แบงค็อกสกรีนนิงรูม
แบงค็อกสกรีนนิงรูม (อังกฤษ: Bangkok Screening Room; ชื่อย่อ: BKKSR) คือ โรงภาพยนตร์อิสระในประเทศไทย ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคารครีเอทีฟสี่ชั้น บริเวณปากซอยศาลาแดง 1 กรุงเทพมหานครฯ ก่อตั้งโดยกลุ่มทรีโลจี (Threelogy) เปิดให้บริการวันที่ 22 กันยายน 2559[1] และยุติการให้บริการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ฉายภาพยนตร์ทางเลือกทั้งของไทยและต่างประเทศ รวมถึงเปิดพื้นที่ให้ผู้สร้างภาพยนตร์อิสระได้แสดงผลงานของตนเอง และเปิดให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนความรู้ วัฒนธรรม และความคิดผ่านการชมภาพยนตร์[2]
ประวัติแก้ไข
แบงค็อกสกรีนนิ่งรูมเกิดจากแนวคิดของกลุ่มคนที่ทำงานด้านศิลปะและการออกแบบในนาม "ทรีโลจี" ประกอบด้วย ศริญญา มานะมุติ, วงศรน สุทธิกุลพาณิช และนิโคลัส ฮัดสัน-เอลิส[3] ที่ต้องการสร้างโรงภาพยนตร์อิสระในประเทศไทยที่มีลักษณะถาวรและบริหารงานแบบมืออาชีพ และมีพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนและประกอบกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการชมภาพยนตร์นอกกระแสหลัก และสนับสนุนผู้สร้างภาพยนตร์และการสร้างภาพยนตร์ไปพร้อม ๆ กัน[4]
การฉายภาพยนตร์แก้ไข
โรงภาพยนตร์แห่งนี้ให้ความสำคัญกับการฉายภาพยนตร์ทางเลือกทั้งของไทยและต่างประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์คลาสสิก ภาพยนตร์อิสระ ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์ขนาดสั้น รวมถึงภาพยนตร์คุณภาพดีที่ถูกถอดออกจากโปรแกรมฉายของโรงภาพยนตร์กระแสหลักเนื่องจากทำรายได้ช้า[2] โดยจะจัดสรรสัดส่วนภาพยนตร์ที่เข้าฉายต่อเดือนให้มีทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศรวมกัน 4 เรื่อง แต่ละเรื่องฉายขั้นต่ำ 15 รอบ และสอดแทรกรอบฉายของภาพยนตร์คลาสสิกอีกประมาณ 6-10 รอบต่อเดือน ส่วนรายได้ที่ได้รับจากการฉายแต่ละเรื่องจะแบ่งให้กับผู้สร้างหรือผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งหมด[5]
นอกจากนี้ ยังเปิดให้บุคคลภายนอกเช่าพื้นที่จัดฉายภาพยนตร์โปรแกรมพิเศษหรือเทศกาลภาพยนตร์นอกเหนือจากโปรแกรมที่โรงกำหนดด้วย[5] อาทิ เทศกาลภาพยนตร์แรงงานข้ามชาติสากล 2016 ที่จัดโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เมื่อวันที่ 14-18 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้น[6]
รางวัลที่ได้รับแก้ไข
ปี พ.ศ. 2560 นิตยสารไบโอสโคปมอบ "รางวัลไบโอสโคป" ประจำปี พ.ศ. 2559 สาขาหน้าใหม่น่าจับตา แก่โรงภาพยนตร์แห่งนี้ เนื่องจากเป็นโรงภาพยนตร์ที่คาดว่าจะสร้างพื้นที่ใหม่สำหรับวงการภาพยนตร์ในประเทศไทย พร้อมกับเป็นแหล่งบ่มเพาะวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ที่เปิดโลกทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มาชมได้ในอนาคต[7]
ประกาศยุติกิจการแก้ไข
โรงภาพยนตร์แบงค็อกสกรีนนิงรูมประกาศยุติกิจการในปี พ.ศ. 2564 เนื่องจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเปิดให้บริการถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564[8] ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้แก่ด็อกคิวเมนทรีคลับ บริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายภาพยนตร์สารดคี ในฐานะผู้เช่ารายต่อไป[9]
ดูเพิ่มแก้ไข
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ Monruedee Jansuttipan. "Bangkok Screening Room โรงหนังอิสระยุคดิจิตอลในกรุงเทพฯ". Soimilk. 22 กันยายน 2559. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2560.
- ↑ 2.0 2.1 "เกี่ยวกับ BKKSR เก็บถาวร 2017-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Bangkok Screening Room. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2560.
- ↑ "เกี่ยวกับเรา เก็บถาวร 2017-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Bangkok Screening Room. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2560.
- ↑ คุณากร วิสาลสกล. "Bangkok Screening Room พื้นที่ศิลปะสำหรับคนรักหนัง". ใน Bioscope (ฉบับที่ 176, พฤษภาคม 2559). หน้า 16.
- ↑ 5.0 5.1 ชลนที พิมพ์นาม. "ในวันนี้และอนาคตของ Bangkok Screening Room". ใน Bioscope (ฉบับที่ 178, กุมภาพันธ์-มีนาคม 2560). หน้า 66-67.
- ↑ "Global Migration Film Festival 2016". Bangkok Screening Room. สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560.
- ↑ "Bioscope Awards 2016". ใน Bioscope (ฉบับที่ 178, กุมภาพันธ์-มีนาคม 2560). หน้า 48.
- ↑ "Bangkok Screening Room". www.facebook.com.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ Itthipongmaetee, Chayanit (2021-03-04). "Bangkok Screening Room to live on with new cinephile tenant Documentary Club". Coconuts (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)