โคปุรัม

(เปลี่ยนทางจาก โคปุระ)

โคปุรัม หรือ โคปุระ (สันสกฤต: गोपुरम्, gopuram) คือหอคอยซุ้มทางเข้าโบสถ์พราหมณ์ ปกติมักประดับตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยเทวรูปมากมาย พบในสถาปัตยกรรมทราวิฑหรือสถาปัตยกรรมทมิฬนาฑู ซึ่งเป็นที่นิยมในอินเดียใต้[1]

โคปุรัมของมหามริอัมมันโกยิล กรุงเทพมหานคร

ในอดีต ไม่นิยมสร้างโคปุรัมให้ใหญ่โตเหมือนในปัจจุบัน[2] ต่อมาจึงนิยมสร้างให้มีขนาดใหญ่และส่วนใหญ่นิยมสร้างโคปุรัมล้อมรั้วของเทวสถานด้วยซ้ำ ด้านบนสุดของโคปุรัมคือหินทรงบัลบัสที่เรียกว่ากลสัม (kalasam)[3] สิ่งก่อสร้างลักษณะเดียวกับโคปุรัมตรงกลางของเทวสถานเรียกในอินเดียใต้ว่า วิมาน (vimana) หรือเรียกในอินเดียเหนือว่า ศิขร (shikhara) ทั้งคู่สร้างและออกแบบตามกฏที่บัญญัติไว้ในวาสตุศาสตร์ (Vastu Shastra) คัมภีร์ฮินดูว่าด้วยการก่อสร้างและการออกแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายกับการวางฮวงจุ้ยของจีน[4]

ภาพกราฟิกแสดงอาคารต่าง ๆ ในโบสถ์พราหมณ์อย่างง่าย โคปุรัมคือโครงสร้างสีแดงเลือดหมู

นักโบราณคดีเชื่อว่าโคปุรัมได้รับอิทธิพลจากยุคปัลลวะและโครงสร้างที่เรียกว่าหอศิขรในสถาปัตยกรรมแบบอินเดียเหนือ ซึ่งราวปีคริสต์ศักราช[โปรดขยายความ] 12–16 เทวสถานฮินดูกลายเป็นศูนย์รวมของชุมชน ซุ้มทางเข้าจึงกลายเป็นส่วนสำคัญของเทวสถานฮินดู การสร้างซุ้มประตูทางเข้าให้งดงามและโอ่อ่าจึงทำให้เกิดการสร้างโคปุรัมขึ้น จนในที่สุดโคปุรัมบดบังลักษณะของวิหารภายใน[5] บางครั้งโคปุรัมก็เป็นเทวาลัยในตนเองด้วย บางเทวสถานจึงมีโคปุรัมมากกว่าหนึ่งแห่ง[1] โคปุรัมแพร่หลายไปพร้อมกับอิทธิพลของฮินดู ดังที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมเขมร เช่น ปราสาทหินต่าง ๆ ที่พบในประเทศกัมพูชาและไทย

นักศัพทมูลวิทยาสันนิษฐานที่มาของชื่อ โคปุรัม ไว้อยู่สองทฤษฎีคือ ทฤษฎีแรกเชื่อว่ามาจากภาษาทมิฬคำว่า โค (கோ; kō) ซึ่งแปลว่า "กษัตริย์" และ ปุราม (புறம்; puram) ซึ่งแปลว่า "ด้านนอก"[6] ในขณะที่อีกทฤษฎีเชื่อว่ามาจากภาษาสันสกฤตคำว่า โค (สันสกฤต: गो) ซึ่งแปลว่าวัว หรือ นคร และคำว่า ปุระ (สันสกฤต: पुरम्) ซึ่งแปลว่า เมือง หรือ นิคม[7]

ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "gopura". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2008-01-20.
  2. Ching, Francis D.K.; และคณะ (2007). A Global History of Architecture. New York: John Wiley and Sons. p. 762. ISBN 0-471-26892-5.
  3. Ching, Francis D.K. (1995). A Visual Dictionary of Architecture. New York: John Wiley and Sons. p. 253. ISBN 0-471-28451-3.
  4. Ananth, Sashikala (1 January 2000). Penguin Guide to Vaastu: The Classical Indian Science of Architecture and Design (2 ed.). Mumbai: Penguin. ISBN 014027863X. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  5. Michell, George (1988). The Hindu Temple. Chicago: University of Chicago Press. pp. 151–153. ISBN 0-226-53230-5.
  6. Sellby, Martha A.; Indira Viswanathan Peterson (2008). Tamil geographies: cultural constructions of space and place in South India. SUNY Press.
  7. Lienhard S., von Hinèuber O. (2007). Kleine Schriften: Supplement (ภาษาฝรั่งเศส). Harrassowitz Verlag. p. 414. ISBN 9783447056199.