เล่า ไอ่

(เปลี่ยนทางจาก เล่าไอ่)

เล่า ไอ่ (จีน: 嫪毐; พินอิน: Lào Ǎi; เสียชีวิต 238 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นขันทีปลอมและขุนนางแห่งรัฐฉิน (秦国) ช่วงปลายยุครณรัฐ (戰國時代)[1][2]

อัครมหาเสนาบดีลฺหวี่ ปู้เหวย์ (呂不韋) ถวายเล่า ไอ่ แก่จ้าวจี (赵姬) พระชนนีของฉินหวังเจิ้ง (秦王政) พระมหากษัตริย์รัฐฉิน ซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักด้วยพระนาม ฉินฉื่อหฺวังตี้ (秦始皇帝) จ้าวจีโปรดปรานเล่า ไอ่ มาก ถึงขนาดประทานบรรดาศักดิ์ฉางซิ่นโหว (長信侯) ให้แก่เขา เล่า ไอ่ จบชีวิตลงด้วยการถูกประหารหลังพยายามยึดอำนาจจากฉินหวังเจิ้ง[3] แต่ความประพฤติผิดทางกามของเล่า ไอ่ นั้น กลายเป็นเรื่องเล่าขวัญในโอวาทสอนศีลธรรมของปราชญ์จีนมาตั้งแต่ยุคของเล่า ไอ่ เอง ขณะที่ชื่อของเขา ซึ่งในภาษาจีนเก่าแปลว่า ความประพฤติชั่วช้าตัณหากลับ นั้น ก็ได้กลายเป็นคำพังเพยเปรียบเปรยถึงความสัมพันธ์ผิดศีลธรรมทางเพศในภาษาจีนคลาสสิก[4][5]

ประวัติ แก้

เอกสาร ฉื่อจี้ (史記) ที่ซือหม่า เชียน (司馬遷) เขียนขึ้นเมื่อราว 94 ปีก่อนคริสตกาล ว่า เล่า ไอ่ มีองคชาตใหญ่ถึงขนาดที่ใช้แทนเพลาเกวียนได้ เรื่องนี้เป็นที่ต้องใจของลฺหวี่ ปู้เหวย์ อัครมหาเสนาบดีที่กำลังลอบมีความสัมพันธ์กับจ้าวจี พระชนนีของฉินหวังเจิ้ง ลฺหวี่ ปู้เหวย์ หวังอาศัยความสามารถทางเพศของเล่า ไอ่ มาทำให้ตนเป็นที่โปรดปรานของจ้าวจี[note 1][3] อย่างไรก็ดี ลฺหวี่ ปู้เหวย์ เลิกความสัมพันธ์กับจ้าวจีเสียแต่ต้นรัชกาลฉินหวังเจิ้ง และถวายเล่า ไอ่ ให้จ้าวจี โดยลฺหวี่ ปู้เหวย์ กับจ้าวจี สมคบกันจัดการตอนองคชาตเท็จเพื่อให้เล่า ไอ่ ปลอมเป็นขันทีเข้ามาในราชสำนัก[3] ครั้นมาอยู่ในนครยง (雍) อันเป็นราชธานีชั่วคราวแล้ว เล่า ไอ่ มีบุตรสองคนกับจ้าวจี ทั้งยังอาศัยตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ และซ่องสุมกำลังพลไว้กว่าหนึ่งพันคน จนเมื่อ 238 ปีก่อนคริสตกาล ฉินหวังเจิ้งรับสั่งให้ไต่สวนเล่า ไอ่ ด้วยข้อสงสัยว่าปลอมเข้ามากระทำชู้กับพระชนนี โดยหวังจะเป็นพระชนกของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ถัดไป เล่า ไอ่ เห็นคับขัน จึงออกหน้าเป็นกบฏต่อฉินหวังเจิ้ง โดยเอาตราประจำพระองค์ของจ้าวจีมาใช้สร้างความชอบธรรมในการออกคำสั่งของตัว แต่กองกำลังของเล่า ไอ่ นั้นขาดการสนับสนุนจากประชาชน ขาดการฝึกฝนทางทหาร และขาดจำนวนพลที่มากพอ จึงถูกปราบอย่างรวดเร็ว ฉินหวังเจิ้งให้ประหารเล่า ไอ่ โดยใช้ห้าม้าแยกร่าง จ้าวจีนั้นถูกจองจำไว้ในตำหนักของพระนางเอง บุตรทั้งสองของเล่า ไอ่ กับจ้าวจีนั้น ถูกฆ่าทิ้ง ส่วนบริวารทั้งหลายของเล่า ไอ่ ถูกเนรเทศไปดินแดนรัฐฉู่ (蜀國) เดิม[6]

