ใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทย

ใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทย เป็นเอกสารซึ่งออกโดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม หรือกรมการขนส่งทหารบก ให้แก่บุคคลซึ่งมีความสามารถในการควบคุมยานพาหนะได้อย่างปลอดภัย ใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทยควบคุมโดยกฎหมายสามฉบับ คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522[1] พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522[2] และพระราชบัญญัติรถยนต์ทหาร พ.ศ. 2476[3] โดยมีกฎจราจรตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522[4]

ใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทย

ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก เอกสารซึ่งอนุญาตให้บุคคลทำการควบคุมยานพาหนะให้เคลื่อนไปในถนนเรียกว่า ใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งกฎหมายอีกสามฉบับเรียกแตกต่างกัน กล่าวคือ พระราชบัญญัติรถยนต์ เรียกใบอนุญาตขับขี่ว่า ใบอนุญาตขับรถ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบกเรียกว่า ใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ ส่วนพระราชบัญญัติรถยนต์ทหาร ใช้ว่า ใบอนุญาตพิเศษสำหรับขับรถยนต์ทหาร ในบทความนี้ จะใช้คำ ใบอนุญาตขับขี่ เป็นหลัก

ใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทยต่างจากใบอนุญาตขับขี่ในประเทศตะวันตกบางประเทศ กล่าวคือ การฝึกหัดขับรถยนต์ไม่จำต้องมีใบอนุญาตฝึกขับรถยนต์ แต่เมื่อขับขี่จนชำนาญและสามารถผ่านท่าทดสอบจำนวน 3 ท่า ซึ่งกรรมการทดสอบเป็นผู้เลือกแล้ว จะได้รับในอนุญาตขับขี่ชั่วคราวหรือใบอนุญาตขับขี่จำกัดสิทธิ์ก่อนเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แล้วจึงจะสามารถเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตขับรถเต็มรูปแบบซึ่งต้องต่ออายุทุก ๆ 5 ปี หากปรากฏว่าต่อมาผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ถูกลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ต้องให้พ้นระยะเวลาสามปีนับแต่วันถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ จึงจะสามารถขอมีใบอนุญาตขับขี่อีกครั้งได้ โดยต้องเริ่มจากการขอใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวใหม่[5]

นอกจากยานพาหนะทางถนนแล้ว ประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดให้มีใบอนุญาตขับขี่สำหรับยานพาหนะทางรางด้วย ในเบื้องต้นจะแบ่งออกเป็น 6 ชนิด คือ รถจักรไอน้ำ รถจักรดีเซล รถจักรไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถราง และยานพาหนะทางรางประเภทอื่น[6]

ชนิดของใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทย แก้

ใบอนุญาตขับขี่สำหรับยานยนต์ขนาดเล็ก แก้

ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ใบอนุญาตขับขี่มีหลายชนิด[1] ผู้เริ่มขอมีใบอนุญาตขับขี่จะต้องรับการฝึกศึกษาในโรงเรียนการขนส่ง หรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมง แล้วจึงเข้ารับการทดสอบที่โรงเรียนฯ เมื่อผ่านการทดสอบแล้วจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อนำไปขอรับใบอนุญาตขับขี่ที่สำนักงานขนส่งอีกต่อหนึ่ง อีกวิธีหนึ่งคือ ผู้ขอมีใบอนุญาตขับขี่ฝึกขับรถกับผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี (ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์) หรือครูสอนขับรถ โดยห้ามมิให้มีบุคคลอื่นอยู่ในรถนอกจากผู้ขับและผู้ควบคุม ​เมื่อชำนาญดีแล้วจึงเข้ารับการอบรมภาคทฤษฎี และสอบภาคทฤษฎีและปฏิบัติที่สำนักงานขนส่ง วิธีการนี้จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีแรก แต่มีข้อเสียคือ หากสอบตกภาคปฏิบัติท่าหนึ่งจะต้องนัดสอบในสามวันทำการถัดไปเป็นอย่างน้อยเฉพาะท่าที่ตก ทำให้เสียเวลามาก ในชั้นนี้ผู้ขอใบอนุญาตขับขี่จะได้ใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว ซึ่งแบ่งออกเป็น

  • ใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราว
  • ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อชั่วคราว
  • ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราว

ใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวมีอายุสองปี และเป็นใบอนุญาตขับขี่ประเภทจำกัดสิทธิ์ คือ ปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดจากที่ต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรของเลือด จะลดลงเหลือ 20 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรของเลือด[7] อีกทั้งไม่สามารถขอมีใบอนุญาตขับขี่ระหว่างประเทศได้ ผู้ขอใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่รถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 105 ซีซี ก็ให้ลดเหลือ 15 ปีบริบูรณ์ได้ ใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวสามารถต่ออายุได้ล่วงหน้า 60 วัน หากผู้ถือใบอนุญาตขับขี่จักรยานยนต์ชั่วคราวยังมีอายุน้อยกว่า 18 ปีบริบูรณ์ก็ยังคงได้รับใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวต่อไป

เมื่อผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และได้ถือใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (สำนักงานขนส่งบางแห่งอาจให้ถือจนครบสองปี) ก็สามารถขอมีใบอนุญาตขับขี่ส่วนบุคคลเต็มรูปได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น[8]

  • ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล
  • ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล
  • ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล

ใบอนุญาตขับขี่เต็มรูปมีอายุห้าปี และสามารถต่ออายุได้ล่วงหน้า 6 เดือน[9] ผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ส่วนบุคคลอาจขอมีใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศเพื่อใช้เป็นการชั่วคราวในต่างประเทศได้

หากผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ประสงค์จะขับขี่เพื่อสินจ้าง จำเป็นต้องขอใบอนุญาตขับขี่สาธารณะนอกเหนือจากการใช้ยานพาหนะประเภทรับจ้าง (ป้ายเหลือง) ซึ่งจะมีขั้นตอนการตรวจประวัติอาชญากรเพิ่มเติมนอกเหนือจากการทดสอบปกติ เป็นเหตุให้ใช้เวลามากขึ้น ใบอนุญาตขับขี่สาธารณะแบ่งออกเป็น

  • ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ
  • ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ
  • ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ

ใบอนุญาตขับขี่สาธารณะมีอายุสามปี และสามารถต่ออายุได้ล่วงหน้า 6 เดือน สามารถใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ส่วนบุคคลเพื่อขับรถในประเภทเดียวกันได้ และมีสิทธิ์ขอรับใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศได้

นอกจากรถยนต์ รถยนต์สามล้อ และรถจักรยานยนต์ ยังมีใบอนุญาตขับขี่ประเภทอื่น ๆ คือ

  • ใบอนุญาตขับรถบดถนน (อายุ 3 ปี)
  • ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์(อายุ 3 ปี)
  • ใบอนุญาตขับรถประเภทอื่น ๆ
  • ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ (อายุ 1 ปี)

ใบอนุญาตในหมวดนี้ (ยกเว้นใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ) ไม่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวมาก่อน แต่โดยมากนายทะเบียนมักกำหนดให้ต้องมีก่อนอย่างน้อยหนึ่งปีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ขับขี่จะควบคุมยานพาหนะได้อย่างปลอดภัย

ใบอนุญาตขับขี่สำหรับยานยนต์ขนาดใหญ่ แก้

ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ใบอนุญาตขับขี่มี 8 ชนิด คือ[2][ม 1]

