สมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 2 แห่งนาวาร์

บลังกาที่ 2 (บาสก์: Zuria, สเปน: Blanca) (9 มิถุนายน ค.ศ. 1424 – 2 ธันวาคม ค.ศ. 1464) เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งนาวาร์เพียงในนามตั้งแต่ ค.ศ. 1461 – ค.ศ. 1464) ทรงเป็นพระธิดาของพระเจ้าชวนที่ 2 แห่งอารากอนกับสมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 1 แห่งนาวาร์ และเป็นเจ้าหญิงแห่งอัสตูเรียสจากการสมรส

บลังกาที่ 2
พระราชินีผู้ปกครองแห่งนาวาร์
เจ้าหญิงแห่งอัสตูเรียส (โดยสมรส)
ครองราชย์23 กันยายน ค.ศ. 1461 – 2 ธันวาคม ค.ศ. 1464 (นาวาร์)
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งนาวาร์
รัชกาลถัดไปพระเจ้าชวนที่ 2 แห่งอารากอน
ประสูติ9 มิถุนายน ค.ศ. 1424
โอลิเต ราชอาณาจักรนาวาร์
สิ้นพระชนม์2 ธันวาคม ค.ศ. 1464 (40 พรรษา)
ฝังพระศพเลสการ์
พระสวามีพระเจ้าเอนริเกที่ 4 แห่งกัสติยา
ราชวงศ์ตรัสตามารา
พระบิดาพระเจ้าชวนที่ 2 แห่งอารากอน
พระมารดาสมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 1 แห่งนาวาร์

ก่อนขึ้นครองราชย์

แก้

บลังกาเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1424 ทรงเป็นพระธิดาของสมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 1 แห่งนาวาร์กับพระเจ้าชวนที่ 2 แห่งอารากอน พระองค์มีพระเชษฐาหนึ่งคนคือการ์โลส ทำให้ไม่มีใครคาดคิดว่าพระองค์จะได้สืบทอดตำแน่ง พระองค์ยังมีพี่น้องอีกสองคน คือ พระเชษฐภคินีชื่อฆวนนาที่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระชนมายุ 2 พรรษา กับเลโอนอร์ พระขนิษฐาคนสุดท้อง

การอภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งกัสติยา

แก้

ปี ค.ศ. 1427 พระองค์กับพี่น้องอีกสองคนคือการ์โลสและเลโอนอร์ถูกประกาศให้เป็นทายาทโดยชอบธรรมในราชอาณาจักรนาวาร์ สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างนาวาร์กับกัสติยาในปี ค.ศ. 1436 ระบุให้บลังกาเป็นทายาทแห่งกัสติยา ปี ค.ศ. 1440 ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าเอ็นริเกที่ 4 แห่งกัสติยา (ขณะนั้นยังเป็นเพียงเจ้าชาย) ทรงมีฉายานามว่า ผู้ตายด้านทางเพศ และเป็นพระเชษฐาต่างมารดาของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา (ขณะนั้นยังเป็นเพียงเจ้าหญิง) สมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 1 ติดตามพระธิดาไปร่วมพิธีสมรสอย่างเป็นทางการซึ่งจัดขึ้นที่บายาโดลิดในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1440[1] โดยเจ้าสาวมีพระชนมายุ 16 พรรษา ส่วนเจ้าบ่าวมีพระชนมายุ 15 พรรษา ระหว่างที่อยู่ในกัสติยา พระมหากษัตริย์หญิงแห่งนาวาร์ถือโอกาสนี้เดินทางไปแสวงบุญที่สักการะสถานกัวดาลูเปในเอซเตรมาดูรา และยังถือโอกาสนี้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างพระสวามีกับขุนนางกัสติยาที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน พระองค์ยังคงเคลื่อนไหวในกัสติยาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับสิ้นพระชนม์อย่างเหนือความคาดหมายในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1441[2]

ตลอดระยะเวลา 13 ปีการสมรสไม่เคยสมบูรณ์ พระเจ้าเอนริเกกล่าวเป็นนัยๆ ว่าบลังกาทำให้พระองค์ตายด้านทางเพศและพยายามเชื่อมโยงว่าเป็นผลมาจากการทำคุณไสย อาการตายด้านทางเพศจะตามหลอกหลอนพระองค์ไปชั่วชีวิตและเป็นต้นเหตุให้เกิดความสงสัยว่าพระองค์ใช่บิดาตัวจริงของฆวนนา พระโอรสธิดาคนเดียวของพระองค์หรือไม่ ข้อสงสัยดังกล่าวส่งผลให้สิทธิ์ในการสืบทอดบัลลังก์กัสติยาตกเป็นของอิซาเบล พระขนิษฐาต่างมารดาของพระเจ้าเอนริเก ปี ค.ศ. 1453 บลังกาถูกตรวจร่างกายและมีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าพระองค์ยังคงบริสุทธิ์ สมเด็จพระสันตะปาปาประกาศให้การสมรสเป็นโมฆะด้วยเหตุผลว่ามีการทำคุณไสยใส่พระเจ้าเอนริเกเพื่อให้การสมรสไม่สมบูรณ์ เหตุผลดังกล่าวสร้างความอับอายให้แก่ทั้งสองฝ่าย พระเจ้าเอนริเกไม่สามารถใช้ความเป็นญาติใกล้ชิดมาอ้างเป็นเหตุผลได้เนื่องจากว่าที่พระมเหสีคนใหม่ที่พระองค์หมายตาไว้ (จัวนาแห่งโปรตุเกส) เป็นพระญาติที่ใกล้ชิดยิ่งกว่าบลังกา การสมรสจบลงในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1453 บลังกาถูกส่งตัวกลับบ้านเกิดด้วยความอัปยศอดสู

การอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์นาวาร์

แก้

บลังกาถูกส่งตัวกลับบ้านเกิดเมืองนอนเลวร้ายไม่ต่างกัน นับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีบลังกาที่ 1 พระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ พระบิดากับพระเชษฐาของพระองค์ก็ทำสงครามกันอย่างต่อเนื่อง พระเจ้าชวนไม่ยอมวางมือให้พระโอรสคนโตซึ่งเป็นทายาทโดยสายเลือดของสมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 1 บริหารปกครองนาวาร์ บลังการ่วมมือกับพระเชษฐาต่อกรกับพระบิดา ทั้งคู่จึงถูกตัดออกจากกองมรดก ขณะที่เลโอนอร์ พระขนิษฐาคนสุดท้องซึ่งอยู่ฝั่งพระบิดาถูกยกขึ้นเป็นทายาท ทำให้พระนางกับแกสต็อง เคานต์แห่งฟลัวซ์ พระสวามีมีอำนาจในนาวาร์มากขึ้น มีการทำข้อตกลงสองครั้งเพื่อยืนยันสถานะของเลโอนอร์ ทว่าสถานะดังกล่าวยังขาดความมั่นคงเนื่องจากพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีของพระนางยังมีชีวิตอยู่

เดือนธันวาคม ค.ศ. 1460 การ์โลสถูกจองจำหลังคิดจะสมรสกับอิซาเบลแห่งกัสติยา พระองค์เคยสมรสมาก่อนแล้วกับแอ็กเนสแห่งคลีฟส์ แต่หลังสมรสได้แปดปีพระนางก็สิ้นพระชนม์โดยไร้ซึ่งทายาท ชาวกาตาลุนยาให้การสนับสนุนการ์โลส พระองค์ได้รับการปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1461 โดยพระบิดาสัญญาว่าจะตั้งพระองค์เป็นทายาท วันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1461 การ์โลสสิ้นพระชนม์ สาเหตุการตายอาจเนื่องมาจากการป่วยเป็นฝีในท้องหรือไม่ก็ถูกวางยาพิษ โดยผู้บางการอาจเป็นพระมารดาเลี้ยง (ฆวนนา เอ็นริเกวซ พระมารดาของอนาคตพระเจ้าเฟร์รันโดที่ 2 แห่งอารากอน) หรือไม่ก็เลโอนอร์ พระขนิษฐาที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการสิ้นพระชนม์ของพระองค์

การครองราชย์

แก้

ก่อนสิ้นพระชนม์ การ์โลสได้ทำพินัยกรรมแต่งตั้งบลังกา พระขนิษฐาเป็นทายาท เมื่อพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ บลังกาจึงขึ้นเป็นพระราชินีโดยชอบธรรมของนาวาร์ แต่พระบิดา พระขนิษฐา และพระขนิษฐภรรดากลับตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับพระองค์ แกสต็อง บุตรชายและทายาทของเลโอนอร์ได้สมรสกับแมเดอเลน พระขนิษฐาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 แห่งฝรั่งเศส พันธมิตรผู้ทรงอำนาจ พระเจ้าชวนพยายามส่งตัวบลังกาขึ้นเหนือไปสมรสกับชาร์ลส์ ดยุคแห่งแบร์รี พระอนุชาอีกคนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 เพื่อแยกพระนางออกจากกลุ่มผู้สนับสนุน แต่พระนางปฏิเสธไม่ยอมไปจากนาวาร์จึงถูกลักพาตัว ทรงเขียนจดหมายหลายฉบับเพื่อขอความช่วยเหลือและกล่าวโทษพระขนิษฐาและพระขนิษฐภรรดาผู้ทะเยอทะยานว่า

"เคานต์แห่งฟลัวซ์กับภรรยาคือน้องสาวของข้าพเจ้า พยายามขับไล่ข้าพเจ้าออกจากประเทศเพื่อตัดสิทธิ์ในการสืบทอดราชอาณาจักรนาวาร์ของข้าพเจ้า"

ปี ค.ศ. 1464 พระนางเดินทางกลับนาวาร์ด้วยความช่วยเหลือของบิชอปนิโคลัสแห่งเอ็ตซาบาร์รี แต่หลังจากนั้นไม่นานบิชอปกลับถูกฆาตกรรม บลังกาถูกคุมขังในปราสาทออร์เตซ เหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมกับเมื่อคราวพระเชษฐา พระนางสิ้นพระชนม์อย่างน่าสงสัยในอีกไม่กี่เดือนต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1464 ด้วยวัยเพียง 40 พรรษา โดยสันนิษฐานว่าถูกวางยาพิษ ผู้บงการอาจเป็นพระบิดาหรือไม่ก็เลโอนอร์ พระขนิษฐาที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการสิ้นพระชนม์ของพระนาง ร่างของพระนางถูกฝังที่สุสานบรรพชนกษัตริย์ในอาสนวิหารเลสการ์

อ้างอิง

แก้
  1. Genealogy of the House of Trastámara
  2. Eloísa Ramírez Vaquero: Queen Blanca and Navarra