ไท่ผิงเทียนกั๋ว

(เปลี่ยนทางจาก เมืองแมนแดนสันติ)

ไท่ผิงเทียนกั๋ว (จีนตัวย่อ: 太平天囯; จีนตัวเต็ม: 太平天國; พินอิน: Tàipíng Tiānguó; "กรุงเทพมหาสันติ") เป็นชื่อรัฐซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลราชวงศ์ชิงตั้งแต่ ค.ศ. 1851 ถึง 1864 มีเมืองหลวงอยู่ที่เทียนจิง (天京) หรือปัจจุบันคือหนานจิง (南京) สนับสนุนปฏิบัติการของหง ซิ่วเฉฺวียน (洪秀全) และพรรคพวกซึ่งเรียกตนเองว่า ลัทธิป้ายช่างตี้ (拜上帝教; "ลัทธิบูชามหาเทพ") ในการโค่นล้มราชวงศ์ชิง จนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองที่เรียกว่า กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว

ไท่ผิงเทียนกั๋ว

太平
ค.ศ. 1851–ค.ศ. 1864
ธงชาติ
ธงที่ใช้ในเมือง
ตราพระราชลัญจกรของ
ตราพระราชลัญจกร
อาณาเขต
อาณาเขต
สถานะราชอาณาจักร
เมืองหลวงเทียนจิง
ภาษาทั่วไปจีน
ศาสนา
ทางการ:
การบูชาเทวดา
ไม่เป็นทางการ:
การปกครองการผสานความเชื่อศาสนาคริสต์-เฉินโดยเทวาธิปไตย สมบูรณาญาสิทธิราชย์
เทียนหวัง (เจ้าฟ้า) 
• ค.ศ. 1851–1864
หง ซิ่วเฉฺวียน
• ค.ศ. 1864
หง เทียนกุ้ยฝู
เจ้าชั้นรอง 
ยุคประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง
11 มกราคม ค.ศ. 1851
• การยึดหนานจิง
มีนาคม ค.ศ. 1853
ค.ศ. 1856
• การเสียชีวิตของหง เทียนกุ้ยฝู
18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1864
สกุลเงินเชิ่งเป๋า
ก่อนหน้า
ถัดไป
ราชวงศ์ชิง
ราชวงศ์ชิง
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ จีน

หง ซิ่วเฉฺวียน เข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกด้วยตนเอง แล้วประกาศตนเป็นโอรสองค์ที่สองของพระเป็นเจ้าและเป็นอนุชาของพระเยซู ก่อนนำทัพยึดภาคส่วนสำคัญในจีนตอนใต้ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนได้ผู้เข้าร่วมเกือบ 30 ล้านคน ฝ่ายกบฏประกาศจะปฏิรูปสังคม และจะแทนที่ลัทธิขงจื๊อ ศาสนาพุทธ และศาสนาพื้นเมืองจีน ด้วยศาสนาคริสต์ที่มีการบูชาเทวดา แต่ภายหลัง กองทัพรัฐบาลจีนยึดพื้นที่คืนได้เกือบหมด แล้วได้กองทัพฝรั่งเศสกับบริเตนมาช่วยปราบกบฏจนราบคาบ

ภูมิหลัง

แก้

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประเทศจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงประสบปัญหาหลายประการเนื่องจากภัยทางธรรมชาติ ข้าวยากหมากแพง และพ่ายสงครามกับมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะความพ่ายแพ้ยับเยินต่อบริเตนในสงครามฝิ่นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1842 สงครามยังทำให้การขนส่งสินค้าปั่นป่วนและผู้คนมากมายตกงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากสภาวะดังกล่าวจึงหันเข้าหาหง ซิ่วเฉฺวียน ชายผู้ขายฝันและมากบารมี

