ไดแอน อาร์บัส
ไดแอน อาร์บัส (อังกฤษ: Diane Arbus; 14 มีนาคม พ.ศ. 2466 – 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2514) เป็นช่างภาพหญิงชาวอเมริกัน เจ้าของวลีที่ว่า “การถ่ายภาพเป็นความลับของความลับ ยิ่งมันบอกคุณมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งรู้น้อยลงเท่านั้น” (A photograph is a secret about a secret. The more it tells you the less you know) ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพถ่ายที่มักจะถ่ายทอดเรื่องราวของเหล่ามนุษย์ประหลาด เช่น คนแคระ, มนุษย์ร่างยักษ์, คนที่แปลงเพศ, ชีเปลือย และ นักแสดงละครสัตว์ รวมถึงการถ่ายภาพของคนปกติที่มีหน้าตาที่ผิดแปลกไปจากธรรมดา ไดแอนเชื่อว่า “กล้องถ่ายภาพจะเป็นวัตถุที่เย็นชาและหยาบกระด้างในบางครั้ง” แต่ความละเอียดถี่ถ้วนของมันจะช่วยเผยความจริงให้ปรากฏ ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่คนเราอยากจะให้คนอื่นเห็นกับสิ่งที่คนอื่นมองเห็นจริง ๆ นั่นคือ ‘จุดบกพร่อง’ เธอเคยพูดว่ากลัวที่จะถูกคนอื่น ๆ มองว่าเป็นเพียงแค่ "ช่างถ่ายรูปของคนบ้า" อย่างไรก็ดี วลีนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อธิบายตัวตนของ ไดแอน อาร์บัส อยู่หลายต่อหลายครั้ง
ไดแอน อาร์บัส | |
---|---|
เกิด | ไดแอน เนอเมอรอฟ 14 มีนาคม ค.ศ. 1923 นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา |
เสียชีวิต | 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1971 นิวยอร์ก | (48 ปี)
สัญชาติ | อเมริกัน |
มีชื่อเสียงจาก | การถ่ายภาพ |
ขบวนการ | ศิลปินภาพถ่ายศตวรรษที่ 20 |
ในปี ค.ศ. 1971 หลังจากการฆ่าตัวตายของเธอได้เพียงปีเดียว ผลงานภาพถ่ายของไดแอนได้รับเกียรติให้ไปจัดแสดงในนิทรรศการเวนิส เบียนนาเล่ ที่ประเทศอิตาลี ซึ่งถือได้ว่าไดแอนเป็นศิลปินชาวอเมริกันคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ ส่งผลให้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972-1979 ผู้คนนับล้านคนได้แห่เข้ามาชมผลงานนิทรรศการภาพถ่ายของเธอ
ในปี ค.ศ. 2003 และปี ค.ศ. 2006 ไดแอนและผลงานของเธอได้กลายมาเป็นหัวข้อหลักหัวข้อหนึ่งในนิทรรศการ ‘การเผยสิ่งประหลาด ของ ไดแอน อาร์บัส’ (Diane Arbus Revelations)
แม้ว่าภาพถ่ายส่วนหนึ่งของไดแอนจะสามารถขายออกไปได้ในราคานับแสนดอลลล่าร์สหรัฐในการประมูลแต่ละครั้ง แต่ผลภาพถ่ายของไดแอนยังคงก่อให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงกันอย่างรุนแรง ถึงคุณค่าและความหมายในขอบเขตของคำว่า ‘ศิลปะ’ เช่น ในกรณีของ นายนอร์แมน เมลเลอร์ ได้กล่าวไว้เมื่อปี ค.ศ. 1971 ว่า "การยื่นกล้องถ่ายภาพให้กับไดแอนนั้นไม่ต่างอะไรกับการยื่นระเบิดมือให้กับเด็ก" อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์คนอื่นได้เล็งเห็นว่า การที่นายเมลเลอร์กล่าวเช่นนั้น สาเหตุเพราะ เขาไม่พอใจภาพถ่ายตัวเขาเองขณะที่กำลังยืนถือไม้เท้า ที่ถ่ายโดยไดแอน อาร์บัส ซึ่งไปปรากฏอยู่ใน New York Times Book Review
