เบญจมาศ
เบญจมาศ หรือ สกุลเบญจมาศ (อังกฤษ: Chrysanthemum; ชื่อวิทยาศาสตร์: Chrysanthemum, เดิมชื่อ Dendranthemum; จีน: 菊属; พินอิน: jú shǔ) เป็นสกุลไม้ตัดดอกในวงศ์ทานตะวัน ที่นิยมปลูกประดับ ตัดขาย และใช้กิน มีการซื้อขายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากกุหลาบ (2537)[2] เนื่องจากเป็นไม้ดอกที่มีรูปทรงสวยงาม สีสันสดใส ปลูกเลี้ยงง่าย และมีหลายพันธุ์ให้เลือก มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นและจีน
ดอกเบญจมาศโดยทั่วไปมักหมายถึง ชนิดที่เป็นที่รู้จักดีคือ เบญจมาศสวน (Chrysanthemum indicum Linn.) กับเบญจมาศหนู (Chrysanthemum morifolium Ramat.) ซึ่งเรียกรวมกันว่า "ดอกเก๊กฮวย" (จีน: 菊花; พินอิน: júhuā) นิยมนำมาตากแห้ง ใช้ชงกับใบชา หรือต้มกับน้ำตาลทำน้ำเก๊กฮวย มีอยู่หลายสายพันธุ์
ประเภท
แก้เบญจมาศที่นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอก มี 4 ประเภท[3] คือ
- Exhibition Type เป็นเบญจมาศที่มีดอกขนาดใหญ่มาก ดอกมีรูปทรงกลม ลำต้นสูงใหญ่ แต่ละต้นเลี้ยงให้มีเพียง 1 ดอก ปกติจะปลูกสำหรับการโชว์
- Standard Type เป็นเบญจมาศที่มีดอกขนาดเล็กกว่า Exhibition Type แต่ละต้นเลี้ยงให้มี 3-4 กิ่ง และแต่ละกิ่งให้มีเพียง 1 ดอก
- Spray Type เป็นเบญจมาศที่มีดอกขนาดเล็กกว่า Standard Type แต่ละกิ่งมีหลายดอก และมี 3-4 กิ่งต่อต้น หรืออาจมีมากกว่านี้ ตัดดอกขายในลักษณะเป็นกิ่งหรือต้องขายทั้งต้น
- potted Type เป็นเบญจมาศที่มีดอกขนาดเล็กกว่า Spray Type ใช้ปลูกเป็นไม้กระถาง มีทรงพุ่มกระทัดรัด แตกกิ่งก้านได้มากดอกดก
สายพันธุ์
แก้พันธุ์เบญจมาศอยู่กว่า 1,000 พันธุ์ปลูก ที่นิยมปลูกในประเทศไทยเป็นประเภท Standard Type สีเหลืองและสีขาว พันธุ์ที่นิยมปลูกในขณะนี้คือ พันธุ์ขาวการะเกด พันธุ์ขาวเมืองตาก และพันธุ์ TW12 (Pui Tsin-Shin) ซึ่งให้ดอกสีขาว พันธุ์เหลืองตาก พันธุ์เหลืองทอง พันธุ์เหลืองอินทนนท์ พันธุ์เหลืองเกษตร และพันธุ์ TW17 (Shin-Fan-Tsu-Ri) ซึ่งมีดอกสีเหลือง
การขยายพันธุ์
แก้- การปักชำ ใช้ส่วนของกิ่ง (จากกิ่งส่วนล่างหรือส่วนโคนของพุ่มต้น) ตัดยาว 5 - 10 ซม. มีใบติด 3-4 ใบ ปลิดใบล่างๆออก ผึ่งไว้จนแห้ง จากนั้นจุ่มในสารเคมีเร่งราก รากจะออกประมาณ 10 - 15 วัน
- การแยกหน่อ หลังจากให้ดอกแล้ว จะแตกหน่อจำนวนมากสามารถแยกเอาหน่อซึ่งมีรากติดอยู่ไปปลูกได้
การปลูกเลี้ยง
แก้ควรปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี pH ดิน 6 - 7 ได้รับแสงแดดเต็มที่ ให้น้ำในระยะ 7 - 10 วัน หลังย้ายปลูกควรรดน้ำ เช้า - เย็น เมื้อต้นกล้าตั้งตัวดีแล้ว จะรดน้ำตอนเช้าวันละครั้ง และให้ปุ๋ยในอัตรา 3 : 2: 1 ทุก 7 วันเพื่อเร่งการเติบโตของลำต้น หลังปลูก 2 เดือนจะให้ปุ๋ยอัตรา 1 : 2: 1 ทุก 10 วัน เพื่อช่วยในการออกดอก ใส่จนกระทั่งเก็บดอกใส่ต้นละ 1 ช้อนชา ถ้าต้องการให้ดอกเบญจมาศมีขนาดใหญ่ จะต้องปลิดดอกที่ล้อมรอบดอกยอดและดอกที่แตกตามซอกใบทั้งหมด ให้แต่ละกิ่งเหลือดอกยอดเพียงดอกเดียว ควรปลิดดอกข้างเมื่อมีขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ มิฉะนั้นดอกยอดจะมีขนาดเล็กและก้านดอกจะเหนียวขึ้น ถ้าปลิดเร็วเกินไปจะปลิดลำบากเพราะดอกยังมีขนาดเล็กเกินไปและจะเสียเวลาหลายครั้ง เนื่องจากดอกข้างจะทะยอยออกมาเรื่อยๆ
ศัตรูเบญจมาศ
แก้โรคใบจุด โรคใบเหี่ยว โรคใบแห้ง โรคดอกเน่า เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน หนอนผีเสื้อกินดอก ไรแดง
การตัดดอก
แก้ใช้กรรไกรตัดก้านดอกเหนือพื้นดินประมาณ 10 ซม. แต่พันธุ์ที่ก้านดอกยาวอาจตัดสูงกว่านั้น (ถ้าปลายก้านดอกมีเส้นใยมากจะดูดน้ำได้น้อย) ควรเด็ดใบทิ้ง 1 ใน 3 ของก้านดอกจากข้างล่าง ควรตัดดอกเมื่อกลีบดอกด้านนอกบานเต็มที่แต่กลีบตรงใจกลางดอกยังไม่บาน ถือว่าเป็นระยะเหมาะสมที่สุดและสวยที่สุด
อ้างอิง
แก้- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อo
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-15. สืบค้นเมื่อ 2007-11-03.
- ↑ http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=47560&NewsType=2&Template=1