  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่หนึ่ง ทุกประเภท (หรือสาธารณะ) เรียกย่อว่า ท.1 ใช้ขับรถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรวมไม่เกิน 3,500 กิโลกรัมหรือบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 20 คน ทั้งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) และรับจ้าง (ป้ายเหลือง) ต้องมีอายุตั้งแต่ 22 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สอง ทุกประเภท (หรือสาธารณะ) เรียกย่อว่า ท.2 ใช้ขับรถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรวมเกิน 3,500 กิโลกรัมหรือบรรทุกคนโดยสารเกิน 20 คน ทั้งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) และรับจ้าง (ป้ายเหลือง) ต้องมีอายุตั้งแต่ 22 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สาม ทุกประเภท (หรือสาธารณะ) เรียกย่อว่า ท.3 ใช้ขับรถยนต์ลากจูง ทั้งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) และรับจ้าง (ป้ายเหลือง) ต้องมีอายุตั้งแต่ 22 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สี่ ทุกประเภท (หรือสาธารณะ) เรีกย่อว่า ท.4 ใช้ขับรถยนต์บรรทุกวัตถุอันตราย ทั้งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) และรับจ้าง (ป้ายเหลือง) ต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่หนึ่ง เฉพาะส่วนบุคคล เรียกย่อว่า บ.1 คล้ายกับ ท.1 แต่ใช้ได้เฉพาะการขนส่งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สอง เฉพาะส่วนบุคคล เรียกย่อว่า บ.2 คล้ายกับ ท.2 แต่ใช้ได้เฉพาะการขนส่งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สาม เฉพาะส่วนบุคคล เรียกย่อว่า บ.3 คล้ายกับ ท.3 แต่ใช้ได้เฉพาะการขนส่งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สี่ เฉพาะส่วนบุคคล เรียกย่อว่า บ.4 คล้ายกับ ท.4 แต่ใช้ได้เฉพาะการขนส่งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป

ใบอนุญาตขับขี่สำหรับยานยนต์ขนาดใหญ่ไม่จำเป็นต้องขอมีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวก่อน แต่ในทางปฏิบัติแล้วมักกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวหรือใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลมาก่อน ใบอนุญาตขับขี่สำหรับยานยนต์ขนาดใหญ่ประเภท ท. จะต้องมีการสอบประวัติอาชญากร ในขณะที่ประเภท บ. ไม่ต้องมีการสอบประวัติอาชญากร[10]

ใบอนุญาตขับขี่ฝ่ายทหาร แก้

ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ทหาร พ.ศ. 2479 ใบอนุญาตขับขี่ หรือใบอนุญาตพิเศษสำหรับขับรถยนต์ทหารแบ่งออกเป็น 7 ชนิด ดังนี้[11]

  • ชนิดที่ 1 รถยนต์สายพานใช้คันบังคับ
  • ชนิดที่ 2 รถยนต์สายพานหรือกึ่งสายพานที่ใช้พวงมาลัยบังคับ หรือรถยนต์ไม่น้อยกว่า 3 ล้อ บรรทุกน้ำหนักเกินกว่า 2 ตัน
  • ชนิดที่ 3 รถยนต์ไม่น้อยกว่า 3 ล้อ บรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 2 ตัน (เทียบเคียง ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล)
  • ชนิดที่ 4 รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง
  • ชนิดที่ 5 รถจักรยานยนต์พ่วงท้าย
  • ชนิดที่ 6 รถจักรยานยนต์ธรรมดา (เทียบเคียง ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล)
  • ชนิดที่ 7 รถทุกประเภทที่กล่าวมานี้ (เทียบเคียง ใบอนุญาตขับรถทุกประเภท ชนิดที่ 4 ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก)

การขอรับใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทย แก้

ผู้ประสงค์จะขอรับใบอนุญาตขับขี่ฝ่ายพลเรือน ต้องเตรียมเอกสารแสดงตน คือ บัตรประจำตัวประชาชน สำหรับคนไทย หรือ หนังสือเดินทางพร้อมหนังสือแสดงถิ่นที่อยู่สำหรับคนต่างด้าว (หนังสือแสดงถิ่นที่อยู่ ในที่นี้อาจเป็นใบอนุญาตทำงานหรือหนังสือรับรองจากตรวจคนเข้าเมืองท้องที่ก็ได้) นอกจากนี้จะต้องเตรียมใบรับรองจากแพทย์แผนปัจจุบันตามแบบของแพทยสภาว่าไม่มีโรคที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ[12]

เมื่อเตรียมเอกสารพร้อมแล้ว ผู้ขอจะต้องติดต่อกับสำนักงานขนส่งในเขตพื้นที่ ๆ ตนมีถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานอื่นที่สะดวกในการเดินทาง แล้วทำการทดสอบสายตาและปฏิกิริยาดังนี้[13][14][15][16][12][17]