หง ซิ่วเฉฺวียน เป็นบัณฑิตซึ่งสอบตกหลายครั้ง เขามักบอกญาติสนิทมิตรสหายว่า ในความฝัน มีชายผมทองหนวดทองคนหนึ่งมามอบดาบให้แก่เขา และมีชายอีกคนซึ่งอ่อนวัยกว่าคนแรกมาหาเขา และเขาเรียกชายคนหลังนี้ว่า "พี่ชาย" ต่อมาในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1830 เขาได้อ่านหนังสือหนา 500 หน้าเรื่อง เฉฺวียนชื่อเหลียงหยาน (勸世良言; "พระวจนะแนะโลก") ของเหลียง ฟา (梁發) ชายจีนซึ่งเข้ารีตเป็นโปรเตสแตนต์ จึงเอาความฝันตีความเข้ากับสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ที่อ่านพบ แล้วเข้าใจว่า ชายผมทองหนวดทองที่มาหาคือพระเทพบิดร ส่วนชายอีกคนคือพระเยซู และความฝันของตนหมายความว่า ตนเป็นบุตรของพระเป็นเจ้า และเป็นน้องชายของพระเยซู โดยทั้งสองพระองค์เสด็จมาชี้แนะให้เขากำจัด "มาร" (ซึ่งเขาตีความว่า หมายถึง ชาวแมนจู) ให้หมดไปจากโลก เขาจึงเห็นเป็นหน้าที่ของตนในอันที่จะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศจีนและโค่นล้มราชวงศ์ชิง

ภายหลัง เขาได้คนสำคัญมาร่วมขบวนการ คือ

  • หยาง ซิ่วชิง (楊秀清) ซึ่งเดิมขายฟืนขายถ่านอยู่ในกว่างซี (广西) และมักอ้างว่า ตนเป็นปากเสียงของพระผู้เป็นเจ้า[1]
  • เฝิง ยฺหวินชาน (馮雲山) ซึ่งก่อตั้งสมาคมลับ เรียก ลัทธิป้ายช่างตี้ ขึ้นในกว่างซี หลังจากเดินทางลงพื้นที่ไปเผยแพร่แนวคิดของหง ซิ่วเฉฺวียน เมื่อ ค.ศ. 1844[2]

หง ซิ่วเฉฺวียน ตั้งตนเป็นประมุขลัทธิป้ายช่างตี้ใน ค.ศ. 1847[3] ลัทธิของเขาขยายตัวมากในปลายคริสต์ทศวรรษ 1840 แนวความคิดของเขา "พัฒนาขึ้นเป็นศาสนาจีนแบบใหม่ซึ่งมีพลวัตมาก...เรียกว่า ศาสนาคริสต์แบบไท่ผิง" เขานำเสนอศาสนาใหม่นี้ว่า เป็นการรื้อฟื้นศาสนาโบราณแบบช่างตี้ (上帝) ที่ถูกลัทธิขงจื๊อและระบอบกษัตริย์บดบังมานาน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเห็นว่า ลัทธิของเขาเป็นภัย จึงปราบปราม ส่งผลให้ขบวนการของเขามุ่งเป้ามาที่การล้มล้างรัฐบาล และนำไปสู่สงครามกลางเมือง[4]

ประวัติ

แก้

การก่อตั้งรัฐ

แก้

หง ซิ่วเฉฺวียน เริ่มออกหน้าต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่กว่างซีเมื่อ ค.ศ. 1850 ต่อมา หง ซิ่วเฉฺวียน ประกาศตั้งประเทศใหม่ เรียกว่า "ไท่ผิงเทียนกั๋ว" ในวันที่ 11 เดือน 1 (ตรงกับวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1851) อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของตน โดยตั้งตนเป็นกษัตริย์แห่งประเทศดังกล่าว เรียกว่า "เทียนหวัง" (天王; "เจ้าฟ้า")[5] เขาตั้งเฝิง ยฺหวินชาน เป็นที่ปรึกษาในการกบฏ และเป็นผู้บริหารไท่ผิงเทียนกั๋ว แต่ไม่นาน เฝิง ยฺหวินชาน ก็เสียชีวิตใน ค.ศ. 1852[6]

