เอสคิลัส

นักประพันธ์บทละครชาวเอเธนส์

เอสคีลัส (อังกฤษ: Aeschylus; กรีกโบราณ: Αἰσχύλος ไอส-คู-ลอส; ภาษากรีกโบราณ[ai̯s.kʰý.los]; ราว 525/524 – 456/455 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นนักประพันธ์บทละครชาวกรีกโบราณ และได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งโศกนาฏกรรม[1][2] งานประพันธ์ของเอสคีลัสเป็นงานโศกนาฏกรรมชุดแรกสุดที่เหลือรอดมาจากยุคโบราณ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานประเภทนี้ในสมัยแรกเริ่ม ล้วนแต่ได้มาจากการอนุมานผ่านงานที่หลงเหลืออยู่ของท่าน[3][4] เอสคีลัสจึงเป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์วรรณกรรมกรีกโบราณ อริสโตเติลให้เครดิตเอสคีลิสในฐานะเป็นศิลปินคนแรกที่ขยายจำนวนนักแสดงบนเวทีการละครของกรีก ทำให้สามารถนำเสนอความขัดแย้งระหว่างตัวละครได้ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นการละครของกรีกมีแค่ตัวนักแสดงนำกับกลุ่มประสานเสียง (คอรัส)[5]

เอสคีลัส
Αἰσχύλος
Αἰσχύλος
เกิดราว 523 ปีก่อนคริสตกาล
เอลิวซิส (Eleusis)
เสียชีวิตราว 456 ปีก่อนคริสตกาล (อายุ 67 ปี)
เจลา
อาชีพนักประพันธ์บทละคร และทหาร
บุตรยูฟอเรียน
บิดามารดายูฟอเรียน (บิดา)
ญาติ

ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เอสคีลัสประพันธ์บทละครไว้ระหว่าง 70 ถึง 90 เรื่อง แต่เหลือรอดมาถึงปัจจุบันเพียง 7 เรื่อง หนึ่งในนั้น พันธนาการโพรมีเทียส (Prometheus Bound) ยังเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องตัวตนของผู้ประพันธ์ (บ้างเชื่อว่า ยูฟอเรียน บุตรชายของเอสคีลัส เป็นผู้แต่งขึ้น) งานนาฏกรรมบทละครที่เอสคีลัสประพันธ์ขึ้น เป็นงานที่แต่งเพื่อเข้าแข่งขันในงานเทศกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานเทศกาลไดโอไนซัส ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในฤดูใบไม้ผลิ ที่เมืองไดโอไนเซีย (Dionysia) ซึ่งมีการแข่งขันสองรอบ คือ รอบแข่งขันงานโศกนาฏกรรม และรอบแข่งขันงานสุขนาฏกรรม (comedies) งานทั้งหมดที่เหลือรอดมาของเอสคิลัส ได้แก่ ชาวเปอร์เซีย, ศึกเจ็ดขุนพลชิงธีบส์, ดรุณีร้องทุกข์, ไตรภาคโศกนาฏกรรม โอเรสเตอา ประกอบด้วย: อะกาเมมนอน, ผู้ถือทักษิโณทก (the Libation Bearers), และ ยูเมนิดีส (the Eumenides) เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันละครโศกนาฏกรรม ที่เมืองไดโอไนเซียมาแล้วทั้งสิ้น เว้นก็แต่ พันธนาการโพรมีเทียส เท่านั้น นอกจากนี้เอสคิลัสอาจเป็นนาฏศิลปินเพียงท่านเดียว (เท่าที่ทราบ) ที่เคยนำเสนอละครเป็นโศกนาฏกรรมไตรภาค ละครเรื่อง โอเรสเตอา เป็นตัวอย่างเดียวของบทประพันธ์ไตรภาคที่หลงเหลือมาจากยุคโบราณ

ในวัยหนุ่มเอสคีลัสเคยเป็นทหารที่ร่วมรบในสงครามระหว่างกรีซกับเปอร์เซียทั้งสองครั้ง ในตอนต้นของศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ในปีที่ 490 ก่อนค.ศ. เอสคีลัสกับไคนีจิรัสน้องชายเข้าร่วมต่อสู้ในยุทธการที่มาราธอน เพื่อปกป้องเอเธนส์จากกองทัพของกษัตริย์ดาริอัสที่ 1 น้องชายของท่านตายในการต่อสู้และทั้งสองได้รับการยกย่องให้เป็น "วีรบุรุษแห่งทุ่งมาราธอน" ต่อมาพอพระเจ้าเซิร์กซีสแห่งเปอร์เชียยกทัพมาอีก ในปีที่ 480/479 ก่อนค.ศ. เอสคีลัสก็เข้ารับใช้ชาติอีกครั้งในสงครามครั้งที่สองกับเปอร์เซีย และเข้าร่วมรบในยุทธนาวีที่ซาลามิส สงครามเปอร์เซียมีอิทธิพลต่อชีวิตและงานของเอสคีลัสอย่างมาก ละครบางเรื่องของท่าน เช่น ชาวเปอร์เซีย (The Persians) ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการศึกในสมรภูมิที่ซาลามิส และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดละครที่ไดโอไนเซีย เมื่อปีที่ 472 ก่อนค.ศ.

เอสคีลัสถึงแก่กรรมที่เมืองเจลา ในซิซิลี เมื่อปีที่ 456 ก่อนค.ศ.

อ้างอิง

แก้
  1. Freeman 1999, p. 243
  2. Schlegel, August Wilhelm von. Lectures on Dramatic Art and Literature. p. 121.
  3. R. Lattimore, Aeschylus I: Oresteia, 4
  4. Martin Cropp, 'Lost Tragedies: A Survey'; A Companion to Greek Tragedy, p. 273
  5. จารึกเพื่อรำลึกเหตุการณ์ใน ศตวรรษที่ 3 ก่อน ค.ศ. ให้รายชื่อของนักประพันธ์ศิลปะการละครไว้ 4 ท่าน ซึ่งเป็นผู้ชนะการแข่งขันการประกวดละครที่เทศกาลไดโอไนเซียก่อนเอสคิลัส โดย Thespis เป็นบุคคลที่ถือกันตามธรรมเนียมแต่เดิมว่าเป็นผู้คิดค้นศิลปะโศกนาฏกรรมขึ้น บางบันทึกก็กล่าวว่าละครโศกนาฏกรรมถูกคิดค้นขึ้น ณ กรุงเอเธนส์ ในราวทศวรรษที่ 530s ก่อนค.ศ. (Martin Cropp (2006), "Lost Tragedies: A Survey" in A Companion to Greek Tragedy, pp. 272–74)

บรรณานุกรม

แก้