แกงกุรุหม่า

(เปลี่ยนทางจาก แกงกุรหม่า)

แกงกุรุหม่า หรือ แกงมัสล่า (ฮินดี: क़ोरमा; อูรดู: قورمہ; เบงกอล: কোরমা) เป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดในอนุทวีปอินเดีย[1] ประกอบด้วยเนื้อหรือผักที่ตุ๋นด้วยนมเปรี้ยว (dahi) น้ำ และเครื่องเทศเพื่อผลิตซอสข้นหรือเกรวี[2]

แกงกุรุหม่า
แหล่งกำเนิดอนุทวีปอินเดีย
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้องอินเดีย, บังกลาเทศ, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน
ส่วนผสมหลักเนื้อสัตว์, นมเปรี้ยว

ชาวไทยมุสลิมนิยมปรุงแกงชนิดนี้ในวันสำคัญทางศาสนา แกงกุรุหม่ากับเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น ไก่ แพะ นิยมนำมาหุงรวมกับข้าวเป็นข้าวหมกแบบต่าง ๆ บางครั้งใส่เส้นกวยจั๊บลงไปปรุงกับกุรุหม่าแทนข้าวก็มี

ศัพทมูลวิทยา แก้

ชื่อในภาษาอังกฤษเป็นรูปแผลงเป็นอังกฤษจากศัพท์ภาษาฮินดี-อูรดูว่า qormā (क़ोरमा, قورمہ) หมายถึง "การตุ๋น"[3][4] ซึ่งสื่อถึงวิธีการทำอาหารชนิดนี้[2][5]

ประวัติ แก้

 
แกงกุรุหม่าไก่แบบปากีสถาน

อาหารชนิดนี้ในอินเดียสามารถย้อนไปได้ถึงราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงที่พวกมุฆัลรุกรายเข้าสู่ปากีสถาน อินเดียเหนือและบังกลาเทศ โดยดั้งเดิม กุรหม่าเป็นอาหารที่ปรุงโดยนำเนื้อสัตว์และผักไปเคี่ยวในน้ำ เติมโยเกิร์ตหรือครีม รายละเอียดของวิธีการทำกุรหม่ามีหลากหลาย

รสชาติของกุรหม่าขึ้นกับส่วนผสมของเครื่องเทศ รวมทั้งผักชีและยี่หร่า ใส่โยเกิร์ตที่เป็นเคิร์ดที่อุณหภูมิห้อง ผสมให้เข้ากับส่วนผสมอื่น แบบดั้งเดิมจะใส่หม้อเคี่ยวบนเตาถ่านด้วยไฟอ่อน ๆ เพื่อให้ระอุโดยทั่วถึงกัน ใส่เนื้อสัตว์ได้หลายชนิด เช่น แกะ ไก่ เนื้อวัว หรือใส่ทั้งเนื้อสัตว์และผัก เช่น ผักโขม และหัวผักกาด คำว่า ซาฮี (หมายถึง ของหลวง) ใช้เรียกกุรหม่าที่มีความพิเศษกว่าที่รับประทานในอาหารประจำวัน

ความหลากหลาย แก้

กุรหม่าในสหราชอาณาจักร แก้

กุรหม่าเป็นแกงข้น ใส่ครีม น้ำแกงข้นแบบน้ำเกรวี่ รสเผ็ดปานกลาง นิยมใส่เมล็ดพืชเช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และมะพร้าว

นวราตัน กุรหม่า แก้

เป็นกุรหม่ามังสวิรัติ ใส่ผักและปานีร์ซึ่งเป็นเนยแบบอินเดียชนิดหนึ่ง หรือใส่เมล็ดพืชหรือใส่ทั้งสองอย่าง[6] นวราตันหมายถึงอัญมณีเก้าชนิด ซึ่งสื่อถึงการใส่ผักที่หลากหลาย

การเตรียม แก้

เนื้อสัตว์และผักจะถูกปรุงก่อนด้วยด้วยความร้อนสูงแล้วจึงลดไฟลง เคี่ยวเป็นเวลานาน เติมน้ำลงไปน้อย ไก่หรือสัตว์ปีกชนิดอื่นจะนำไปคลุกกับส่วนผสมของเครื่องเทศ ให้ความร้อนโดยใช้น้ำมันพืชหรือฆี ให้ความร้อนสูงพอที่จะสุกทั่ว ลดไฟลง เติมโยเกิร์ตหรือครีม ถ้าใช้เนื้อแกะ ช่วงที่ใช้ความร้อนสูงต้องนานพอที่จะให้เนื้อแกะเป็นสีน้ำตาล

กุรหม่าสามารถปรุงได้ด้วยเทคนิคบาการ์ โดยนำเครื่องเทศไปผสมกับฆีที่ร้อน แล้วจึงใส่ซุปที่ได้จากการเคี่ยว ปิดฝาครอบลงไปบนกระทะ โดยยอมให้ไอน้ำออกได้ ปล่อยให้ผสมเข้ากันดี

เครื่องปรุงของกุรหม่ามีความแตกต่างกันได้บ้าง พริกและขิงเป็นที่นิยมใช้แต่วิธีการเตรียมต่างกันออกไป นิยมใส่ใบเบย์และมะพร้าวแห้งลงไป การใส่มะพร้าวแห้งเป็นเอกลักษณ์ของอินเดียใต้ กุรหม่าปีเลา เป็นข้าวที่หุงผสมกับแกงเนื้อที่เคี่ยวแล้ว

อ้างอิง แก้

  1. Anand, Anjum (October 30, 2007). "My Chicken Korma". The Times Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 27, 2008.
  2. 2.0 2.1 Singh, D. Indian Cookery, Penguin, 1970, pp. 24–25
  3. "Definition of Korma". Merriam-Webster (ภาษาอังกฤษ). 2022. Hindi & Urdu qormā, of Turkic origin; akin to Turkish kavurma fried meat, from kavur- to fry, roast
  4. Perry, C. "Korma, Kavurma, Ghormeh: A family, or not so much?" in Hosking (ed.) Food and Language: Proceedings of the Oxford Symposium on Food and Cooking 2009, p. 254
  5. "korma", Merriam-Webster, accessed 30-01-18
  6. "Navratan Korma - Nine-gem Curry". about.com. สืบค้นเมื่อ 2010-06-18.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   นิยามแบบพจนานุกรมของ korma ที่วิกิพจนานุกรม
  • อาหารมุสลิม. กทม. แสงแดด.2550. หน้า 13