เลโอนอร์แห่งนาวาร์

เลโอนอร์ (บาสก์: Leonor, สเปน: Leonor) (2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1426 – 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1479) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งนาวาร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1455 ถึง ค.ศ. 1479 และเป็นพระราชินีผู้ปกครองแห่งนาวาร์ช่วงสั้นๆ ในปี ค.ศ. 1479 พระนางได้รับการสวมมงกุฎเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1479 ในตูเดลา

เลโอนอร์
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งนาวาร์
ครองราชย์28 มกราคม ค.ศ. 1479 – 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1479
ราชาภิเษก28 มกราคม ค.ศ. 1479
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าชวนที่ 2 แห่งอารากอน
รัชกาลถัดไปพระเจ้าฟร็องซัวแห่งนาวาร์
ประสูติ2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1426
โอลิเต ราชอาณาจักรนาวาร์
สิ้นพระชนม์12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1479 (53 พรรษา)
พระสวามีแกสต็องที่ 4 เคานต์แห่งฟัวซ์
พระบุตรแกสต็อง เจ้าชายแห่งเบียนา
ปิแอร์ บิชอปแห่งอาร์ลส์
ฌ็อง ไวส์เคานต์แห่งนาร์บอน
มารี มาควิสเนสแห่งมอนแฟร์ราโต
มาร์เกอรีต ดัชเชสแห่งบูร์กอญ
แฌน เคานเตสแห่งอาร์แมนแญ็ค
แกร์เตอรีน เคานเตสแห่งกงแดล
ราชวงศ์ตรัสตามารา
พระบิดาพระเจ้าชวนที่ 2 แห่งอารากอน
พระมารดาสมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 1 แห่งนาวาร์

พระราชประวัติ

แก้

เลโอนอร์เป็นเจ้าหญิงแห่งนาวาร์ ทรงเป็นพระธิดาคนเล็กของพระเจ้าชวนที่ 1 แห่งอารากอนกับสมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 1 แห่งนาวาร์ และเป็นพระขนิษฐาของพระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งนาวาร์และสมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 2 แห่งนาวาร์ ทรงเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1426 ในโอลิเตซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศสเปน

เมื่อโตเป็นสาว เลโอนอร์ได้สมรสกับแกสต็องที่ 4 เคานต์แห่งฟัวซ์ชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1441[1] พระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกันนั้น การ์โลส เจ้าชายแห่งเบียนา พระเชษฐาของพระองค์ได้สืบทอดบัลลังก์นาวาร์ต่อจากพระมารดา ทว่าพระเจ้าชวน พระบิดาของพระองค์ได้ยึดอำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ปี ค.ศ. 1442 เลโอนอร์ย้ายไปฝรั่งเศสเพื่อพำนักอยู่ในฟัวซ์ซึ่งเป็นดินแดนในครอบครองของพระสวามี พระองค์ได้ให้กำเนิดบุตรธิดาสิบคน เป็นชายสี่คนและหญิงหกคน ต่อมาในปี ค.ศ. 1455 พระเจ้าชวนได้เพิกถอนสิทธิ์ในการเป็นทายาทแห่งนาวาร์ของการ์โลสและบลังกา พระเชษฐาและพระเชษฐภคินีของเลโอนอร์และแต่งตั้งให้เลโอนอร์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและข้าหลวงแห่งนาวาร์ สร้างความปิติยินดีให้แก่เลโอนอร์เป็นอย่างมาก พระองค์ได้ย้ายมาพำนักอาศัยอยู่ในซังกูเอซา

พระเชษฐาและพระเชษฐภคินีผู้ถูกเพิกถอนสิทธิ์ของเลโอนอร์ก่อกบฏต่อพระบิดาและเรียกร้องให้คืนสิทธิ์การเป็นทายาทโดยชอบธรรมในนาวาร์ให้แก่การ์โลส พระเจ้าชวนปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว หลังพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1461 บลังกาขึ้นครองราชย์เป็นผู้ปกครองแห่งนาวาร์เพียงในนาม แต่เลโอนอร์ยังคงสำเร็จราชการแผ่นดินต่อไป ในปี ค.ศ. 1462 พระนางลงนามในสนธิสัญญาโอลิเต ยอมรับพระบิดาเป็นกษัตริย์แห่งนาวาร์และยินยอมให้จองจำบลังกา พระขนิษฐา ภายใต้การดูแลของพระนาง