ในปี ค.ศ. 2006 ค่ายภาพยนตร์ The motion picture ได้ให้นักแสดงสาว นิโคล คิดแมน มารับบทเป็น ไดแอน อาร์บัส ในภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของเธอในรูปแบบภาพยนตร์ในเรื่อง ‘FUR ชัตเตอร์เปลี่ยนชีวิต’
อย่างไรก็ตามผลงานภาพถ่ายของ ไดแอน อาร์บัส ยังคงเป็นที่กล่าวถึงอยู่ในยุคสมัยปัจจุบัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ความงามทางด้านทัศนศิลป์ ความหมายที่แอบแฝงไว้ในภาพถ่าย หรือมุมมองแนวคิดของเธอ ท้ายที่สุดแล้วนั้นเราต่างต้องยอมรับว่า ไดแอน อาร์บัส เป็นศิลปินภาพถ่ายในสมัยศตวรรษที่ 20 ที่ได้ส่งอิทธิพลต่อแนวคิดในการถ่ายภาพและกระแสศิลปะในสาขาภาพถ่ายในยุคนั้นและยุคต่อ ๆ มา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ชีวิตและครอบครัว
แก้ไดแอน อาร์บัส เดิมชื่อ ไดแอน เนอเมอรอฟ เป็นบุตรสาวของ นายดาวิด และ นางเกอธรูท รัสเสค เนอเมอรอฟ ครอบครัวเนอเมรอฟเป็นชาวยิวที่อาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์ก ครอบครัวของเธอเป็นเจ้าของธุรกิจห้างสรรพสินค้ารัสเสค บนถนนฟิฟท์อเวนิว แสดงให้เห็นว่าเดิมครอบครัวมีฐานะที่ร่ำรวย แต่เนื่องจากความมั่งคั่งของตระกูล ครั้งเมื่อถึงเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ในช่วงปี ค.ศ. 1930 ซึ่งขณะนั้นไดแอนยังมีอายุได้เพียง 7 ขวบ บิดาของไดแอนจึงต้องผันตัวมาเป็นจิตรกรและกิจการห้างสรรพสินค้ารัสเสคก็ต้องปิดตัวลง น้องสาวของเธอเป็นประติมากรและนักออกแบบ ส่วนพี่ชายคนโตของเธอโฮเวิร์ด เนอเมอรอฟเป็นกวีคนสำคัญของสหรัฐอเมริกาและยังเป็นบิดาของนักประวัติศาสตร์ศิลปะอเมริกันชื่อดัง อย่าง อเล็กซานเดอร์ เนอเมอรอฟ
ไดแอนเข้าเรียนระดับสามัญในโรงเรียนฟิล์ดสตัน (Fieldston School for Ethical Culture) และในปี ค.ศ. 1941 ขณะที่มีอายุได้ 18 ปี ไดแอนก็ได้แต่งงานกับ อลัน อาร์บัส (Allan Arbus) และในปี ค.ศ.1945 พวกเขาก็มีลูกสาวคนแรกด้วยกันชื่อว่า 'ดูน' ชึ่งต่อมาได้เป็นนักเขียน ต่อมาในปี ค.ศ. 1954 พวกเขาก็ให้กำเนิดลูกสาวคนรองชื่อว่า 'เอมี่' ซึ่งต่อมาได้ประกอบอาชีพเป็นช่างภาพ ในปี ค.ศ. 1958 ไดแอนและอลันก็แยกทางกัน และหย่ากันในปี ค.ศ. 1969
ชีวิตการทำงานในฐานะช่างภาพ
แก้ทั้งไดแอนและอลันผู้เป็นสามีทั้งสองต่างมีความสนใจในการถ่ายภาพ ในปี ค.ศ. 1941 พวกเขาได้ไปเยี่ยมชมการจัดแสดงผลงานของ Alfred Stieglitz ที่ซึ่งทำให้ไดแอนได้รู้จักกับช่างภาพ อาทิเช่น Mathew Brady, Timothy O'Sullivan, Paul Strand, Bill Brandt และ Eugène Atget.
