แม่น้ำพิจิตร หรือ แม่น้ำน่านเก่า เป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำน่าน ยาวประมาณ 128 กิโลเมตร มีต้นน้ำไหลแยกจากแม่น้ำน่านที่บ้านวังกระดี่ทอง อำเภอเมืองพิจิตร สภาพลำน้ำคดเคี้ยว ไหลผ่านอำเภอเมืองพิจิตร อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอตะพานหิน แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำยมที่บ้านบางคลาน อำเภอโพทะเล[1] ระหว่างทางของแม่น้ำพิจิตรแตกสาขาเป็นคลองข้าวตอก ซึ่งไหลไปบรรจบแม่น้ำน่านอีกครั้งหนึ่งด้วยความยาว 58 กิโลเมตร

เหตุที่เรียกแม่น้ำน่านเก่าเพราะเดิมคือแม่น้ำน่านแต่ภายหลังแม่น้ำได้เปลี่ยนทางเดิน[2] ในแผนที่กรมแผ่นที่ทหาร แม่น้ำน่านในช่วงผ่านอำเภอเมืองพิจิตร เรียกว่า น้ำเมืองเก่า ส่วนตอนที่ผ่านอำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอตะพานหิน และอำเภอโพทะเล เรียก แม่น้ำพิจิตร[3]

แม่น้ำพิจิตรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) ดงเศรษฐี บริเวณปากแม่น้ำพิจิตรที่แยกมาจากแม่น้ำน่าน บริเวณตำบลย่านยาว อำเภอเมืองพิจิตร เมื่อ พ.ศ. 2543 เพื่อผันน้ำเข้าแม่น้ำพิจิตร และได้โอนภารกิจให้กรมทรัพยากรน้ำ เมื่อ พ.ศ. 2545 และช่วง พ.ศ. 2551–2555 กรมทรัพยากรน้ำยังได้ฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร มีการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 3 แห่งในแม่น้ำพิจิตร ชื่อ ปตร.ดงเศรษฐี[4]

อ้างอิง แก้

  1. "พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนสมัยสุโขทัยในจังหวัดพิจิตร". สำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย.
  2. "แม่น้ำพิจิตร". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "แม่น้ำ ลำคลองในท้องที่จังหวัดพิจิตร" (PDF).
  4. "ท้าวมาลีวราช สทนช.แก้ไขปัญหาแม่น้ำพิจิตร". สยามรัฐออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-04-08. สืบค้นเมื่อ 2023-04-08.