ปี ค.ศ. 1464 บลังกาสิ้นพระชนม์ภายใต้การดูแลของพระนาง เลโอนอร์ถูกต้องสงสัยว่าเป็นผู้บงการวางยาพิษ พระบิดาได้ทำสนธิสัญญายอมรับว่าพระนางเป็นทายาทในนาวาร์และเป็นผู้สำเร็จราชการ (ข้าหลวง) แห่งนาวาร์ แต่ในปี ค.ศ. 1468 พระบิดาได้ปลดพระนางออกจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทว่าในปี ค.ศ. 1471 พระองค์ยินยอมให้พระนางเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกครั้ง ปี ค.ศ. 1472 แกสต็อง พระสวามีของเลโอนอร์ถูกสังหารระหว่างทำสมรภูมิกับศัตรูที่มีอยู่มากมายของภรรยา แต่กระนั้นเลโอนอร์ยังไม่ละทิ้งความหวังที่จะได้สืบทอดตำแหน่งเป็นพระราชินีผู้ปกครองนาวาร์ ความหวังของพระนางเป็นจริงในปี ค.ศ. 1479 เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ในวัย 80 พรรษา เลโอนอร์วัย 53 พรรษาถูกประกาศให้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งนาวาร์ ตำแหน่งที่ทรงตั้งตารอมาหลายปี ทว่าหลังราชาภิเษกเพียง 15 วันพระองค์กลับสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน ราชอาณาจักรของพระองค์ตกเป็นของฟร็องซัว เฟบูสผู้เป็นพระนัดดา

ทายาท

แก้
  1. มารี (ค.ศ. 1443–1467) มาควิสเนสแห่งมอนแฟร์ราโต มารดาของเบียงกาแห่งมอนแฟร์ราโต ภรรยาของชาร์ลส์แห่งซาวอย
  2. แกสต็อง (ค.ศ. 1445–1470) สมรสกับแมเดอเลนแห่งฝรั่งเศส พระขนิษฐาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 แห่งฝรั่งเศส ฟร็องซัวและแกร์เตอรีน บุตรและธิดาของทั้งคู่ได้สืบทอดบัลลังก์นาวาร์ต่อจากพระอัยกี เลโอนอร์[2]
  3. ปิแอร์ (ค.ศ. 1449–1490) บิชอปแห่งอาร์ลส์
  4. ฌ็อง (ค.ศ. 1450–1500) ไวส์เคานต์แห่งนาร์บอน บิดาของแจร์แมงแห่งฟรัวซ์ พระมเหสีคนที่ 2 ของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน
  5. แฌน (ค.ศ. 1454–1476) ภรรยาของฌ็องที่ 5 เคานต์แห่งอาร์แมนแญ็ค
  6. เอลีโอนอร์ (ค.ศ. 1457–1480)
  7. มาร์เกอรีต (ค.ศ. 1458–1487) ภรรยาของฟร็องซัวที่ 2 ดยุคแห่งเบรอตาญ มารดาของอานแห่งเบรอตาญ พระมเหสีของพระเจ้าชาร์ลที่ 8 แห่งฝรั่งเศสและพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส
  8. แกร์เตอรีน (ค.ศ. 1460–1494) มารดาของอานแห่งฟัวซ์-ก็องแดล พระมเหสีคนที่สามของพระเจ้าอูลาสซโลที่ 2 แห่งฮังการี
  9. อิซาเบล (ค.ศ. 1462–?)
  10. แฌ็คส์ (ค.ศ. 1463–1508)

อ้างอิง

แก้
  1. The Cambridge Modern History, 84.
  2. 1494: Hieronymous Munzer, Compostela, and the Codex Calixtinus, Jeanne E. Krochalis, The Pilgrimage to Compostela in the Middle Ages, ed. Maryjane Dunn and Linda Kay Davidson, (Routledge, 1996), 96.