เหรียญกษาปณ์ไทย

เหรียญกษาปณ์ไทยผลิดแทนเงินพดด้วงโดย ร.4

เหรียญกษาปณ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

แก้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีการใช้หอยเบี้ยและพดด้วง ในการชำระเงินการค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศ มีการใช้เบี้ยทองแดงในต่างประเทศ จึงมีพระราชดำริให้ทำเบี้ยทองแดงจากประเทศอังกฤษมาเป็นตัวอย่าง 3 ชนิด ในปี ค.ศ.1835 หรือ พ.ศ. 2378 เมื่อทอดพระเนตรแล้วไม่โปรดในสายตาจึงมิได้นำออกใช้แต่ก็มีพระราชประสงค์ที่จะทำเหรียญรูปกลมแบนอย่างสากลแต่ยังไม่สำเร็จก็เปลี่ยนรัชกาลเสียก่อน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายมากขึ้นและได้นำเงินเหรียญของตนมาแลกกับเงินพดด้วงจากรัฐบาลไทยเพื่อนำไปซื้อสินค้าจากราษฎรแต่ด้วยเหตุที่เงินพดด้วงผลิตด้วยมือจึงทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและการค้าของประเทศเสียประโยชน์ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนรูปเงินตราของไทยจากเงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ ในปี พ.ศ. 2399 ได้ทดลองทำเหรียญรูปกลมแบนอย่างสากล โดยใช้ค้อนทุบตีโลหะให้เป็นแผ่นแบน แล้วตัดเป็นรูปเหรียญกลม ให้ได้ตามขนาดและน้ำหนัก แล้วใช้แม่ตราตีประทับ (Hand-Hammerring Method) แต่ผลิตได้ช้าและไม่เรียบร้อย นอกจากนี้ยังมีการใช้แม่ตราตีประทับกับเงินเหรียญต่างประเทศ เพื่อให้ราษฏรยอมรับ ในปี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ได้จัดส่งเครื่องทำเหรียญเงินขนาดเล็กเข้ามาถวาย ทำงานด้วยแรงงานคนโดยใช้วิธีแรงอัดแบบ Screw Press Method เป็นราชบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้จัดทำเหรียญกษาปณ์จากเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกกันว่า "เหรียญเงินบรรณาการ" ในขณะเดียวกันคณะทูตก็ได้สั่งซื้อเครื่องจักรทำเงินชนิดแรงดันไอน้ำ จากบริษัท เทเลอร์ เข้ามาในปลายปี 2401 พระองค์จึงโปรดเกล้าให้สร้างโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติ ในพระบรมมหาราชวัง ติดตั้งเครื่องใช้งานได้เมื่อ ปี พ.ศ. 2403 พระราชทานนามว่า "โรงกษาปณ์สิทธิการ" ในสมัยนี้จึงถือว่ามีการใช้เหรียญกษาปณ์แบบสากลนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาแม้ได้ประกาศให้ใช้เงินตราแบบเหรียญแล้วก็ยังโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เงินพดด้วงอยู่เพียงแต่ไม่มีการผลิตเพิ่มเติม ได้ผลิตตามแจ้งที่แจ้งแก่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อ ปี พ.ศ. 2438 พบว่ามีเหรียญตรามงกุฎดังกล่าวให้แลกอยู่ 6 ราคา ด้วยกัน คือ ราคา สองบาท หนึ่งบาท สองสลึง หนึ่งสลึง หนึ่งเฟื้อง และ สองไพ แต่ผลิตได้น้อยไม่พอแก่ความต้องการ นอกจากนี้ยังมีเหรียญ หนึ่งตำลึง กึ่งตำลึง และกึ่งเฟื้อง แต่ไม่ได้นำออกใช้ จึงเป็นพระมหากษัตริย์ไทย พระองค์แรกที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปเงินตราไทย จากที่เคยใช้เงินพดด้วง หรือเงินกลมที่ใช้มาแต่โบราณกาลให้มาใช้เงินเหรียญหรือเงินแบน แบบสากล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงมาตรา เงินตราไทย ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบโดยใช้หน่วยเป็นบาท และสตางค์ คือ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2441 อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงปัจจุบัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมรูปของพระองค์ประทับลงบนเหรียญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ไทยประทับลงบนเหรียญกษาปณ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์ เริ่มจากเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกตราพระบรมรูป - ตราแผ่นดิน ใน พ.ศ. 2493 ผลิตเหรียญราคา 5 บาท ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2515 ผลิตเหรียญราคา 10 บาท ขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2531 และได้มีการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก รวมทั้งมีการพัฒนาจัดทำเหรียญที่ระลึก ต่อเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน คือ

1. เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน (Circulated coins) เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน มี 9 ชนิดราคา คือ 10 บาท, 5 บาท, 2 บาท, 1 บาท, 50 สตางค์, 25 สตางค์, 10 สตางค์, 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ แต่ที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมี 6 ชนิดราคา คือ 10 บาท, 5 บาท, 2 บาท, 1 บาท, 50 สตางค์, 25 สตางค์ ส่วนเหรียญชนิดราคา 10 สตางค์, 5 สตางค์ และ1 สตางค์ มีใช้ในทางบัญชีเท่านั้น

2. เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก (Commemorative coins) เป็นเหรียญกษาปณ์ที่ผลิตออกใช้ในวโรกาสและโอกาสที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือเหตุการณ์ระหว่างประเทศ โดยจัดทำ 2 ประเภท คือ ขัดเงา และไม่ขัดเงา

ข้อแตกต่างระหว่างเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกก็คือการวางลวดลายด้านหน้าและด้านหลัง โดนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนจะวางลวดลายแบบ American Turning ซึ่งจะต้องพลิกดูลวดลายด้านหลังในแนวดิ่ง สำหรับเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกได้จัดวางลวดลายแบบ European Turning ซึ่งจะต้องพลิกในแนวนอนเพื่อดูลวดลายด้านหลัง

3. เหรียญที่ระลึก (Medal) เป็นเหรียญที่ผลิตขึ้นเนื่องในวโรกาสและโอกาสที่สำคัญต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างจากเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกตรงที่จะ ไม่มีราคาหน้าเหรียญ เนื่องจากมิใช่เงินตราจึงไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้