เอกิเบ็ง (ญี่ปุ่น: 駅弁โรมาจิekiben) หรือข้าวกล่องรถไฟ เป็นอาหารกล่อง (เบ็นโต) ที่มีจำหน่ายบนขบวนรถไฟและสถานีรถไฟในประเทศญี่ปุ่น และมักจะมีตะเกียบหรือช้อนแบบใช้แล้วทิ้งแถมมาให้ กล่องเอกิเบ็งอาจทำด้วยพลาสติก ไม้ หรือเซรามิก หลายสถานีในประเทศญี่ปุ่นจำหน่ายเอกิเบ็งที่ทำจากอาหารประจำท้องถิ่น

เอกิเบ็ง
เอกิเบ็งราคา 1000 เยนที่จำหน่ายในสถานีรถไฟโตเกียว
ประเภทอาหารกล่อง
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้องญี่ปุ่น

เอกิเบ็งเริ่มวางจำหน่ายตามสถานีรถไฟช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อผู้โดยสารที่เดินทางเป็นระยะทางไกลจำเป็นต้องรับประทานอาหาร ยอดขายเอกิเบ็งถึงจุดสูงสุดในช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนเสื่อมความนิยมเนื่องจากการเดินทางทางอากาศได้รับความนิยมมากกว่า และรถไฟใช้ความเร็วสูงมากขึ้นทำให้ระยะเวลาเดินทางสั้นลง อย่างไรก็ตาม เอกิเบ็งบางชนิดยังคงหาซื้อได้ตามแผงจำหน่ายในสถานีรถไฟ ที่ชานชาลา หรือบนขบวนรถ บางชนิดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบลวดลายเป็นพิเศษเพื่อเป็นของที่ระลึกหรือของสะสม

ประวัติ

แก้
 
พ่อค้านำเอกิเบ็งมาขายข้างขบวนรถ ถ่ายใน พ.ศ. 2445

คำว่าเอกิเบ็งเป็นคำประสมระหว่าง เอกิ (ญี่ปุ่น: โรมาจิeki) ซึ่งแปลว่าสถานีรถไฟ และ เบ็ง (ญี่ปุ่น: โรมาจิben) ซึ่งย่อมาจากเบ็นโตหรืออาหารกล่อง[1] ในสมัยก่อนที่จะมีรถไฟในประเทศญี่ปุ่น ผู้เดินทางมักจะห่ออาหารไปเองหรือซื้อเบ็นโตที่มีจำหน่ายตามร้านน้ำชา นอกจากนี้ โรงละครคาบูกิยังจำหน่ายอาหารกล่องที่เรียกว่า มากูโนอูจิเบ็นโต ระหว่างนักแสดงกำลังพักระหว่างเปลี่ยนฉาก เมื่อกิจการรถไฟเริ่มต้นในประเทศญี่ปุ่น เอกิเบ็งจึงเกิดขึ้นตาม เชื่อกันว่าเอกิเบ็งมีจำหน่ายครั้งแรกที่สถานีรถไฟอุตสึโนมิยะใน พ.ศ. 2428 เมื่อเปิดเดินรถเชื่อมต่อกับสถานีอูเอโนะในกรุงโตเกียว[2] เอกิเบ็งยุคแรกมีเพียงโอนิงิริห่อในใบไผ่อ่อนเท่านั้น[2] แนวคิดการจำหน่ายอาหารที่สถานีรถไฟเริ่มแพร่หลายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น และใน พ.ศ. 2431 เอกิเบ็งแบบมาตรฐานซึ่งประกอบด้วยข้าวและกับข้าวสองสามอย่างเริ่มวางจำหน่ายที่สถานีรถไฟฮิเมจิ[3] ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลายสถานีเริ่มจำหน่ายเอกิเบ็งที่ปรุงจากอาหารในท้องถิ่น และเอกิเบ็งกลายมาเป็นเบ็นโตแบบเฉพาะที่แตกต่างจากเบ็นโตทั่วไป เอกิเบ็งบางชนิดสามารถหาซื้อได้แค่ที่บางสถานีในท้องถิ่นนั้น ๆ เท่านั้น[4] ตัวอย่างที่รู้จักกันดีได้แก่ อิกาเมชิ หรือหมึกยัดไส้ข้าวที่มีวางจำหน่ายที่สถานีรถไฟโมริ จังหวัดฮกไกโด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนฐานะจากเอกิเบ็งเป็นอาหารขึ้นชื่อของภูมิภาค[1]

 
กล่องเอกิเบ็งที่ทำรูปร่างเลียนแบบรถไฟชิงกันเซ็ง

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การเดินทางทางรถไฟได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และความนิยมเอกิเบ็งยังเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงทศวรรษ 1970 เนื่องจากอิทธิพลของละครซึ่งสร้างจากมังงะเกี่ยวกับตัวละครที่เดินทางตระเวนชิมเอกิเบ็งทั่วประเทศญี่ปุ่น ที่จุดสูงสุดในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ประมาณการว่าการบริโภคเอกิเบ็งในแต่ละวันอยู่ที่ 12 ล้านกล่อง[3] อย่างไรก็ตาม เมื่อการเดินทางทางอากาศได้รับความนิยม และขบวนรถไฟที่เร็วกว่าเดิมเริ่มแพร่หลาย รถไฟด่วนหลายขบวนเช่นชิงกันเซ็งยังลดจำนวนสถานีรายทางที่จอด เอกิเบ็งก็เริ่มเสื่อมความนิยมลงเนื่องจากระยะเวลาเดินทางสั้นลง และโอกาสจำหน่ายยากขึ้น[5] บางสถานีไม่มีเอกิเบ็งจำหน่ายแล้ว[1] จำนวนผู้ผลิตเอกิเบ็งลดลงกว่าร้อยละ 50 จาก พ.ศ. 2530 ถึง พ.ศ. 2551 บางพื้นที่เอกิเบ็งกลายเป็นของฝากประจำท้องถิ่นที่มีภาชนะบรรจุเป็นลักษณะเฉพาะ[3][6]

นอกเหนือจากสถานีรถไฟแล้ว เอกิเบ็งยังมีจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและท่าอากาศยาน ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งจัดเทศกาลเอกิเบ็งประจำปี ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2509 งานเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดจัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าเคโอที่สถานีรถไฟชินจูกุในกรุงโตเกียว และห้างสรรพสินค้าฮันชิงที่นครโอซากะ[1]

คลังภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Ekiben: Taste the Romance of Travel". Tokyo Restaurants Guide.
  2. 2.0 2.1 Yoko Hani (January 5, 2003). "Japan's own meals on wheels". The Japan Times.
  3. 3.0 3.1 3.2 Lombardi, Linda (July 15, 2015). "Ekiben! Japanese Food on Japanese Trains and Beyond". Tofugu.
  4. Shun Gate (April 29, 2017). "Ekiben Reflects the taste, culture and passion of each region". Tokyo Business Today.
  5. "Junshin Hayashi; Shinobu Kobayashi, Ekibengaku koza" (ภาษาญี่ปุ่น). Shueisha, Japan. 2000-09-01. ISBN 9784087200522. สืบค้นเมื่อ 2008-06-26.
  6. Amy Chavez (November 3, 2015). "The cutest, must-have bento lunchboxes you can buy and eat on the train". Sora News 24.