เทศบาลตำบลพยุห์

เทศบาลตำบลในจังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย

เทศบาลตำบลพยุห์ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทเทศบาลตำบล ขนาดเล็ก [2] อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 48/5-6 หมู่ที่ 8 ถนนศรีสะเกษ-กันทรลักษ์ ตำบลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยเป็น 1 ในจำนวนเทศบาลตำบล 23 แห่ง ในปัจจุบันของจังหวัดศรีสะเกษ เขตเทศบาลตั้งอยู่ในบริเวณตอนกลางของจังหวัดศรีสะเกษ ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้โดยทางรถยนต์ประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง และการสื่อสารของอำเภอพยุห์

เทศบาลตำบลพยุห์
ถนนสายหลักเข้าสู่เขตเทศบาลตำบลพยุห์
ถนนสายหลักเข้าสู่เขตเทศบาลตำบลพยุห์
ตราอย่างเป็นทางการของเทศบาลตำบลพยุห์
ตรา
ประเทศ ไทย
จังหวัดศรีสะเกษ
อำเภอพยุห์
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีนายธนาวัฒน์ อภัยศิลา
พื้นที่
 • ทั้งหมด6.39 ตร.กม. (2.47 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2565)[1]
 • ทั้งหมด3,918 คน
 • ความหนาแน่น636.00 คน/ตร.กม. (1,647.2 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.05332001
ที่อยู่
สำนักงาน
สำนักงานเทศบาลตำบลพยุห์ ตั้งอยู่เลขที่ 99/9 หมู่ที่ 8 ถนนศรีสะเกษ-กันทรลักษ์ ตำบลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ 33230
โทรศัพท์045960377
โทรสาร-
เว็บไซต์www.phayu.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ประวัติ แก้

เทศบาลตำบลพยุห์ เดิมมีฐานะเป็น"สุขาภิบาลพยุห์" ในเขตตำบลพยุห์ จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งตำบลพยุห์ ยังเป็นท้องที่ในการปกครองของอำเภอเมืองศรีสะเกษ จนกระทั่งตำบลพยุห์และตำบลใกล้เคียงได้รับการจัดตั้งเป็น"กิ่งอำเภอพยุห์" เมื่อ พ.ศ. 2537 แล้วยกฐานะขึ้นเป็น"อำเภอพยุห์" ใน พ.ศ. 2540[3] สุขาภิบาลพยุห์ จึงได้มาอยู่ในพื้นที่กิ่งอำเภอพยุห์และอำเภอพยุห์ แล้วได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบลพยุห์ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา [4]

ภูมิศาสตร์ แก้

ลักษณะภูมิประเทศของเทศบาลตำบลพยุห์ โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงมีป่าโปร่งสลับกับทุ่งนาพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น ดินปนทราย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินน้อยและกักเก็บน้ำไว้บนผิวดินไว้ไม่ได้นานพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำการเกษตรโดยเฉพาะทำนามีหนองน้ำที่สำคัญ ดังนี้

  • หมู่ที่ 1 ได้แก่ หนองยาว, หนองสระ, หนองพยุห์
  • หมู่ที่ 3 ได้แก่ หนองคู, หนองเจก
  • หมู่ที่ 8 ได้แก่ หนองประดู่
  • หมู่ที่ 13 ได้แก่ หนองปู่ตา

อาณาเขต แก้

ครอบคลุมบางส่วนของตำบลพยุห์ อำเภอพยุห์ โดยมีอาณาเขตในทิศทางต่างๆ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลพยุห์ และเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตำแย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลพยุห์ และเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตำแย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตำแย และเขตองค์การบริหารตำบลพยุห์
  • ทิศตะวันตกติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลพยุห์

การปกครอง แก้

 
ภาพร่างแบบก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลตำบลพยุห์หลังใหม่
  • ฝ่ายบริหาร ได้แก่ คณะเทศมนตรี ประกอบด้วยนายกเทศมนตรี 1 คน (ปัจจุบันคือนายธนาวัฒน์ อภัยศิลา), รองนายกเทศมนตรี 2 คน, ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี 1 คน และเลขานุการนายกเทศมนตรี 1 คน
  • ฝ่ายนิติบัญญัติ (ควบคุมฝ่ายบริหาร) ได้แก่ สภาเทศบาล และควบคุมฝ่ายบริหาร ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 12 คน ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีประธานสภา 1 คน, รองประธานสภา 1 คน
  • การปฏิบัติราชการ มีปลัดเทศบาล เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและพนักงานจ้างเทศบาล มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย ประกอบด้วยส่วนการบริหารคือ สำนักงานปลัดเทศบาล กองการศึกษา กองคลัง กองช่าง และกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม

เขตการปกครอง แก้

เขตการปกครองภายในพื้นที่เทศบาลแบ่งออกเป็น 5 หมู่บ้าน ได้แก่

  • หมู่ที่ 1 บ้านพยุห์
  • หมู่ที่ 3 บ้านคูเมือง
  • หมู่ที่ 6 บ้านโนนพยอม
  • หมู่ที่ 8 บ้านพยุห์
  • หมู่ที่ 13 บ้านพยุห์

ตราสัญลักษณ์ แก้

รูปแม่ทัพถือดาบสองเล่มไขว้กันในพื้นที่รูปวงกลมด้านใน ล้อมรอบด้วยกรอบด้านนอกรูปวงกลม ครึ่งบนของกรอบวงกลมนอกเขียนข้อความ "เทศบาลตำบลพยุห์" ครึ่งล่างของกรอบวงกลมนอกเขียนข้อความ "จังหวัดศรีสะเกษ"

แม่ทัพ หมายถึง แม่ทัพในกระบวนพยุห์หรือกระบวนทัพ เหล่าทัพ ซึ่งปรากฏข้อมูลในประวัติศาสตร์ว่าพื้นที่ตั้งชุมชนบ้านพยุห์หรือเขตเทศบาลตำบลพยุห์ในปัจจุบันนั้น เคยเป็นที่หยุดพักของขบวนทัพสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งยกทัพเสด็จไปปราบเขมร (พระอุทัยราชา) จึงเป็นที่มาของชื่อ "พยุห์"

ประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์ แก้

ในเขตเทศบาลประกอบด้วยประชากร จำนวนทั้งสิ้น 4,065 คน มีครัวเรือนทั้งสิ้น 1,178 ครัวเรือน [5] กลุ่มชาติพันธุ์หลักในเขตเทศบาลได้แก่กลุ่มชาติพันชาวลาวซึ่งพูดภาษาลาว [6]

โครงสร้างสังคม แก้

การศึกษา แก้

  • โรงเรียนประถมศึกษา 1 แห่ง
  • สถานศึกษานอกระบบ 1 แห่ง (ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอพยุห์)

สถาบันและองค์การทางศาสนา แก้

  • วัด 4 แห่ง
    • วัดพยุหมงคลรัตนาราม
    • วัดบ้านคูเมือง
    • วัดบ้านโนนพยอม
    • วัดป่าเวฬุวันธรรมิกราช

การแพทย์และสาธารณสุข แก้

  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพยุห์ 1 แห่ง

เศรษฐกิจ แก้

พื้นฐานหลักทางเศรษฐกิจ แก้

สภาพโดยทั่วไปทางเศรษฐกิจของประชากรในเขตเทศบาลตำบลพยุห์ มาจากภาคเกษตรกรรม การพาณิชยกรรม การบริการ อุตสาหกรรมขนาดเล็กและอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรับจ้าง การรับราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ

หน่วยธุรกิจในเขตเทศบาล แก้

  • ประเภทพาณิชยกรรม : ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า, ร้านขายและซ่อมอุปกรณ์เครื่องเหล็กเครื่องยนต์, ร้านขายและซ่อมอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ, ร้านอุปกรณ์ไฟฟ้าวิทยุ, ร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง, ร้านขายสินค้าปลีก-ส่ง, สถานีน้ำมัน/ปั้ม 3 แห่ง, ตลาดสด 1 แห่ง, จำหน่ายอาหารตา มพ.ร.บ.สาธารณสุข 23 แห่ง ,ร้านคาร์แคร์ 5 แห่ง , 7-11 2 แห่ง , โลตัส 1 แห่ง , บิ๊กซี 1 แห่ง , โฟร์เซเว่น 1 แห่ง
  • ประเภทอุตสาหกรรม : โรงซ่อมสร้างเครื่องยนต์, โรงสีข้าว
  • ประเภทบริการธุรกรรมทางการเงิน : ธนาคารพาณิชย์ทั้งของรัฐบาล 1 แห่ง (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)
  • ประเภทการปศุสัตว์ : ในอดีตประชาชนในเขตเทศบาลตำบลพยุห์เลี้ยงโค - กระบือ ไว้เพื่อใช้งาน โดยเฉพาะเพื่อใช้ไถนาในฤดูทำนา แต่ปัจจุบันกระแสเทคโนโลยีเครื่องจักรเครื่องยนต์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ชาวนาเริ่มใช้รถไถนาเดินตามแทนการใช้แรงงานสัตว์ การเลี้ยงโค-กระบือในปัจจุบันจึงเป็นการเลี้ยงเพื่อค้าขายเสริมรายได้ให้แก่ครอบครัว นอกจากการเลี้ยงโค-กระบือแล้วประชาชนยังมีการเลี้ยงสุกรและสัตว์ปีกเพื่อจำหน่ายด้วย

โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค แก้

การคมนาคมและขนส่ง แก้

 
ถนนสายหลักเข้าสู่เขตเทศบาลตำบลพยุห์
  • ทางรถยนต์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 221 (ศรีสะเกษ-กันทรลักษ์) เส้นทางดังกล่าวนี้เชื่อมระหว่างตัวจังหวัดศรีสะเกษกับเขตเทศบาลตำบลพยุห์ เป็นระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร รถโดยสารที่ให้บริการในเส้นทางดังกล่าวผ่านเขตเทศบาลตำบลพยุห์ได้แก่ สายศรีสะเกษ-พยุห์, สายศรีสะเกษ-กันทรลักษ์, และ สายศรีสะเกษ-ขุนหาญ

ระบบโทรคมนาคมและการสื่อสาร แก้

  • โทรศัพท์ในเขตเทศบาลตำบลพยุห์ มีชุมสายโทรศัพท์ 1 ชุมสาย
  • ที่ทำการไปรษณีย์ 1 แห่ง (ที่ทำการไปรษณีย์พยุห์)

พลังงานไฟฟ้า แก้

สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอพยุห์ รับผิดชอบในด้านการให้บริการประชาชนที่อยู่ในเขตเทศบาลทั้ง 5 หมู่บ้าน จำนวน 1,440 ครัวเรือน มีไฟฟ้าสาธารณะไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอและครอบคลุมทั้งพื้นที่เขตเทศบาล

การประปาและแหล่งน้ำธรรมชาติ แก้

เทศบาลตำบลพยุห์เป็นหน่วยงานเจ้าของกิจการประปาที่ให้บริการน้ำประปาแก่ประชาชนในเขตเทศบาล โดยได้รับการโอนภารกิจจากกรมโยธาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2545

  • ครัวเรือนในเขตเทศบาลที่ใช้บริการน้ำประปาในปี พ.ศ. 2554 จำนวน 762 ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2553 จำนวน 52 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 6.83
  • ปริมาณน้ำประปาที่ผลิตได้ 590 ลูกบาศก์เมตร/วัน ปริมาณน้ำประปาที่มีการใช้เพิ่มจากเดิม 60 ลูกบาศก์เมตร/วัน เป็น 650 ลูกบาศก์เมตร/วัน
  • แหล่งน้ำดิบเพื่อใช้ผลิตน้ำประปา 1 แหล่ง คือแหล่งน้ำห้วยทา ซึ่งอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตำแย

นอกจากนี้ในเขตเทศบาลยังมีประปาหมู่บ้านซึ่งดำเนินการโดยกรรมการประปาหมู่บ้านโนนพะยอม หมู่ที่6ซึ่งผลิตน้ำประปาได้ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตร/วัน มีปริมาณการการใช้น้ำ 50 ล.บ.เมตร/วัน โดยการใช้แหล่งน้ำดิบจากใต้ดินสูบขึ้นมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน

อ้างอิง แก้

  1. ข้อมูลสรุปเทศบาลตำบลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 รวบรวมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าถึงออนไลน์ทาง http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt/apt.jsp
  2. ข้อมูลสรุปเทศบาลตำบลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 รวบรวมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าถึงออนไลน์ทาง http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt/apt.jsp เก็บถาวร 2011-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. อำเภอพยุห์.ประวัติอำเภอพยุห์.จัดทำโดยอำเภอพยุห์, 2550.
  4. จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9ก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 โดยมีผลใช้บังคับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2542
  5. ข้อมูลสรุปเทศบาลตำบลพยุห์ อำเภอพยุห์ จังหวัดศรีสะเกษ ณ วันที่ 30 มีนาคม 2556 รวบรวมโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เข้าถึงออนไลน์ทาง http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt/apt.jsp เก็บถาวร 2011-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. กรมศิลปากร,วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ, หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ. (ปรุงศรี วัลลิโภดม : บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2544.
  • กรมศิลปากร,วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ, หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ. (ปรุงศรี วัลลิโภดม : บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2544.
  • เทศบาลตำบลพยุห์.สรุปข้อมูลการปฏิบัติงาน ปีงบประมาณ 2553.จัดทำโดยเทศบาลตำบลพยุห์

แหล่งข้อมูลอื่น แก้