นอกจาก ฉื่อจี้ แล้ว เรื่องของเล่า ไอ่ ยังมีในเอกสาร ตงโจวเลี่ยกั๋วจื้อ (東周列國志) ที่เฝิง เมิ่งหลง (馮夢龍) เขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 16[7]

ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ แก้

นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลายคนสงสัยถึงความเป็นไปได้ในทางประวัติศาสตร์ของเรื่องเล่า ไอ่ เพราะในช่วงที่มีการเขียน ฉื่อจี้ นั้น ราชสำนักฮั่นได้แรงหนุนจากกลุ่มสาวกขงจื่อซึ่งมีวาระซ่อนเร้นเป็นความพยายามจะพรรณนาฉินหวังเจิ้งว่าเป็นบุตรนอกสมรสของจ้าวจี เนื่องจากฉินหวังเจิ้งเคยสั่ง "เผาตำรา ฝังบัณฑิต" ลัทธิขงจื่อเมื่อ 211 ปีก่อนคริสตกาล นอกจากนี้ นักวิชาการมองว่า ชื่อ "เล่า ไอ่" ซึ่งมีความหมายว่า ความประพฤติชั่วช้าตัณหากลับ ฟังดูมีสีสันเกินจะเป็นชื่อคนจริง ๆ ได้[8]

หมายเหตุ แก้

  1. ฉื่อจี้ เล่ม 85 ว่า ฉินหวังเจิ้งเจริญพระชันษาแล้ว แต่พระชนนีจ้าวจียังสำส่อนไม่เลิก ลฺหวี่ ปู้เหวย์ ซึ่งเกรงตัวจะวายวอดถ้าผู้คนล่วงรู้ความชั่วที่ตัวทำ ก็ลอบเอาเล่า ไอ่ ชายองคชาตยักษ์ เข้ามาตั้งเป็นผู้ติดตาม วันหนึ่งให้เล่า อ้าย เสียบกงล้อไม้ไว้กับองคชาตแล้วออกเดินไปตามลำนำยั่วกาม พระชนนีทรงทราบเรื่องแล้วก็ปราถนาจะพบชายผู้นั้นในที่รโหฐาน
อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ชื่อ "FOOTNOTESimaDawson7" ซึ่งนิยามใน <references> ไม่ถูกใช้ในข้อความก่อนหน้า

อ้างอิง แก้

  1. 现代汉语词典(第七版). [A Dictionary of Current Chinese (Seventh Edition).]. Beijing: The Commercial Press. 1 September 2016. pp. 4, 787. ISBN 978-7-100-12450-8. 嫪毐(Lào'ǎi),战国时秦国人。
  2. 现代汉语规范词典(第3版) [Xiandai Hanyu Guifan Cidian]. Beijing: 外语教学与研究出版社. Foreign Language Teaching and Research Press. May 2014. pp. 3, 797. ISBN 978-7-513-54562-4.
  3. 3.0 3.1 3.2 Knoblock, John; Riegel, Jeffrey (2000). The annals of Lü Buwei: a complete translation and study. Stanford University Press. ISBN 0804733546.
  4. Goldin 2002, p. 84.
  5. Kangxi Dictionary entry for Aì: "[...]故世罵淫曰嫪毐".
  6. Mah, Adeline Yen (2002). A thousand pieces of gold: my discovery of China's character in its proverbs (1st ed.). San Francisco, Calif.: HarperSanFrancisco. pp. 32–34. ISBN 0-06-000641-2.
  7. Gonzalez-Crussi, Frank (1988). On the Nature of Things Erotic. United States: Harcourt Brace Jovanovich. pp. 126–129, note on 194. ISBN 0-15-169966-6.
  8. Goldin 2002, pp. 83–85.