เบอาตริวแห่งพรอว็องส์

เบอาตริวแห่งพรอว็องส์ (กาตาลา: Beatriu de Provença; ค.ศ. 1229[1] – 23 กันยายน ค.ศ. 1267) เป็นเคาน์เตสผู้ปกครองพรอว็องส์และฟอร์กาลกีเยตั้งแต่ ค.ศ. 1245 จนสิ้นพระชนม์ ทั้งยังเป็นเคาน์เตสแห่งอ็องฌูและเมน, ราชินีแห่งซิซิลีและเนเปิลส์ จากการเสกสมรสกับพระเจ้าการ์โลที่ 1 แห่งเนเปิลส์

เบอาตริวแห่งพรอว็องส์
พระราชินีเบอาตริวจาก "ไบเบิ้ลแห่งเนเปิลส์"
เคาน์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์กาลกีเย
ครองราชย์19 สิงหาคม ค.ศ. 1245 – 23 กันยายน ค.ศ. 1267
ก่อนหน้าราโมน บารังเกที่ 4 เคานต์แห่งพรอว็องส์
ถัดไปชาร์ลที่ 2
พระราชินีคู่สมรสแห่งซิซิลี
Tenure26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1266 – 23 กันยายน ค.ศ. 1267
ประสูติค.ศ. 1229
สวรรคต23 กันยายน ค.ศ. 1267 (พระชันษา 37-38 ปี)
คู่อภิเษกชาร์ลที่ 1 แห่งซิซิลี
พระราชบุตรบล็องช์ เลดี้แห่งเบธุนและเดนเดอม็องด์
เบอาตริว จักรพรรดินีแห่งคอนสแตนติโนเปิล
ชาร์ลที่ 2 แห่งเนเปิลส์
ฟิลิป เจ้าชายแห่งอาชายเยีย
อิซาเบลล์ ราชินีแห่งฮังการี
ราชวงศ์บาร์เซโลนา
พระราชบิดาราโมน บารังเกที่ 4 เคานต์แห่งพรอว็องส์
พระราชมารดาเบียทริซแห่งซาวัว

พระองค์เป็นบุตรสาวคนที่สี่และคนสุดท้องของราโมน บารังเกที่ 4 เคานต์แห่งพรอว็องส์และฟอร์กาลกีเย[2] ที่มีกับภรรยา เบียทริซ บุตรสาวของเคานต์โธมัสที่ 1 แห่งซาวัว[3] กับมาร์กาเร็ตแห่งเจนีวา[4]

ชีวประวัติ แก้

การสืบทอดพรอว็องส์และฟอร์กาลกีเย แก้

เบอาตริวนั้น เช่นเดียวกับพี่น้องหญิง, มารดา และยาย ทรงเป็นที่รู้จักในด้านความงาม บุตรสาวคนโตทั้งสามคนของราโมน บารังเกแต่งงานกับผู้สูงศักดิ์: คนโต มาร์กาเร็ต เป็นพระราชินีแห่งฝรั่งเศสจากการอภิเษกสมรสกับหลุยส์ที่ 9; คนที่สอง เอเลนอร์ เป็นราชินีแห่งอังกฤษจากการอภิเษกสมรสกับเฮนรี่ที่ 3 ส่วนคนที่สาม ซันซา เป็นราชินีแห่งเยอรมนีแต่ในนามจากการเสกสมรสกับพระอนุชาของเฮนรี่ ริชาร์ด เอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์[5] การอภิเษกสมรสกับมาร์กาเร็ตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ได้ถูกจัดแจงโดยพระมารดาของพระองค์ บล็องช์แห่งคาสตีล ด้วยความหวังว่าพระองค์จะได้สืบทอดต่อพรอว็องส์และฟอร์กาลกีเยเมื่อบิดาของมาร์กาเร็ตตาย

ทว่าในพินัยของเขาที่ลงนามเมื่อ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1238 ที่ซิสเตอโรน[6] ราโมน บารังเกที่ 4 ยกอาณาจักรเคานต์พรอว็องส์และฟอร์กาลกีเยให้บุตรสาวคนเล็กที่ยังไม่แต่งงาน เบอาตริว อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด[7][8]

