แมงกะพรุนโนะมุระ

แมงกะพรุนโนะมุระ
แมงกะพรุนโนะมุระ
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์
สถานะการอนุรักษ์
Not evaluated (IUCN 3.1)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Cnidaria
ชั้น: Scyphozoa
อันดับ: Rhizostomae
วงศ์: Rhizostomatidae
สกุล: Nemopilema
สปีชีส์: N.  nomurai
ชื่อทวินาม
Nemopilema nomurai
(Kishinouye, 1922)

แมงกะพรุนโนะมุระ (ญี่ปุ่น: エチゼンクラゲ; โรมะจิ: echizen kurage; อังกฤษ: Nomura's jellyfish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Nemopilema nomurai) สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกแมงกะพรุนชนิดหนึ่ง จัดเป็นแมงกะพรุนชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นสัตว์ในไฟลัมไนดาเรียที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแมงกะพรุนชนิดที่รับประทานได้แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก[1]

แมงกะพรุนโนะมุระ แพร่กระจายพันธุ์อย่างรวดเร็วในน่านน่้ำญี่ปุ่น โดยอุตสาหกรรมประมงที่เคยจับปลาได้คราวละหลายล้านตัน ต้องตกตะลึงเมื่ออวนลากพบแต่แมงกะพรุนชนิดนี้เต็มไปหมด นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 จำนวนประชากรในญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นหลายพันล้านตัว จากเดิมที่เคยแพร่ขยายพันธุ์ครั้งใหญ่คราวละ 40 ปี ปัจจุบันคาดการณ์ว่ามีประมาณ 2 หมื่นล้านตัว มากกว่าประชากรมนุษย์บนโลกถึง 3 เท่า

แมงกะพรุนโนะมุระขนาดใหญ่สุดมีน้ำหนักได้มากถึง 450 ปอนด์ และมีเส้นรอบวงประมาณ 12 ฟุต การแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของแมงกะพรุนโมมูระทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งทำการศึกษาและหยุดยั้งการแพร่ขยายพันธุ์ จากการศึกษาวิจัยโดยเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม พบว่าแมงกะพรุนโนะมุระมีพฤติกรรมที่ตะกละตะกลามมาก โดยหนึ่งตัวจะกินแพลงก์ตอนสัตว์คราวละมาก ๆ เทียบเท่ากับจำนวนเต็มทั้งสระว่ายน้ำโอลิมปิกได้ทั้งสระภายในหนึ่งวัน

ในเวลากลางวัน แพลงก์ตอนสัตว์จะลอยตัวขึ้นเหนือน้ำ แมงกะพรุนโนะมุระจะลอยตามตัว เมื่อตกกลางคืนแพลงก์ตอนสัตว์ก็จะดำดิ่งลงไป แมงกะพรุนโนะมุระก็จะลอยตัวลงต่ำตามไปด้วย และจากการศึกษาพบว่า เมื่อผ่าตัวหรือจับขึ้นมาแล้ว แมงกะพรุนโนะมุระตัวเมียจะปล่อยไข่หลายล้านฟอง และตัวผู้ก็มีสเปิร์มหลายล้านตัว เมื่อถูกจู่โจมไข่และสเปิร์มจะถูกปฏิสนธิทันที ไข่ที่สุกแล้วจะจมลงไปสู่พื้นทะเลเพื่อรอการเจริญเติบโตไป โดยสามารถอยู่รอดได้หลายปีหรือแม้กระทั้งหลายสิบปี จนกระทั่งถูกภาวะบางประการกระตุ้น แมงกะพรุนตัวอ่อนจะลอยตัวขึ้นมาสู่ท้องทะเลทันที โดยภาวะที่ไปกระตุ้นให้แมงกะพรุนเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างน่าตกตะลึงนั้น เชื่อว่าเป็นผลมาจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำที่มีมลพิษ[2] ที่ส่งผลให้แพลงก์ตอนต่าง ๆ มีธาตุอาหารมากขึ้น ซึ่งก็เป็นอาหารของแมงกะพรุนด้วย ตลอดจนสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ในกรณีของแมงกะพรุนโนะมุระนั้นเชื่อว่าเป็นผลมาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งเรียงรายบริเวณปากแม่น้ำแยงซีในประเทศจีน ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่และเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย[3]

อ้างอิง แก้

  1. Kawahara, M., and M. N Dawson (2007). "Nemopilema nomurai - a big problem". The Scyphozoan. สืบค้นเมื่อ 28 September 2013.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. "ท่องโลกกว้าง: แมงกะพรุนแห่งท้องทะเล". ไทยพีบีเอส. 17 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-04. สืบค้นเมื่อ 18 June 2014.
  3. "ท่องโลกกว้าง: แมงกะพรุนแห่งท้องทะเล (2)". ไทยพีบีเอส. 17 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-04. สืบค้นเมื่อ 18 June 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Nemopilema nomurai ที่วิกิสปีชีส์