หลังปะทะกับฝ่ายบ้านเมืองหลายครั้ง ความรุนแรงทวีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1851 เกิดเป็นการลุกฮือที่จินเถียน (金田起義) ซึ่งกองทัพราชวงศ์ชิงที่มีกำลังน้อยถูกฝ่ายกบฏของหง ซิ่วเฉฺวียน ที่มีกำลังถึง 10,000 คน โจมตีแตกพ่าย[6] ครั้น ค.ศ. 1853 กองทัพกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วยึดหนานจิง ("เมืองใต้") ได้ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "เทียนจิง" ("เมืองฟ้า") หง ซิ่วเฉฺวียน เอาจวนผู้ว่าราชการมาทำเป็นที่อยู่ของตน เรียก "เทียนหวังกง" (天王宮; "วังเจ้าฟ้า") แล้วสั่งฆ่าชาวแมนจูให้สิ้น ครั้งนั้น มีชาวแมนจูกว่า 40,000 คนถูกสังหารในหนานจิง[7] เริ่มแรก กบฏไท่ผิงเทียนกั๋วประหารแต่ชายชาวแมนจู แล้วบังคับให้หญิงชาวแมนจูไปใช้แรงงานนอกเมืองหนานจิง แต่ภายหลังก็เผาหญิงตายทั้งเป็นตามไปด้วย[8]

หง ซิ่วเฉฺวียน ประสบความสำเร็จในการขยายขอบเขตของไท่ผิงเทียนกั๋วไปทั่วจีนตอนใต้ โดยมีศูนย์กลางอยู่ในหุบผาแม่น้ำแยงซีอันอุดมสมบูรณ์ จากนั้น ฝ่ายกบฏส่งทหารขึ้นเหนือไปยึดเป่ย์จิง เมืองหลวงของราชวงศ์ชิง แต่ล้มเหลว

ความขัดแย้งภายใน

แก้

ใน ค.ศ. 1853 หง ซิ่วเฉฺวียน ถอนตัวจากการควบคุมนโยบายบริหารไท่ผิงเทียนกั๋ว เอาแต่ออกประกาศที่เขียนด้วยภาษาแบบศาสนา เพราะขัดแย้งกับหยาง ซิ่วชิง ในประเด็นทางนโยบาย และสงสัยหยาง ซิ่วชิง ที่มีทีท่าทะเยอทะยาน วางสายลับไว้ทั่ว และมักออกแถลงการณ์โดยอ้างว่า เป็นรับสั่งของพระเจ้า ฝ่ายผู้สนับสนุนหง ซิ่วเฉฺวียน จับหยาง ซิ่วชิง และพรรคพวก ประหารทั้งตระกูลใน ค.ศ. 1856[9]

เมื่อผู้นำมีปัญหากันเอง สมาชิกหลักในลัทธิของหง ซิ่วเฉฺวียน ก็พากันขยายฐานผู้สนับสนุนของตนไปทางชนชั้นกลางของจีน บ้างก็ไปทางมหาอำนาจยุโรป แต่ไม่สำเร็จทั้งสองทาง เพราะชนชั้นกลางไม่ชอบใจที่ลัทธินี้ต่อต้านประเพณีจีนและคุณธรรมแบบขงจื๊อ ขณะที่ยุโรปก็ตัดสินใจจะเป็นกลาง

ใน ค.ศ. 1859 หง เหรินกาน (洪仁玕) ญาติของหง ซิ่วเฉฺวียน มาเข้าร่วมขบวนการของหง ซิ่วเฉฺวียน และได้รับมอบอำนาจมากมาย หง เหรินกาน วางแผนจะขยายอาณาเขตไท่ผิงเทียนกั๋ว ครั้น ค.ศ. 1860 กบฏไท่ผิงเทียนกั๋วยึดซูโจว (苏州) กับหางโจว (杭州) ทางตะวันออกได้ในยุทธการที่จิงหนาน แต่ยึดช่างไห่ (上海) ในยุทธการที่ช่างไห่ไม่สำเร็จ ทำให้รัฐไท่ผิงเทียนกั๋วเริ่มเสื่อมอำนาจ

การล่มสลาย

แก้

ยุทธการที่ช่างไห่ดังกล่าวเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1860 แรกเริ่มดูจะไปได้ดี แต่เมื่อเผชิญหน้ากับกองทัพราชวงศ์ชิงที่ได้ความช่วยเหลือจากทหารยุโรปของนายพลเฟรเดริก ทาวน์เซนด์ วอร์ด (Frederick Townsend Ward) ก็ล้มไม่เป็นท่า[6]