ในช่วงต้นยุค 1940 พ่อของไดแอนได้ว่าจ้างให้เพื่อนช่างภาพของไดแอนมาถ่ายภาพเพื่อทำการโฆษณาห้างสรรพสินค้า และอลันเองก็ได้ไปเป็นช่างถ่าพให้กับกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ. 1946 หลังจากสงครามยุติลง ตระกูลอาร์บัสได้เริ่มต้นธุรกิจการถ่ายภาพเพื่อการพาณิชย์ โดยใช้ชื่อบริษัทว่า ‘Diane & Allan Arbus’ ซึ่งไดแอนได้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับศิลป์ และอลันมีหน้าที่ในฐานะตากล้อง พวกเขาถ่ายภาพให้กับนิตยสารแกลมเมอร์ (Glamour), เซเว่นทีน (Seventeen), โวก (Vogue), ฮาร์เปอร์ บาร์ซาร์ (Harper's Bazaar) รวมถึงนิตยสารเล่มอื่น ๆ ด้วย ถึงแม้ว่าพวกเขาทั้งสองโดยเฉพาะตัวไดแอนเองจะไม่ชอบการทำงานในวงการแฟชั่นเอาเสียเลย อย่างไรก็ตาม ผลงานการถ่ายภาพกว่า 200 ภาพ ที่พวกเขาถ่ายให้กับนิตยสาร Glamour และมากกว่า 80 ภาพที่ถ่ายให้กับนิตยสาร Vouge ภาพถ่ายแฟชั่นของไดแอนและอลันถูกกล่าวถึงว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพอยู่ในระดับกลาง ๆ ในบันทึกของ Edward Steichen ที่เขียนในปี ค.ศ.1955 เกี่ยวกับนิทรรศการภาพถ่าย The Family of Man ซึ่งได้รวมเอาภาพที่ถ่ายโดยตระกูลอาร์บัส ซึ่งเป็นภาพของพ่อและลูกชายกำลังอ่านหนังสือพิมพ์ ภาพนั้นก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นผลงานภาพถ่ายที่ไม่ได้มีคุณภาพอะไรมากนัก
ในปี ค.ศ.1956 ไดแอนได้เลิกทำธรุกิจการถ่ายภาพเพื่อการพาณิชย์ ถึงแม้ว่าในช่วงแรก ๆ เธอจะเคยศึกษาการถ่ายภาพกับ Berenice Abbott แต่ต่อมาไดแอนก็ได้ไปศึกษากับ Lisette Model แทน การเริ่มต้นเรียนรู้การถ่ายภาพในปี ค.ศ.1956 เป็นจุดเริ่มต้นของเอกลักษณ์และวิธีการถ่ายภาพในรูปแบบเฉพาะของไดแอน งานชิ้นแรกๆ ของเธอ คือ การถ่ายภาพให้กับนิตยสาร Esquire, Harper's Bazaar, และ The Sunday Times Magazine ในปี ค.ศ.1959 และช่วงราว ๆ ปี ค.ศ.1962 ไดแอนได้เปลี่ยนจากการใช้กล้อง 35 มม. กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวของ Nikon ที่จะให้ภาพเป็นจุด ๆ เล็ก ๆ ในกรอบทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก ไดแอนได้เปลี่ยนมาใช้กล้องสะท้อนภาพเลนส์คู่อย่าง Twin-lens reflex ของ Rolleiflex twin-lens reflex Rolleiflex ซึ่งจะให้ภาพที่แสดงรายละเอียดได้ดีกว่ามาก
ในปี ค.ศ.1963 ไดแอนได้รับรางวัล Guggenheim Fellowship จากผลงานเกี่ยวกับสิทธิ มารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติของชาวอเมริกัน
ในปี ค.ศ.1964 ไดแอนได้หันมาใช้กล้อง Twin-lens reflex Mamiya camera ร่วมกับชุดแฟลชของ Rolleiflex ซึ่งวิธีการเช่นนี้ทำให้ตัวเธอกับภาพที่ถ่ายมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและสะท้อนผลงานภาพถ่ายที่มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก ในระหว่างยุค 60s' เธอได้เป็นอาจารย์สอนการถ่ายภาพที่วิทยาลัยการออกแบบพาร์สัน และที่มหาวิทยาลัยนานาชาติคูเปอร์ (Cooper Union) ที่เมืองนิวยอร์ก และที่วิทยาลัยการออกแบบโรดไอแลนด์
ในปี ค.ศ.1967 เธอได้จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายชุดแรกของเธอที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย Museum of Modern Art โดยให้ชื่อชุดผลงานว่า ‘New Documents’ นำเสนอโดย จอห์น ซอคคอฟกี้ John Szarkowski ในผลงานชุดนี้มีการจัดแสดงภาพถ่ายที่รวมเอาผลงานของ Garry Winogrand และ Lee Friedlander เข้าร่วมไว้ด้วย ภาพถ่ายส่วนหนึ่งของเธอนั้นเป็นงานที่ทำตามคำสั่ง เธอยังคงถ่ายภาพตามคำสั่งไปเรื่อย ๆ โดยส่วนใหญ่แล้วงานที่ไดแอนถ่ายให้กับนิตยสารนั้นมีเพิ่มมากขึ้นตามชื่อเสียงของเธอในฐานะศิลปิน