เคาน์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์กาลกีเย แก้

ราโมน บารังเกตายเมื่อ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1245 ที่เอ็กซ์-อ็อง-พรอว็องส์ และตามพินัยกรรมของเขา เบอาตริวกลายเป็นเคาน์เตสแห่งพรอว็องส์และฟอร์กาลกีเยด้วยสิทธิ์ของพระองค์เอง ด้วยเงื่อนไขที่ว่าเคาน์เตสม่ายจะยังคงได้รับสิทธิ์เก็บกินในอาณาจักรเคานต์พรอว็องส์ไปจนกว่าจะเสียชีวิต

ตอนนี้เบอาตริวกลายเป็นหนึ่งในทายาทหญิงที่น่าดึงดูดใจที่สุดในยุโรปยุคกลาง และไม่นานก็มีผู้สู่ขอหลายคนมาปรากฏตัวเพื่อขอพระองค์แต่งงาน เริ่มแรก ผู้ปกครองข้างเคียงของดินแดนของพระองค์ได้อ้างสิทธิ์ของตน เรย์มงด์ที่ 7 เคานต์แห่งตูลูส ที่หย่ามาแล้วสองครั้ง กับพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอารากอน ที่แม้จะแต่งงานกับไวโอลันต์แห่งฮังการีแล้ว แต่ยังบุกโพรว็องมายึดที่พักของเคาน์เตส[8] อีกทั้งยังมีเฟรเดอริคที่ 2 จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ส่งกองทัพเรือจักรวรรดิมาพรอว็องส์เพื่อให้เบอาตริวยอมแต่งงานกับพระโอรสของพระองค์

ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ เคาน์เตสม่ายตัดสินใจรีบพาตัวเองและเบอาตริวไปอยู่ที่ป้อมปราการที่ปลอดภัยในเอ็กซ์ จากนั้นก็ขอการคุ้มกันจากพระสันตปาปาอินโนเซนต์ที่ 4 ในคลุนี ช่วงเดือนธันวาคมของ ค.ศ. 1245 การมีการประชุมลับกันระหว่างพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 4, หลุยส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส, พระมารดา บล็อนช์แห่งคาสตีล และพระอนุชา ชาร์ล ตกลงกันว่าเพื่อแลกกับการสนับสนุนทางทหารของหลุยส์ที่ 9 ในการต่อสู้กับเฟรเดอริคที่ 2 ของพระสันตะปาปา พระสันตะปาปาจะอนุญาตให้ชาร์ลแต่งงานกับเบอาตริว[9] มารดากับบุตรสาวพอใจกับตัวเลือกนี้[10] แต่ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญา พรอว็องส์จะไม่ตกเป็นของฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์ผ่านทางชาร์ล มีการตกลงกันว่าหากชาร์ลกับเบอาตริวมีพระโอรสธิดา อาณาจักรเคานต์จะตกเป็นของลูกๆ หากไม่มี พรอว็องส์และฟอร์กาลกีเยจะตกเป็นของซันซาแห่งพรอว็องส์ และหากเบอาตริวสิ้นพระชนม์โดยไร้ทายาท อาณาจักรเคานต์จะตกเป็นของกษัตริย์แห่งอารากอน เฮนรี่ที่ 3 แห่งอังกฤษคัดค้านเงื่อนไขนี้ ทรงแย้งว่าทั้งพระองค์และพระอนุชายังได้รับสินสอดจากพระมเหสี เอเลนอร์และซันซา ไม่ครบตามที่ตกลงไว้ พระองค์มีปราสาทในพรอว็องส์ที่ได้มาโดยแลกกับการให้ท่านเคานต์ผู้ล่วงลับยืมเงิน[11]

