เมอร์เดกา (merdeka) เป็นคำในภาษาอินโดนีเซียและภาษามลายู แปลว่า "เอกราช" หรือ "เสรี" แผลงมาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า มหรรทธิกะ (महर्द्धिक) ซึ่งแปลว่า "ร่ำรวย", "รุ่งเรือง" หรือ "มีอำนาจ" ในกลุ่มเกาะมลายูยังใช้คำนี้เรียกทาสที่ได้รับการปลดปล่อยให้เป็นไทแล้ว

คำว่า มาร์ไดเกอร์ (Mardijker) เป็นคำในภาษาดัตช์ซึ่งเพี้ยนมาจากคำในภาษาโปรตุเกสซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำสันสกฤตเดียวกัน ใช้เรียกอดีตทาสของโปรตุเกสและเนเธอร์แลนด์ที่มาจากอินเดียและอยู่ในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ดังนั้น ความหมายว่า "เสรี" ของคำว่า เมอร์เดกา ในภาษามลายูจึงมีที่มาจากคำนี้ มาร์ไดเกอร์คือทาสที่เคยนับถือคริสต์นิกายคาทอลิกและถูกนำตัวมาจากอินเดียและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกซึ่งจะได้รับการปลดปล่อยเป็นไทหากละทิ้งคาทอลิกและหันมานับถือคริสตจักรปฏิรูปดัตช์แทน[1]

คำนี้มีความสำคัญมากในสมัยขบวนการต่อต้านการล่าอาณานิคมและขบวนเรียกร้องเอกราชในอินโดนีเซีย, มาลายา และสิงคโปร์ซึ่งต้องการเป็นอิสระจากเนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร บนเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ กลุ่มชนโมโร (Moro) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาเมราเนา (Meranaw), มากินดาเนา (Maguindanaw) และอีรานุน (Iranun) ก็ใช้คำว่า มาราเดกา (maradeka) ในความหมายว่า "เสรีภาพ" หรือ "การปลดปล่อย" กลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งที่นั่นก็มีชื่อเรียกว่ามาราเดกา

ในภาษาตากาล็อกมีคำว่า มาฮาร์ลีกา (maharlika) ซึ่งมีรากศัพท์สันสกฤตเช่นเดียวกับคำว่า เมอร์เดกา ในภาษามลายู และหมายถึงทาสที่ได้รับการปลดปล่อยในระบบสังคมดั้งเดิมของฟิลิปปินส์[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "Mardijker". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-21. สืบค้นเมื่อ 2020-02-04.
  2. Scott, William Henry (1992). Looking for the Prehispanic Filipino and Other Essays in the Philippine History. Quezon City: New Day Publishers. ISBN 971-10-0524-7.