ในปี ค.ศ.1970 จอห์นได้ว่าจ้างไดแอนเพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์นิทรรศการเกี่ยวกับการถ่ายภาพเพื่อการถ่ายทอดข้อเท็จจริง "From the Picture Press" ซึ่งได้รวมถึงภาพถ่ายหลาย ๆ ภาพของช่างภาพอย่างวีกี้ Weegee ที่ไดแอนชื่นชอบไว้ด้วย
ลักษณะผลงานภาพถ่าย
แก้ในช่วงหลังของการทำงาน ไดแอนได้ใช้แสงสว่างในภาพที่บางเบากว่างานภาพถ่ายในช่วงตอนต้น ๆ ของเธอ เธอได้ถ่ายภาพชุดที่บอกเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางอารมณ์ ในช่วงแรกไดแอนได้ตั้งใจให้ภาพถ่ายเหล่านี้เปรียบเสมือนกับบทกวีที่อ่อนโยนและสวยงาม แต่เมื่อเดือนมิถุนายน ของปี ค.ศ. 1970 ไดแอนกลับบอกกับคนอื่น ๆ ว่า เธอเกลียดผลงานชุดนี้
การได้รู้จักกับช่างภาพร่วมสมัยคนอื่น ๆ อาทิ เช่น โรเบิร์ต แฟรงค์ (Robert Frank) และ ชอล เลเตอร์ (Saul Leiter) ทำให้ไดแอนได้รับความช่วยเหลือจากเหล่าเพื่อนในวงการถ่ายภาพที่ Jane Livingston ได้นิยามเอาไว้ว่าเป็น The New York School of photographers ในยุค 40s และ 50s ในหมู่ช่างภาพและศิลปินคนอื่น ๆ ที่ไดแอนได้คบหาด้วยระหว่างการทำงาน ไดแอนสนิทสนมกับ ช่างถ่ายภาพชื่อ ริชาร์ด อเวดอน (Richard Avedon) เป็นพิเศษ โดยเขามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับไดแอน และที่บ้านก็ประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าบนถนนฟิพท์อเวนิวเหมือนกับเธอด้วย ผลงานของไดแอนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก อย่างภาพของเด็กชายที่ถือระเบิดมืออยู่ในส่วนสาธาณะ (Child with Toy Hand Grenade in Central Park) และภาพของเด็กผู้หญิงฝาแฝด (Identical Twins, Roselle, New Jersey, 1967) ยังคงเป็นภาพถ่ายที่สะท้อนบอกเล่าถึงผู้คนที่เธอให้ความสนใจ ซึ่งผู้คนเหล่านั้นสังคมกลับมองว่าเป็นคนที่อยู่ชายขอบของสังคม ไม่ว่าจะเป็น คนพิการ คนวิกลจริต คนบกพร่องทางสมอง คนที่มีรูปลักษณ์ผิดปกติ โดยตลอดในช่วงหลังของการทำงานผลงานภาพถ่ายของเธอได้สะท้อนให้สังคมได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของบุคคลเหล่านั้น และยังคงส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นต่าง ๆ ต่อไป
การเสียชีวิต
แก้ไดแอนเคยประสบกับช่วงชีวิตอันน่าหดหู่ใจเหมือน ๆ กับที่แม่ของเธอเคยประสบ และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือการที่เธอต้องป่วยเป็นโรคตับอักเสบ ในช่วงก่อนที่เธอจะเสียชีวิตไดแอนเคยเขียนเอาไว้ว่า "อารมณ์ของฉันเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงตลอด" อดีตสามีของเธอเองก็สังเกตได้ว่าไดแอนนั้นมีอารมณ์รุนแรงอยู่เสมอ ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1971 ขณะที่เธอพักอยู่ที่ Westbeth Artists Community ในนิวยอร์ก ไดแอนได้รับประทานยากดประสาทเกินขนาดและกรีดข้อมือด้วยใบมีดโกน และหลังจากนั้นก็มีคนไปพบศพของเธอในอ่างอาบน้ำ 2 วันหลังจากที่เธอได้เสียชีวิตไปแล้ว ไดแอน อาร์บัส มีอายุได้ 48 ปี
อ้างอิง
แก้- Diane Arbus : an aperture Monographs, N.Y., Museum of Modern Art, 1972
- Diane Arbus : magazine work, Millerton, N.Y., 1984
- Diane Arbus : Revelations. New York: Random House, 2003
- Modern women : women artist at the Museum of Modern Art, D.A.P. Publishers, 2010