โทรณาจารย์
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
โทรณะ (Droṇa) หรือ โทรณาจารย์ เป็นครูสอนวิชาอาวุธผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชสำนักหัสตินาปุระ และเป็นอาจารย์ของเหล่าตัวละครเอกในเรื่องมหาภารตะทั้งฝ่ายเการพและปาณฑพ ภายหลังเมื่อเกิดสงครามทุ่งกุรุเกษตร โทรณะได้เป็นหนึ่งในแม่ทัพของฝ่ายเการพ จนกระทั่งเสียชีวิตลงด้วยน้ำมือของธฤษฏะทฺยุมัน ในสงครามครั้งนั้น
โทรณาจารย์ | |
---|---|
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
ครอบครัว | ฤๅษีภรัทวาชะ (บิดา) นางอัปสรฆฤตาจี (มารดา) |
คู่สมรส | นางกฤปี |
บุตร | อัศวัตถามา |
ญาติ | กฤปาจารย์ (พี่เขย) |
ประวัติ
แก้กำเนิดและวัยเยาว์
แก้โทรณะเป็นบุตรแห่งฤษีภรัทวาชะ (Bharadvāja) โดยวันหนึ่งภรัทวาชะไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคาและได้พบนางอัปสรฆฤตาจี (Ghṛtācī) ผู้งดงามอย่างยิ่ง ทำให้ภรัทวาชะหลั่งน้ำเชื้อลงในภาชนะใส่น้ำ และเกิดเป็นเด็กชายคนหนึ่งขึ้นมา เด็กนั้นจึงได้ชื่อว่า “โทรณะ” ซึ่งแปลว่า “กระออมน้ำ” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “ภารัทวาชะ (Bhāradvāja) ” ซึ่งหมายถึง “บุตรแห่งภรัทวาชะ” ข้อความหนึ่งในมหาภารตะกล่าวด้วยว่า โทรณะนั้นคือพระพฤหัสปติ (Bṛhaspati) ผู้เป็นอาจารย์ของทวยเทพแบ่งภาคลงมาเกิด
โทรณะเรียนวิชาอาวุธอยู่ในสำนักของบิดา โดยมีทรุปัท (Drupada) เจ้าชายแห่งแคว้นปัญจาละ (Pañcāla) เป็นเพื่อนร่วมสำนัก ต่อมาทรุปทจบการศึกษาและกลับเมืองของตนไป ส่วนโทรณะมีโอกาสได้รับอาวุธจากปรศุราม (Paraśurāma) จึงอาจนับได้ว่าโทรณะเป็นศิษย์ของปรศุรามด้วยอีกทางหนึ่ง
ชีวิตครอบครัวและจุดเริ่มต้นความแค้น
แก้โทรณะแต่งงานกับนางกฤปี (Kṛpī) น้องสาวของกฤปะ (Kṛpa) หรือกฤปาจารย์ มีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่ง ชื่ออัศวัตถามัน (Aśvatthāman) มหาภารตะบางฉบับเล่าว่า โทรณะมีฐานะขัดสนมาก ไม่สามารถซื้อนมให้อัศวัตถามันได้ ทำให้เด็กอื่นๆกลั่นแกล้งอัศวัตถามันด้วยการผสมน้ำแป้งให้ดื่มโดยหลอกว่าเป็นนม จากเหตุการณ์นี้ โทรณะจึงเดินทางไปยังแคว้นปัญจาละเพื่อขอความช่วยเหลือจาก ทรุปัท อดีตเพื่อนร่วมสำนักของตน
ขณะนั้น ทรุปัทขึ้นครองราชย์เป็นราชาแห่งปัญจาละแล้ว โทรณะได้เข้าไปพบและแจ้งว่าตนคือเพื่อนเก่า แต่ทรุปัทแสดงออกถึงอาการรังเกียจและปฏิเสธไมตรีแต่เดิม ทำให้โทรณะแค้นใจมากและเดินทางออกจากแคว้นปัญจาละ มุ่งหน้าสู่นครหัสตินาปุระ (Hastināpura) ทันที
เหตุการณ์ที่ทรุปัทขับไล่โทรณะอย่างไร้เยื่อใยในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นความแค้นระหว่างคนทั้งคู่ ซึ่งจะนำไปสู่เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับทั้งสองต่อไปอีกมากในอนาคต
“อาจารย์” แห่งหัสตินาปุระ