ชาร์ล พร้อมกับฟิลิปแห่งซาวัวและอัศวินห้าร้อยคน ขี่ม้าจากลียงมาพรอว็องส์ ระหว่างทางเกิดปะทะกับเรย์มงด์ที่ 7 เคานต์แห่งตูลูส ที่กำลังเดินทัพไปพรอว็องส์เช่นกัน ทว่าเรย์มงด์ที่ 7 ถูกหลอกโดยอัศวินเพื่อให้ฝั่งชาร์ลได้เปรียบ เป็นเหตุให้เขานำคนมาน้อยกว่า ส่วนชาร์ลกับกองทัพนั้นไวกว่า เมื่อชาร์ลไปถึงเอ็กซ์-อ็อง-พรอว็องส์ เจมส์ที่ 1 แห่งอารากอน ที่อยู่ด้วยกันตลอดทางแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เจอเบอาตริว ให้ทหารของตนปิดล้อมปราสาทที่เบอาตริวกับมารดาของพระองค์อยู่ มีการต่อสู้เล็กๆเกิดขึ้น แต่กษัตริย์แห่งอารากอนถอนตัวไปอย่างมีเกียรติ[8]

สำหรับเบอาตริว ชาร์ล (ซึ่งถูกบรรยายไว้ว่าเป็น "เป็นชายหนุ่มที่น่ายกย่อง") เป็นทางแก้ปัญหาที่น่าพอใจ การแต่งงานของทั้งคู่เกิดขึ้นเมื่อ 31 มกราคม ค.ศ. 1246 ที่เอ็กซ์-อ็อง-พรอว็องส์[2] ทั้งคู่มีทหารคุ้มกันและเจ้าสาวได้รับการอารักขาไปตามทางเดินโดยน้าชาย โธมัส เคานต์แห่งฟลานเดอส์

 
พิมพ์แกะสลักของตราประทับของเบอาตริว: เบอาตริวถือเฟลอร์-เดอ-ลีส์; อีกด้านเป็นตราประจำพรอว็องส์

มรดกที่เบอาตริวได้รับเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งกับพี่สาวที่หวังเอาไว้ว่าเมื่อบิดาของตนเสียชีวิต ดินแดนของเขาจะถูกแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ทว่าชาร์ลปฏิเสธที่จะแบ่งอาณาจักรเคานต์ให้กับพี่สาวของพระชายา ในเวลาต่อมา ความสัมพันธ์ของชาร์ลและเบอาตริวกับสามสาวพี่น้องที่รู้สึกว่าถูกพินัยกรรมของบิดาหักหลังจะยังคงตึงเครียดต่อไป[12]

ไม่นานหลังจากชาร์ลกลายเป็นเคานต์แห่งพรอว็องส์ พระองค์นำกลุ่มนักกฎหมายและนักบัญชีฝรั่งเศสของตนเข้ามา[13] พระองค์ไม่ให้พระสัสสุ (แม่ยาย) มีส่วนในการดูแลอาณาจักรเคานต์และเริ่มยึดปราสาท, อำนาจ และค่าธรรมเนียมมาจากขุนนางที่ก่อนหน้าที่เคยเพลิดเพลินกับการดูแลเมืองของตนเองได้อย่างเป็นอิสระ ชาร์ลทำให้ตัวเองไม่เป็นทีนิยมอย่างมาก เคาน์เตสม่ายย้ายตัวเองไปอยู่ที่ฟอร์กาลกีเยเป็นการต่อต้าน ต่อมาก็ย้ายไปมาร์กเซย คนของชาร์ลถูกขับไล่ออกจากเมือง ในความขัดแย้งภายในครอบครัว เบอาตริวยืนอยู่ฝั่งพระสวามี

ครูเสดครั้งที่เจ็ด แก้

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1247 ชาร์ลกับเบอาตริวถูกบันทึกไว้ว่าอยู่ในเมอลัน ที่ซึ่งชาร์ลได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวินโดยพระเชษฐา หลุยส์ เบอาตริวร่วมเดินทางไปกับชาร์ลในสงครามครูเสดครั้งที่เจ็ดใน ค.ศ. 1248 ด้วยการนำของพระเจ้าหลุยส์ที่ 9 ผู้ทำครูเสดเดินทัพออกจากฝรั่งเศส ก่อนออกเดินทาง ชาร์ลกับเบอาตริวไปพบเคาน์เตสม่ายในบัวแคร์เพื่อพยายามทำข้อตกลงเรื่องพรอว็องส์ที่จะถูกทิ้งไว้จนกว่าชาร์ลกับเบอาตริวจะกลับมา มีการตกลงกันว่าเบอาตริวแห่งซาวัวจะยอมวางมือจากสิทธิ์ใน "ปราสาทที่เอ็กซ์แลกกับส่วนแบ่งในรายได้ของอาณาจักรเคานต์"