กองทัพราชวงศ์ชิงได้รับการปรับปรุงใหม่ภายใต้การบริหารของเจิง กั๋วฟาน (曾國藩) กับหลี่ หงจาง (李鴻章) ทำให้ยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายกบฏได้เกือบหมดในต้น ค.ศ. 1864

เมื่อกองทัพราชวงศ์ชิงมาล้อมหนานจิงใน ค.ศ. 1864 หง ซิ่วเฉฺวียน ประกาศต่อผู้คนว่า พระเป็นเจ้าจะอยู่ข้างพวกเขา แต่ในเดือนมิถุนายน ปีนั้น หง ซิ่วเฉฺวียน เก็บผักป่ามากิน เพราะอาหารในเมืองขาดแคลน การกินผักป่าทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษจนเขาล้มป่วยลงถึง 20 วันและเสียชีวิต ไม่กี่วันให้หลัง กองทัพราชวงศ์ชิงยึดหนานจิงได้ เจิง กั๋วฟาน ให้ขุดศพเขาขึ้นมาตรวจสอบแล้วเผาทิ้งไป เถ้ากระดูกที่เหลือให้ยิงออกจากปืนใหญ่กระจายไปทั่วสารทิศ เพื่อที่ร่างเขาจะได้ไม่มีที่พักวิญญาณเป็นหลักแหล่ง เป็นการลงโทษที่ก่อการกำเริบ

สี่เดือนก่อนที่ราชวงศ์ชิงจะยึดหนานจิงได้ หง ซิ่วเฉฺวียน สละตำแหน่งกษัตริย์ให้แก่บุตรชายคนโตวัย 15 ปีของตนชื่อ หง เทียนกุ้ยฝู (洪天貴福) แต่เมื่อบิดาตายและหนานจิงถูกยึด หง เทียนกุ้ยฝู ไม่รู้ที่จะทำประการใดให้รัฐไท่ผิงเทียนกั๋วกลับคืนมาได้ บรรดาญาติพี่น้องของหง ซิ่วเฉฺวียน ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหวัง (王; "เจ้า") ก็ถูกประหารชีวิตในตำบลจินหลิง (金陵城) ของเมืองหนานจิงนั้น

แม้การยึดหนานจิงใน ค.ศ. 1864 จะเป็นจุดสิ้นสุดของไท่ผิงเทียนกั๋ว แต่การรบรายังไม่ยุติ ทหารกบฏที่เหลืออยู่นับพันยังต่อสู้ต่อต้านรัฐบาลต่อไป ราชวงศ์ชิงต้องใช้เวลาอีก 7 ปีเพื่อปราบกบฏจนราบคาบ ทหารกบฏกลุ่มสุดท้ายที่มีหลี่ ฝูจง (李福忠) เป็นหัวหน้า ถูกปราบปรามในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1871 ในภูมิภาคชายแดนเมืองกว่างซี, กุ้ยโจว (贵州), และหูหนาน (湖南)

การปกครอง

แก้

ผู้ปกครองสูงสุด

แก้

"เทียนหวัง" (天王; "เจ้าฟ้า") เป็นตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดในประเทศ ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ได้แก่

  • หง ซิ่วเฉฺวียน (洪秀全) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1851 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1864 ใช้ชื่อรัชศกว่า "ยฺเหวียนเหนียน" (元年; "ปีต้น")
  • หง เทียนกุ้ยฝู (洪天貴福) บุตรชายหัวปีของหง ซิ่วเฉฺวียน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1864 ถึงเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน ไม่ทันได้ตั้งรัชศก

ผู้ปกครองชั้นรอง

แก้

ตำแหน่งรองลงจากเทียนหวัง คือ ผู้ปกครองแว่นแคว้น ซึ่งมอบให้แก่สาวกคนสำคัญของหง ซิ่วเฉฺวียน ได้แก่