แก้โทรณะเดินทางไปยังเมืองหัสตินาปุระ และได้พบกับราชกุมารทั้งหลายซึ่งกำลังเดือดร้อน เพราะเล่นกันแล้วทำลูกบอลตกลงไปในบ่อน้ำลึก โทรณะจึงสำแดงฝีมือธนูโดยยิงลูกธนูให้ต่อกันเป็นสาย จนสามารถเก็บลูกบอลรวมถึงแหวนที่โยนลงไปขึ้นมาได้สำเร็จ เด็กๆอัศจรรย์ใจกับทักษะนี้มาก โทรณะจึงสั่งให้นำเรื่องนี้ไปเล่าแก่ภีษมะ (Bhīṣma) เมื่อได้ฟังจากหลาน ๆ ภีษมะก็ทราบในทันทีว่าบุคคลผู้นี้คือโทรณะ จึงเข้าไปพบและขอร้องให้รับเหล่าราชบุตรเป็นศิษย์ โทรณะซึ่งตั้งใจเช่นนั้นอยู่แล้วก็ตอบรับ โดยขอสัญญาจากเด็ก ๆ ว่า เมื่อสำเร็จการศึกษา จะต้องกระทำสิ่งหนึ่งตามที่ตนสั่งโดยไม่บิดพลิ้ว แต่ไม่ได้แจ้ง ณ เวลานั้นว่าสิ่งที่ต้องการคือกิจธุระใด การเข้ารับตำแหน่งเป็นอาจารย์ด้านวิชาอาวุธในราชสำนักหัสตินาปุระนี้ทำให้โทรณะมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “อาจารยะ (Ācārya)” ซึ่งก็แปลว่า “อาจารย์” นั่นเอง
ในฐานะครูผู้ถ่ายทอดวิชา โทรณะทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม สามารถสร้างลูกศิษย์ให้เป็นนักรบที่เก่งกาจได้ทั่วถ้วน แต่หากพิจารณาถึงจรรยาบรรณความเป็นครูตามแนวคิดปัจจุบัน การกระทำของโทรณะอาจเรียกได้ว่าไม่สู้ยุติธรรมนัก สิ่งหนึ่งที่โทรณะแสดงออกอย่างชัดเจนคือความรักใคร่และเข้าข้างอรชุน (Arjuna) เหนือกว่าศิษย์คนอื่น ๆ เพราะอรชุนนั้นมีพรสวรรค์ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน และรู้จักกระทำตนให้เป็นที่รักของอาจารย์ เช่นที่ในบางต้นฉบับเล่าว่า โทรณะต้องการถ่ายทอดวิชาพิเศษให้บุตรของตนคือ อัศวัตถามันแต่เพียงผู้เดียว จึงสั่งให้ศิษย์คนอื่น ๆ ไปตักน้ำ แล้วสอนวิชาลับแก่อัศวัตถามันในระหว่างนั้น อรชุนรู้เข้าจึงพยายามตักน้ำให้เสร็จโดยเร็วแล้วกลับเข้าไปเรียนด้วย ทำให้อรชุนได้รับการสั่งสอนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอัศวัตถามัน หรือครั้งหนึ่งอรชุนนำธนูไปฝึกเพิ่มเติมเองในเวลากลางคืน โทรณะมาพบเข้าก็ประทับใจอย่างยิ่ง ถึงกับออกปากว่า จะทุ่มเททุกวิถีทางเพื่อให้อรชุนเป็นนักธนูที่ไม่มีผู้ใดในโลกเสมอได้ ด้วยความรักและคำสัตย์ที่ให้ไว้กับอรชุนนี้เอง ทำให้โทรณะเลือกจะไม่สอนวิชาอาวุธพรหมาสตร์ (Brahmāstra) แก่กรรณะ (Karṇa) ตามที่กรรณะร้องขอ แม้ว่ากรรณะมีศักยภาพเพียงพอที่จะเรียน ทั้งยังทำให้เกิดเรื่องราวน่าสลดของเอกลัพย์ (Ekalavya) อีกด้วย
เอกลัพย์เป็นเจ้าชายของชาวนิษาท (Niṣāda) ซึ่งเป็นกลุ่มชนนอกสังคมอารยัน อาศัยอยู่ในป่า เอกลัพย์เดินทางมาขอเรียนกับโทรณะในหัสตินาปุระแต่ถูกปฏิเสธ จึงกลับไปแล้วปั้นดินเป็นรูปโทรณะ ฝึกฝนวิชาธนูเองต่อหน้ารูปดินนั้นจนชำนาญ วันหนึ่งอรชุนได้เห็นฝีมือของเอกลัพย์โดยบังเอิญ จึงกลับไปต่อว่าโทรณะ ว่าเหตุใดจึงผิดคำสัญญาไปสอนศิษย์อื่นให้เก่งกาจกว่าตนได้ โทรณะจึงไปหาเอกลัพย์และขอค่าทักษิณาเป็นนิ้วโป้งของเอกลัพย์ เอกลัพย์นั้นนับถือโทรณะเป็นครูโดยสุจริตใจ จึงตัดนิ้วโป้งมอบให้โดยไม่รีรอ เมื่อขาดนิ้วที่เป็นหลักในการจับลูกธนู เอกลัพย์ก็ไม่อาจทัดเทียมกับอรชุนได้อีก เหตุการณ์นี้แม้จะนับว่าโทรณะกระทำตามสัตยวาจาตามหลักศาสนาฮินดู แต่ก็ทำให้เห็นความคิดจิตใจบางประการของโทรณะได้ดีทีเดียว
นอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ เรื่องราวอันแสดงถึงความรักของโทรณะที่มีต่ออรชุนเป็นพิเศษยังมีอีกไม่น้อย ดังเช่นการจัดทดสอบฝีมือศิษย์โดยสั่งให้ยิงนกประดิษฐ์ที่วางอยู่บนยอดไม้ ซึ่งมีแต่อรชุนเท่านั้นที่ทำได้ หรือการสอนวิชาอาวุธพรหมศิรัส (Brahmaśiras) แก่อรชุนเพียงผู้เดียวหลังจากที่อรชุนได้พิสูจน์ตนว่ามีความสามารถเพียงพอ เป็นต้น
ภายหลังเสร็จสิ้นการเรียนการสอน โทรณะได้ทวงสัญญากับราชบุตรทั้งหลาย โดยขอให้ช่วยทำสงครามกับแคว้นปัญจาละและจับตัวทรุปัทมาให้ได้ เหล่าเจ้าชายก็กระทำตามนั้นได้สำเร็จ โทรณะขอให้ ทรุปัทกลับคืนเป็นมิตรต่อกันอีกครั้ง และขอปันอาณาจักรครึ่งหนึ่ง ทรุปัทจำต้องยอมตาม แต่ก็ผูกใจเจ็บ กระทั่งตั้งความปรารถนาจะมีบุตรชายเพื่อจะสังหารโทรณะให้ได้ในสักวันหนึ่ง
แม่ทัพแห่งสงครามกุรุเกษตร
แก้โทรณะร่วมมหาสงครามแห่งทุ่งกุรุเกษตรโดยเข้ากับฝ่ายเการพ เพราะสินจ้างและบุญคุณของราชสำนักหัสตินาปุระ แม้ในใจโทรณะเองจะทราบถึงคุณธรรมของเจ้าชายปาณฑพและหวังให้ฝ่ายนั้นได้รับชัยชนะก็ตาม
โทรณะได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพสูงสุดของฝ่ายเการพในวันที่สิบของสงคราม หลังจากภีษมะ ต้องศรของอรชุนจนไม่อาจทำหน้าที่นั้นต่อไปได้ ตลอดสิบห้าวันที่ทำศึก โทรณะรบอย่างเต็มที่ ทำลายกำลังพลของฝ่ายตรงข้ามไปมาก และได้ต่อสู้กับคนระดับแม่ทัพของปาณฑพหลายครั้ง ทั้งยุธิษฐิระ (Yudhiṣṭhira) ภีมะ (Bhīma) อรชุน และธฤษฏะทฺยุมัน (Dhṛṣṭadyumna) บุตรชายของทรุปัท การยุทธเหล่านี้มีทั้งที่โทรณะต้องอาวุธจนหมดสติ และที่โทรณะได้ชัย สามารถสังหารศัตรูได้ ซึ่งรวมถึงทรุปัทด้วย ฝีมืออาวุธของโทรณะสร้างความเสียหายมหาศาลแก่ฝ่ายปาณฑพ จนในที่สุด กฤษณะ (Kṛiṣṇa) ก็ประจักษ์ว่าปาณฑพไม่อาจเอาชนะโทรณะได้ด้วยการต่อสู้ซึ่งหน้า จึงต้องคิดวางอุบายเพื่อหาทางปราบโทรณะลงให้จงได้
ภีมะฆ่าช้างศึกช้างหนึ่งซึ่งมีชื่อว่าอัศวัตถามันเช่นเดียวกับบุตรของโทรณะ แล้วส่งข่าวลวงไปว่าอัศวัตถามันถูกฆ่าตายในการรบ โทรณะพยายามถามความจริงจากยุธิษฐิระ เพราะมั่นใจความสัตย์ของเขา กระนั้นยุธิษฐิระก็ตอบกึ่งจริงกึ่งลวงเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน เมื่อเข้าใจว่าบุตรชายเสียชีวิต โทรณะก็โศกเศร้าจนทิ้งอาวุธ ไม่สนใจสงครามที่ดำเนินอยู่อีกต่อไป และได้เข้าสมาธิจนบรรลุถึงพรหมันในสนามรบนั้นเอง เป็นโอกาสให้ธฤษฏะทฺยุมัน ได้เข้าถึงตัวและบั่นเศียรของโทรณะลงได้ในที่สุด
โทรณะเสียชีวิตในวันที่ 15 ของสงครามด้วยวัย 85 ปี หลังความตาย โทรณะได้กลับคืนสู่อัตภาพดั้งเดิมคือพระพฤหัสปติ ทิ้งไว้เพียงตำนานเรื่องอาจารย์ผู้ยิ่งยงแห่งหัสตินาปุระให้ชาวภารตะและชาวโลกได้กล่าวขวัญถึง
บรรณานุกรม
แก้- Mani, Vettam. Purāṇic Encyclopaedia. Delhi: Motilal Banarsidass, 1975.
- The Mahābhārata. Vol.1. Poona: The Bhandarkar Oriental Research Institute, 1971.
- The Mahābhārata. Vol.3. Poona: The Bhandarkar Oriental Research Institute, 1974.
- กรุณา – เรืองอุไร กุศลาสัย. มหาภารตยุทธ. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2552.