ในนิโคเซีย เบอาตริวให้กำเนิดบุตรคนแรก พระโอรส ทว่าเด็กน้อยมีอายุได้เพียงไม่กี่วัน[14] เบอาตริวอยู่กับพี่สาว มาร์กาเร็ต ในแดมิเอ็ตต้าในตอนที่สูญเสียการติดต่อกับกษัตริย์และกองทัพของพระองค์ ที่นี่ เบอาตริวให้กำเนิดบุตรคนที่สอง ในขณะที่พี่สาวของพระองค์ก็ประสูติพระราชบุตรเช่นกัน ต่อมาใน ค.ศ. 1250 ทั้งคู่กลับมารวมตัวกับคนที่เหลืออีกครั้งที่อาเคร ที่ซึ่งค่าไถ่ตัวของกษัตริย์ได้รับการจ่าย ชาร์ลกับเบอาตริว พร้อมกับขุนนางอีกหลายคน จากไปหลังจากนั้นไม่นานและเดินทางไปราชสำนักของจักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 2 เพื่อขอให้พระองค์ส่งคนมาช่วยกษัตริย์ฝรั่งเศสทำครูเสดเพิ่ม ทว่าจักรพรรดิที่ถูกตัดออกจากศาสนา[15] จำเป็นต้องใช้กองทัพต่อสู้กับพระสันตะปาปาจึงปฏิเสธไป

เบอาตริวกับชาร์ลกลับไปพรอว็องส์ใน ค.ศ. 1251 เกิดความวุ่นวายขึ้นที่อาร์ลส์และอาวินญง ซึ่งปลุกปั่นโดยมารดาของเบอาตริวที่รู้สึกว่าชาร์ลไม่เคารพในการอ้างสิทธิ์ในโพรว็องของตน ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1252 ชาร์ลจัดการปราบการปฏิวัติได้และใช้อำนาจในฐานะเคานต์แห่งพรอว็องส์ ทว่าในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน บล็องช์แห่งคาสตีล ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งฝรั่งเศสในช่วงที่พระโอรส หลุยส์ที่ 9 อยู่ในครูเสด สิ้นพระชนม์ ชาร์ลกับเบอาตริวต้องไปปารีส ที่ซึ่งชาร์ลกลายเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมแห่งฝรั่งเศสร่วมกับพระเชษฐา อัลฟ็องซ์[16] พระสันตะปาปาเสนออาณาจักรซิซิลีให้ชาร์ลใน ค.ศ. 1252 แต่ชาร์ลจำเป็นต้องปฏิเสธข้อเสนอ เนื่องจากพระองค์มีเรื่องอื่นที่ต้องจัดการและมีเงินทุนไม่มากพอ

ผู้ทำครูเสดกลับมาใน ค.ศ. 1254 ปีนั้นชาร์ลกับเบอาตริวใช้เวลาช่วงคริสต์มาสในปารีส ที่ซึ่งพี่สาวของเบอาตริวทุกคนกับมารดาของพระองค์มาร่วมด้วย มีการบันทึกไว้ว่าพี่สาวอีกสามคนปฏิบัติต่อน้องสาวคนเล็ก เบอาตริว อย่างเย็นชา เนื่องจากพินัยกรรมของเรย์มงด์ เบเรนเกร์

ราชินีแห่งซิซิลี แก้

 
รูปปั้นของเบอาตริวแห่งโพรว็องส์ คริสตศตวรรษที่ 13 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่มูซี ดิสทัวร์ เดอ มาร์กเซย (พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งมาร์กเซย)

พี่สาวของเบอาตริว มาร์กาเร็ต พระราชินีคนใหม่ของฝรั่งเศส แสดงความโกรธเคืองต่อพระองค์อย่างเปิดเผยใน ค.ศ. 1259 โดยการไม่ให้นั่งร่วมโต๊ะกับครอบครัว ทรงอ้างว่าเป็นเพราะเบอาตริวไม่ได้เป็นราชินีเหมือนพี่น้องคนอื่นๆ จึงนั่งร่วมโต๊ะกับพวกพระองค์ไม่ได้ มาร์การเร็ตหวังไว้ว่าการยั่วยุน้องสาวด้วยพฤติกรรมที่คิดคดนี้จะสร้างเหตุผลอันชอบธรรมในการบุกพรอว็องส์ เบอาตริว "ที่โศกเศร้าเป็นอย่างมาก" กลับไปกับชาร์ลที่บอกกับพระองค์ว่า

