เลขย่อ (อังกฤษ: numeronym) คือคำที่มีตัวเลขซึ่งถูกใช้ในการย่อ การออกเสียงตัวอักษรและตัวเลขอาจอ่านคล้ายกับคำเต็ม ตัวอย่างเช่น K9 ใช้แทน canine (อ่านว่า เค + ไนน์) หรือเช่นในภาษาฝรั่งเศส K7 ใช้แทน cassette (อ่านว่า กา + เซท) เป็นต้น

อีกรูปแบบหนึ่งคือ ตัวอักษรที่อยู่ตรงกลางระหว่างอักษรขึ้นต้นและลงท้าย ถูกแทนที่ด้วยตัวเลขอันแสดงถึงจำนวนตัวอักษรที่ซ่อนไว้ เช่น i18n หมายถึง internationalization บางครั้งอักษรตัวสุดท้ายจะถูกนับและซ่อนไว้ด้วย จากข้อมูลของเทกซ์ เทกซิน เลขย่อประเภทนี้ตัวแรกของโลกคือ S12n ซึ่งเป็นชื่อบัญชีอีเมลที่ผู้ดูแลระบบออกให้กับพนักงานของ ดิจิตอล อีควิปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (DEC) ที่ชื่อ Jan Scherpenhuizen เพราะว่านามสกุลของเขายาวเกินไปสำหรับชื่อบัญชี เพื่อนร่วมงานมักจะอ่านชื่อของเขาไม่ได้จึงเรียกเขาว่า S12n ไปอย่างนั้น และการใช้งานเช่นนี้กลายเป็นวัฒนธรรมในองค์กรของ DEC [1]

ตัวเลขอาจใช้กำกับเพื่อแสดงจำนวนอักษรที่ซ้ำก่อนหรือหลังอักษรตัวอื่น เลขย่อประเภทนี้ใช้แทนชื่อหรือวลีที่มีอักษรขึ้นต้นเดียวกันหลายครั้งอาทิ W3 ใช้แทน World Wide Web และ W3C ใช้แทน World Wide Web Consortium เป็นต้น

กรณีที่พบได้น้อยกว่าคือ เลขย่อที่ประกอบด้วยตัวเลขเพียงอย่างเดียว เช่น 212 หมายถึง ชาวนิวยอร์ก, 4-1-1 หมายถึง ข้อมูลสารสนเทศ, 9-1-1 หมายถึง ช่วยเหลือ และ 101 หมายถึง การแนะนำเบื้องต้นสำหรับวิชาหนึ่ง ๆ คำประเภทนี้มีมานานแล้วหลายทศวรรษ รวมไปถึงรหัส 10 (10-code) ที่มีการใช้งานเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

แนวคิดการประกอบกับตัวเลขเป็นคำสามารถพบได้ในลีท ซึ่งบ่อยครั้งตัวเลขถูกแทนที่ให้กับอักษรที่คล้ายกันตามอักขรวิธี ตัวอย่างเช่น H4CK3D มีความหมายเหมือนกับ HACKED

แอน เอช. โซคานอฟ บรรณาธิการแห่งหนังสือ Microsoft Encarta College Dictionary ฉบับจัดพิมพ์ใหม่ ให้ความหมาย numeronym ว่า "หมายเลขโทรศัพท์อย่างหนึ่งที่สะกดเป็นคำหรือชื่อ" ตามที่ปรากฏบนแป้นโทรศัพท์ [2]

ตัวอย่าง แก้

คำต่าง ๆ บางครั้งอาจมีหลายความหมาย การย่อเช่นนี้จึงต้องอ้างอิงบริบทแวดล้อมเสมอ ตัวอย่างเช่น G11n ที่ย่อมาจาก globalization อาจหมายถึงความเตรียมพร้อมของซอฟต์แวร์เพื่อการเผยแพร่ระดับโลก [3] หรือหมายถึงแนวโน้มเชิงสังคมแบบโลกาภิวัตน์ก็ได้ ในบางกรณีมีการใช้อักษรตัวใหญ่หรือตัวเล็กเพื่อแยกแยะความต่างระหว่าง I/i และ L/l เป็นต้น

  • a11y - Accessibility (ความสามารถในการเข้าถึง)
  • c11y - Consumability
  • c14n - Canonicalisation / Canonicalization
  • d11n - Documentation (เอกสารอธิบายกำกับ)
  • E15 - Eyjafjallajökull (ภูเขาไฟเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ในไอซ์แลนด์)[4]
  • g11n - Globalisation / Globalization (โลกาภิวัตน์, การเผยแพร่ระดับโลก)[5]
  • i14y - Interoperability (ความสามารถในการทำงานร่วมกัน)[6]
  • i18n - Internationalisation / Internationalization (สากลวิวัตน์, การทำให้เป็นสากล)
  • L10n - Localisation / Localization (การทำให้เป็นท้องถิ่น)
  • m10n - Mavenization
  • m12n - Modularisation / Modularization (การแบ่งเป็นโมดูล)[7]
  • m17n - Multilingualization (การทำให้มีหลายภาษา)
  • n11n - Normalisation / Normalization (การทำให้เป็นบรรทัดฐาน)
  • P13n - Personalisation / Personalization (การทำให้เป็นส่วนบุคคล, การปรับตามปัจเจกบุคคล)
  • P45 - Pneumonoultramicroscopicsilicovolcanoconiosis (โรคปอดชนิดหนึ่ง)
  • s10n - Subscription (การสมัครเป็นสมาชิก)
  • W3 - World Wide Web (เวิลด์ไวด์เว็บ)
  • W3C - World Wide Web Consortium (เวิลด์ไวด์เว็บคอนซอร์เทียม)
  • v11n - Versification (ศิลปะการทำให้เป็นบทกวี)[8]
  • v12n - Virtualization

อ้างอิง แก้

  1. Tex Texin. "Origin Of The Abbreviation I18n". สืบค้นเมื่อ September 14, 2005.
  2. Jeffrey McQuain. "Screening the Novel Words of Harry Potter". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-04-12.
  3. Thierry Sourbier (2007-10-25). "Internationalization Encyclopedia:: globalization". i18n Encyclopedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-22. สืบค้นเมื่อ November 11, 2007.
  4. Faye Flam (2010-04-23). "Iceland a hot spot of volcanic activity". The Philadelphia Inquirer. สืบค้นเมื่อ 2010-04-23. Some scientists have come to abbreviate the volcano as E15, for the 15 letters that follow the E
  5. "Canonical XML". W3C. สืบค้นเมื่อ November 11, 2007.
  6. "INTEROPERABILITY.net". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-02. สืบค้นเมื่อ November 11, 2007.
  7. "Modularization of XHTML in XML Schema". W3C. สืบค้นเมื่อ November 11, 2007.
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-14. สืบค้นเมื่อ 2010-09-05.