที่เป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวออนไลน์ของประชาชนผ่านการเก็บข้อมูลที่อยู่ของผู้ใช้ซึ่งเขาและผู้ประกอบการด้านออนไลน์บางกลุ่มมองว่าไม่มีความจำเป็น ในขณะที่สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านสิทธิพลเมืองให้ความเห็นว่า[5] การเก็บข้อมูลของไทยชนะนั้นขาดความโปร่งใสในการเก็บข้อมูล พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่าไม่มีการระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบนหน้าการใช้งานของไทยชนะ นอกจากนี้เธอยังตั้งข้อสงสัยถึงความเกี่ยวข้องของธนาคารกรุงไทยซึ่งระบุชื่อในฐานะผู้ให้บริการไทยชนะว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลมากน้อยเพียงใด
กรณีข้อความขยะในมือถือของผู้ใช้งาน
แก้หลังการเปิดตัวไทยชนะได้ไม่นาน ผู้ใช้งานไอโฟนและระบบปฏิบัติการไอโอเอสในประเทศไทยจำนวนมากได้รับข้อความขยะเชิงเชิญชวนให้เล่นเกมหรือการพนันออนไลน์ผ่านทางแอปพลิเคชันไอแมสเสจ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากได้ตั้งข้อสงสัยว่าการที่ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์รั่วไหลนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลของไทยชนะ[6] อย่างไรก็ตาม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ผู้ร่วมพัฒนาไทยชนะได้ออกมาชี้แจงปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับไทยชนะ[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ "Alexa Traffic Statistics". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 พฤษภาคม 2020. (2020-06-02 9:41 ICT)
- ↑ "'ไทยชนะ' คืออะไร? วิธีลงทะเบียนสำหรับร้านค้าและประชาชนทั่วไป". ไทยรัฐออนไลน์. 21 พฤษภาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2020.
- ↑ "โควิด-19 : ศบค.พอใจมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 วันแรก คน "เช็คอิน" ผ่านแอพฯ ไทยชนะกว่า 2 ล้าน". บีบีซีไทย. 18 พฤษภาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2020.
- ↑ 4.0 4.1 กุลธิดา สามะพุทธิ; ธันยพร บัวทอง (29 พฤษภาคม 2020). "โควิด-19 : จากเว็บไซต์มาเป็นแอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" ยังไม่ชนะใจผู้ใช้งานบางส่วน". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2020.
- ↑ 5.0 5.1 หยงสตาร์, สมิตานัน (20 พฤษภาคม 2020). "โควิด-19 : เว็บไซต์ไทยชนะ เส้นบาง ๆ ระหว่างการป้องกันโรคกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล". บีบีซีไทย. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2020.
- ↑ "ระวังภัย! "ซันซิตี้" เกมพนันออนไลน์เริ่มส่ง SMS ไปยังผู้ใช้แอนดรอยด์ เตือนอย่ากดลิงก์เด็ดขาด". ผู้จัดการออนไลน์. 2 มิถุนายน 2020. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2020.
- ↑ "ผู้ผลิตแอปฯ "ไทยชนะ" ยันไม่เกี่ยวสแปมชวนเล่นพนัน". ไทยพีบีเอส. 31 พฤษภาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 2 มิถุนายน 2020.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ไทยชนะ, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มิถุนายน 2020