"อย่าใส่ใจไปเลย เพราะอีกไม่นานข้าจะทำให้เจ้าเป็นราชินีที่ยิ่งใหญ่กว่าพวกนาง"

เมื่อพระสันตะปาปาเคลม็องต์ที่ 4 ที่ได้รับเลือกคนใหม่มอบอาณาจักรซิซิลีให้ชาร์ล พระองค์ต้องปราบพระเจ้ามันเฟรดที่ไม่เป็นที่โปรดปรานของพระสันตะปาปา คู่แข่งในการท้าชิงบัลลังก์แห่งซิซิลีอีกคนคือหลานชายของเบอาตริว เอ็ดมุนด์หลังกางเขน แต่ไม่นานก็เป็นที่ชัดเจนว่าชาร์ลเป็นผู้ท้าชิงที่มีความหวังมากกว่า เพื่อให้มาได้ซึ่งสิ่งที่ต้องการ ชาร์ลจำเป็นต้องมีกองทัพและเบอาตริวช่วยพระสวามีสร้างมันขึ้นมา พระองค์เรียกอัศวินทุกคนของตนรวมถึงชายหนุ่มของฝรั่งเศสมา และตามที่นักประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา แองเจโล คอสตันโซ เล่า พระองค์ขายอัญมณีทุกชิ้นที่มีอยู่เพื่อให้พวกจะเข้าร่วมของทัพของพระสวามี

ใน ค.ศ. 1265 ชาร์ลแห่งอ็องฌู พร้อมกับคณะเล็กๆ ลงเรือข้ามทะเลไปถึงโรม ที่ซึ่งพระองค์ได้รับแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาให้เป็นกษัตริย์แห่งซิซิลี[17] อ้างอิงตาม สตอเรีย ดิ มันเฟรดิ, เร ดิ ซิชิเลีบ เอ ดิ ปุเกลีย ของจูเซ็ปเป ดิ เชซาเร ที่เล่าตาม สตอเรีย ดิ ซาบา มาลาสปินา ว่าเบียทริวตามพระสวามีไปพร้อมกับกองทัพที่ยังเหลือ ไปถึงอิตาลีในสี่เดือนต่อมา[18] ในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น กองทัพของชาร์ล ประกอบด้วยทหาร 5,000 นายกับพลเดินเท้า 25,000 นายเข้าสู่อิตาลีและมาถึงโรมในเดือนมกราคม ค.ศ. 1266[19] ที่ซึ่งในวันที่ 6 มกราคม ทั้งชาร์ลและเบอาตริวได้รับการสวมมงกุฎกษัตริย์และราชินีแห่งซิซิลีโดยพระคาร์ดินัลห้าคนที่ถูกส่งมาโดยพระสันตะปาปา (ผู้ซึ่งหลบภัยอยู่ในเปรูจา)[20] ทันทีที่การเฉลิมฉลองการราชาภิเษกจบสิ้นลง เบอาตริวอยู่ในโรมกับกองทัพเล็กๆเพื่อครองเมือง ขณะที่ชาร์ลขี่ม้าออกไปทำสมรภูมิแห่งเบเนเวนโต หลังชัยชนะของพระสวามี เบอาตริวเลือกปราสาทแห่งเมลฟิเป็นที่พักของทั้งคู่