  1. การทดสอบสายตาทางลึก หรือการทดสอบความไวต่อความสว่าง เครื่องมือทดสอบจะเป็นกล่องมีช่องเปิด ภายในมีแท่งวัตถุสองแท่ง ผู้ทดสอบจะต้องกดปุ่มขยับแท่งด้านซ้ายจนกระทั่งความสว่างเท่ากับแท่งด้านขวามือ
  2. การทดสอบปฏิกิริยา ผู้ทดสอบจะต้องใช้เท้ากดคันเร่งค้างจนกระทั่งเห็นสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นแดง ก็ให้รีบชักเท้ามายังแป้นห้ามล้อโดยเร็ว
  3. การทดสอบสายตาบอดสี ให้ผู้ทดสอบอ่านสัญญาณไฟจราจรหรือแผ่นทดสอบแล้วตอบสี
  4. การทดสอบสายตาทางกว้าง ผู้ทดสอบจะต้องวางใบหน้าแนบกับตัวเครื่อง เบิกตากว้าง แล้วตอบสีที่เห็นจากหางตา

เมื่อทดสอบสายตาและปฏิกิริยาผ่านแล้ว จึงเป็นขั้นตอนการอบรมภาคทฤษฎี ตามด้วยการสอบภาคทฤษฎี (ต้องได้คะแนน 45 คะแนนจากเต็ม 50 คะแนน) และสอบภาคปฏิบัติตามลำดับ โดยสำนักงานขนส่งแต่ละแห่งอาจสลับลำดับการดำเนินการเหล่านี้ได้ตามความเหมาะสม เช่น อาจให้สอบภาคปฏิบัติก่อนแล้วจึงสอบภาคทฤษฎี หรือสอบภาคทฤษฎีแล้วสอบภาคปฏิบัติก็ย่อมได้ ในการสอบภาคปฏิบัติ ประเทศไทยใช้ระบบการทดสอบในสนามขับเป็นสถานี เพราะสภาพของบางท้องที่อาจไม่เหมาะสม ท่าทดสอบที่นิยมใช้มีดังนี้[14][15]

  1. การเดินหน้าและหยุดรถเทียบทางเท้า
  2. การขับรถเดินหน้าและถอยหลังในทางตรง
  3. การขับรถถอยหลังเข้าจอดและออกจากช่องว่างด้านซ้าย (ถอยหลังเข้าซอง)

นอกจากนี้ยังมีท่าทดสอบอื่นที่สนามสอบอาจพิจารณานำมาทดสอบแทนท่าที่กล่าวไว้นี้ได้ โดยท่าที่ 1 และ 2 บังคับสำหรับรถยนต์ และท่าที่ 3 บังคับสำหรับรถขนส่ง

ส่วนรถจักรยานยนต์ นิยมใช้ท่าทดสอบคือ

  1. ขับรถโดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
  2. ขับรถบนทางตรงแคบ
  3. ขับรถผ่านทางโค้งซ้ายและโค้งขวารูปตัวเอส (เลือก)

ทั้งนี้อาจทดสอบด้วยท่าทดสอบอื่นที่แตกต่างจากนี้ก็ได้ แต่ต้องมีท่าที่ 1 เป็นท่าบังคับ

รถยนต์ทหาร[11] แก้

ในกรณีของรถยนต์ทหาร[18] จะต้องให้หน่วยระดับกรมหรือเทียบเท่าขึ้นไปทำเรื่องส่งตัวผู้ที่ประสงค์จะมีใบอนุญาตขับขี่ไปทำการทดสอบ ณ กรมการขนส่งทหารบก หรือกรมการขนส่งเหล่าทัพอื่น ๆ ผู้ประสงค์จะใบอนุญาตขับขี่จะไปติดต่อเองไม่ได้โดยตรง ในทางปฏิบัติผู้ที่เป็นพลขับมักจะคัดเลือกและบรรจุจากผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ฝ่ายพลเรือนมาก่อนแล้ว

การทดสอบขับรถยนต์ทหาร จะเริ่มที่การสอบภาคปฏิบัติก่อน โดยมีท่าสอบ 4 ท่า บังคับทั้งหมด ดังนี้

  1. การเดินหน้าและหยุดรถเทียบทางเท้า
  2. การขับรถเดินหน้าและถอยหลังในทางตรง
  3. การขับรถถอยหลังเข้าจอดและออกจากช่องว่างด้านซ้าย
  4. การขับรถโดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร

เมื่อผู้สอบสอบผ่านแล้ว จึงจะไปสอบภาคทฤษฎีต่อไป เมื่อผ่านจึงจะได้รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ทหารต่อไป

ใบอนุญาตขับขี่ในอดีต แก้

ตามพระราชบัญญัติล้อเลื่อน พ.ศ. 2478[19] ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับซึ่งไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2546 [20] ผู้ขับขี่และลากเข็นล้อเลื่อน อาทิ รถจักรยานเท้าถีบ รถลาก รถเข็น ยกเว้นเกวียน จะต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่ก่อน หากจะฝึกหัดขับขี่ก็ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว

ในปัจจุบันได้มีความพยายามรื้อฟื้นให้มีใบอนุญาตขับขี่จักรยานเท้าถีบ เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นการกำหนดเกณฑ์อายุและความสามารถของผู้ขับขี่ตลอดจนเป็นการเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน แต่แนวคิดดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่ยุติและเห็นว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ขับขี่[21][22]

หมายเหตุ แก้

  1. ตามมาตรา 95 บัญญัติว่ามี 4 ชนิด แต่ในทางปฏิบัติแยกย่อยได้ 8 ชนิด

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เก็บถาวร 2011-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. 2.0 2.1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เก็บถาวร 2011-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติรถยนต์ทหาร พ.ศ. 2476 เก็บถาวร 2021-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เก็บถาวร 2020-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดเงื่อนไขในการพิจารณาการออกใบอนุญาตขับรถ สำหรับผู้ที่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ พ.ศ. ๒๕๕๘
  6. "กรมฯราง"ลุยคลอดเกณฑ์ออกใบขับขี่รถไฟ-รถไฟฟ้า-รถไฟไฮสปีด
  7. ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๖๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒
  8. ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2546 เก็บถาวร 2021-06-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  9. ขนส่งฯ ขยายเวลาขอต่ออายุใบขับขี่ 3 เป็น 6 เดือน ดีเดย์ 1 เม.ย.นี้ จาก สยามรัฐ
  10. "ระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการต่ออายุ การแก้ไขรายการ และการออกใบแทนใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถ พ.ศ. 2564" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-06. สืบค้นเมื่อ 2021-06-06.
  11. 11.0 11.1 "ข้อบังคับทหารว่าด้วยการใช้รถยนต์ทหาร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-12-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-06.
  12. 12.0 12.1 กรมการขนส่งทางบก, การขอรับใบขับขี่ชนิดชั่วคราว (ขอใหม่) เก็บถาวร 2021-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  13. โรงเรียนสอนขับรถแม่ขรี, เรียนขับรถ พร้อมอบรมสอบใบขับขี่ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565)
  14. 14.0 14.1 ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอบรมและทดสอบผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ ผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ และผู้ขอรับบัตรประจำตัวคนขับรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2554
  15. 15.0 15.1 ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการศึกษาอบรมและทดสอบผู้ขอรับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ พ.ศ. 2547
  16. โรงเรียนสอนขับรถไอไดรฟ์รังสิต, เรียนขับรถ หลักสูตรสอนขับรถที่ใช้เพื่อการขนส่งทางบก บ2/ท2 เก็บถาวร 2021-06-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564)
  17. โรงเรียนสอนขับรถแอดวานซ์, โรงเรียนสอนขับรถ สอบใบขับขี่รถบรรทุกเพื่อการขนส่ง ท2 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564)
  18. "ขั้นตอนในการขอสอบใบอนุญาตพิเศษสำหรับขับขี่รถยนต์ทหาร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-06. สืบค้นเมื่อ 2021-06-06.
  19. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติล้อเลื่อน พ.ศ. 2478
  20. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับซึ่งไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. 2546 เก็บถาวร 2022-10-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  21. ผู้จัดการ, 'ใบขับขี่จักรยาน' เรื่องเก่าเล่าใหม่ จัดการอย่างไร ไม่ให้สังคมแอนตี้!?, 12 พฤษภาคม 2558
  22. ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย, ใบขับขี่จักรยาน…อีกสักครั้ง, 24 มีนาคม 2556


ดูเพิ่ม แก้