  • "หนานหวัง" (南王; "เจ้าทักษิณ") ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ เฝิง ยฺหวินชาน (馮雲山) ซึ่งถูกสังหารในสงครามเมื่อ ค.ศ. 1852
  • "ตงหวัง" (東王; "เจ้าบูรพา) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ หยาง ซิ่วชิง (楊秀清) ซึ่งถูกเจ้าอุดรฆ่าในการรัฐประหารเมื่อ ค.ศ. 1856
  • "ซีหวัง" (西王; "เจ้าประจิม) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ เซียว เฉากุ้ย (蕭朝貴) ซึ่งถูกสังหารในสงครามเมื่อ ค.ศ. 1852
  • "อี้หวัง" (翼王; "เจ้าภาค") ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ ฉือ ต๋าคาย (石達開) ซึ่งถูกราชวงศ์ชิงจับกุมและประหารใน ค.ศ. 1863
  • "เป่ย์หวัง" (北王; "เจ้าอุดร") ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ เหวย์ ชางฮุย (韋昌輝) ซึ่งถูกสังหารใน ค.ศ. 1856

อื่น ๆ

แก้

หง ซิ่วเฉฺวียน ยังตั้งพวกพ้องเป็น "หวัง" (王; "เจ้า") อีกหลายคน ได้แก่

  • "ก่านหวัง" (干王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ หง เหรินกาน (洪仁玕) ญาติของหง ซิ่วเฉฺวียน อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 1822 จนถูกราชวงศ์ชิงจับกุมและประหารชีวิตใน ค.ศ. 1864
  • "จงหวัง" (忠王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ หลี่ ซิ่วเฉิง (李秀成) ตั้งแต่ ค.ศ. 1823 จนถูกราชวงศ์ชิงจับกุมและประหารใน ค.ศ. 1864
  • "จุนหวัง" (遵王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ ล่าย เหวินกวัง (賴文光) ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ค.ศ. 1827 จนถึง ค.ศ. 1868
  • "ฝูหวัง" (福王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ
    • หง เหรินต๋า (洪仁達) พี่ชายคนที่สองของหง ซิ่วเฉฺวียน ถูกราชวงศ์ชิงจับตัวได้และประหารเสียใน ค.ศ. 1864
    • หง เหรินฟู่ (洪仁富) ญาติของหง ซิ่วเฉฺวียน
  • "หย่งหวัง" (勇王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ หง เหรินกุ้ย (洪仁貴) ญาติของหง ซิ่วเฉฺวียน
  • "อานหวัง" (安王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ หง เหรินฟา (洪仁發) พี่ชายคนโตสุดของหง ซิ่วเฉฺวียน
  • "อิงหวัง" (英王) ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ เฉิน ยฺวี่เฉิง (陳玉成) ตั้งแต่ ค.ศ. 1837 จนถึง ค.ศ. 1862
  • ตำแหน่งไม่ทราบ ผู้ดำรงตำแหน่ง คือ เถียน กุ้ย (田貴) ถูกราชวงศ์ชิงจับกุมและประหารใน ค.ศ. 1864

เงินตรา

แก้

ในปีแรกที่ก่อตั้ง ไท่ผิงเทียนกั๋วผลิตเหรียญกระษาปณ์ เส้นผ่านศูนย์กลาง 23–26 มิลลิเมตร หนักราว 4.1 กรัม ด้านหลังจารึกข้อความว่า "เชิ่งเป่า" (聖寶; "ศักดิ์สิทธิ์และสูงค่า") นอกจากนี้ ยังออกธนบัตรของตนเอง[10]

อ้างอิง

แก้
  1. Spence (1990), p. p. 171.
  2. "Feng Yunshan (Chinese rebel leader) - Britannica Online Encyclopedia". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ 2013-03-08.
  3. "Taiping Rebellion (Chinese history) - Britannica Online Encyclopedia". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ 2013-03-08.
  4. Reilly (2004), p. 4.
  5. China: A New History, John King Fairbank and Merle Goldman. Harvard, 2006.
  6. 6.0 6.1 6.2 Spence (1996)
  7. Matthew White (2011). Atrocities: The 100 Deadliest Episodes in Human History. W. W. Norton. p. 289. ISBN 978-0-393-08192-3.
  8. Reilly (2004), p. 139.
  9. Spence 1996, p. 243
  10. "Money of the Kingdom of Heavenly Peace". The Currency Collector. สืบค้นเมื่อ 24 March 2016.

บรรณานุกรม

แก้
ผลงานที่อ้างถึง