การสิ้นพระชนม์ แก้

เบอาตริวสิ้นพระชนม์ในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1267 ไม่กี่ปีหลังได้เป็นพระราชินี[21] ที่คาสเตลโล เดล ปาร์โกที่โนเชรา อินเฟรีโอเร ไม่ก็ในเนเปิลส์ (อ้างอิงตาม สตอเรีย ดิ ซาบา มาลาสปินา[22]) สาเหตุของการสิ้นพระชนม์ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ แม้จะเชื่อกันว่าภาวะแทรกซ้อนหลังการตั้งครรภ์อาจเป็นสาเหตุ[23] ตอนแรกพระองค์ถูกฝังที่มหาวิหารแห่งซาน เจนนาโร ในเนเปิลส์ แต่ใน ค.ศ. 1277 พระสวามีของพระองค์ย้ายศพของพระองค์ไปเอ็กซ์-อ็อง-พรอว็องส์ ที่โบสถ์แห่งแซ็งต์-ฌ็อง-เดอ- แมลตา[24]

เบอาตริวเป็นเคาน์เตสผู้ปกครองโพรว็องส์และฟอร์กาลกีเยคนสุดท้ายที่มาจากตระกูลบาร์เซโลนา หลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ อาณาจักรเคานต์ตกเป็นของพระสวามีของพระองค์ ชาร์ล

พระโอรสธิดา แก้

ชาร์ลกัลเบอาตริวมีพระโอรสธิดาด้วยกัน ดังนี้

  1. หลุยส์ (ประสูติและสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1248 ที่นิโกเซีย)
  2. บล็องช์ (ค.ศ. 1250 - ก่อน 10 มกราคม ค.ศ. 1270) แต่งงานใน ค.ศ. 1265 กับโรแบต์แห่งฟลานเดอส์ ลอร์ดแห่งเบธุนและเดนเดอร์ม็องด์ (ต่อมากลายเป็นเคานต์โรแบต์ที่ 3 ใน ค.ศ. 1350 หลังการตายของบล็องช์) ที่มีลูกชายกับเธอหนึ่งคน ชาร์ล ซึ่งตายตั้งแต่ยังเด็ก
  3. เบอาตริว (ค.ศ. 1252 - 17 พฤศจิกายน/12 ธันวาคม ค.ศ. 1275) แต่งงานใน ค.ศ. 1273 กับฟิลิปแห่งคอร์ตเนย์ จักรพรรดิแห่งคอนสแตนติโนเปิลแต่ในนาม ที่มีพระธิดากับเธอหนึ่งคน แคทเธอรีนที่ 1 แห่งคอร์ตเนย์ จักรพรรดินีแห่งคอนสเตนติโนเปิลแต่ในนาม
  4. ชาร์ลที่ 2 (ค.ศ. 1254 - 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1309) เคานต์แห่งอ็องฌูและพรอว็องส์, กษัตริย์แห่งเนเปิลส์ เสกสมรสกับมาเรียแห่งฮังการี ที่มีพระโอรสธิดากับพระองค์
  5. โรแบต์ (ค.ศ. 1258 - ก่อน 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1265)
  6. อิซาเบลล์ (ค.ศ. 1261 - ตุลาคม ค.ศ. 1303) อภิเษกสมรสกับลาดิสเลาส์ที่ 4 แห่งฮังการี ไม่มีพระโอรสธิดา

ลูกหลานของทั้งคู่ยังรวมไปถึง โยลันด์แห่งอารากอน, ฟิลิปปาแห่งเอโนลต์, อิซาเบลลาที่ 1 แห่งคาสตีล, เฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ, แคโรลีนแห่งอันส์บาค, พระราชินีวิคตอเรีย และอลิซาเบธที่ 2 แห่งบริเตนใหญ่

อ้างอิง แก้

  1. Davin 1963, p. 182
  2. 2.0 2.1 "Monumenta Germaniae Historica, Scriptores, Tomus XXIII, Annales Sancti Victoris Massilienses, anno 1245, p. 5". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-15. สืบค้นเมื่อ 2018-04-07.
  3. Peter der Zweite Graf von Savoyen, Markgraf in Italien, sein Haus und seine Lande, doc. 49, pp. 22-23.
  4. "Monumenta Germaniae Historica, Scriptores, Tomus XXIII, Chronica Albrici Monachi Trium Fontium, anno 1235, p. 938". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-10. สืบค้นเมื่อ 2018-04-07.
  5. Runciman 1958, p. 72.
  6. Layettes du Trésor des Chartes, vol. II', doc. 2719, pp. 378-382.
  7. Matthæi Parisiensis, Monachi Sancti Albani, Chronica Majora, vol IV, p. 485.
  8. 8.0 8.1 8.2 Lane Poole, p. 148.
  9. Petit-Dutaillis, p. 857.
  10. Cox 1974, p. 146–149,153.
  11. Cox 1974, p. 151–152.
  12. Johnstone, p. 570.
  13. Runciman 1958, p. 73: "ในตอนที่ [ชาร์ล] มาถึงพรอว็องส์ ในต้น ค.ศ. 1246 ได้มีนักกฎหมายและนักบัญชีที่ได้รับการฝึกฝนที่ราชสำนักฝรั่งเศสกลุ่มใหญ่มากับพระองค์ด้วย"
  14. P. Van Kerrebrouck: Les Capétiens 987-1328 Villeneuve d'Asq 2000, p. 250.
  15. Hopkins 2008, p. 174.
  16. Runciman 1958, p. 73–74.
  17. Previté-Orton, p. 222.
  18. storia di Manfredi, re di Sicilia e di Puglia, p. 218, note 14.
  19. Previté-Orton, p. 222.
  20. Runciman 1958, p. 90: "ต่อมาชาร์ลขอให้พระสันตะปาปามาที่โรมเพื่อสวมมงกุฎกษัตริย์และราชินีแห่งซิซิลีให้พวกพระองค์ เคลม็องต์ปฏิเสธที่จะทิ้งสวัสดิภาพในเปรูจา; แต่พระองค์ส่งคาร์ดินัลห้าคนไปประกอบพิธีในโบสถ์แห่งเซนต์ปีเตอร์เมื่อ 6 มกราคม ค.ศ. 1266"
  21. Abulafia 1995, p. 301.
  22. Istoria di Saba Malaspina, IV, XX, p. 291.
  23. The testament of "Beatrix...Regina Sicilie, Ducatus Apuliæ et Principatus Capuæ, Andegavensis, Provinciæ et Forcalquerii Comitissa", dated "die Mercurii in crastino Beatorum Peteri et Pauli Apostolorum (30 June)" 1266, made bequests to "...ventrem nostrum, si contigat Nos masculum parere...si autem filiam...". It's unknown whether this child came to term. Spicilegium sive Collectio veterum aliquot scriptorium (new edition) vol. III, Achéry, L. d´, Baluze, S., Martene, E. (eds.) Paris 1723, p. 660.
  24. ruzelius 2004, p. 20.

แหล่งข้อมูล แก้

  • Bruzelius, Caroline Astrid (2004). The Stones of Naples: Church Building in Angevin Italy, 1266-1343. Yale University Press.20
  • Cox, Eugene L. (1974). The Eagles of Savoy. Princeton: Princeton University Press. ISBN 0691052166.
  • Davin, Emmanuel (1963). "Béatrice de Savoie, Comtesse de Provence, mère de quatre reines (1198-1267)". Bulletin de l'Association Guillaume Budé (in French). n°2 juin.
  • http://epistolae.ccnmtl.columbia.edu/woman/69.html เก็บถาวร 2016-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • http://libro.uca.edu/chaytor/hac6.htm
  • Hopkins, T.C.F. (2008). Empires, Wars, and Battles: The Middle East from Antiquity to the Rise of the New World. Macmillan. p. 174. ISBN 1466841710.
  • The Plantagenets, The Magnificent Century, Thomas B Costain 1951
  • Runciman, Steven (1958). The Sicilian Vespers: A History of the Mediterranean World in the Later Thirteenth Century. London: Cambridge University Press. OCLC 315065012.
  • Abulafia, David (1995). The New Cambridge Medieval History. Volume 5, C.1198-c.1300. Cambridge: Cambridge University Press.
  • Lane Poole, Austin: The Interregnum in Germany in: History of the Medieval World, vol. V, 1999, pp. 128–152. ISBN 052136289X.
  • Petit-Dutaillis, Charles: Louis IX the Saint in: History of the Medieval World, vol. V, 1999, pp. 829–864.
  • Johnstone, Hilda: France: the last Capetians, in: History of the Medieval World, vol. VI, 1999, pp. 569–607.
  • Previté-Orton: Italy in the second half of the 13th century, in: History of the Medieval World, vol. V, 1999, pp. 198–244.