เตงต๋ง (เสียชีวิต ปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 264[a]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เติ้ง จง (จีน: 鄧忠; พินอิน: Dèng Zhōng) เป็นนายทหารของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เตงต๋งเป็นบุตรชายของเตงงายขุยพลของวุยก๊กที่มีชื่อเสียงอย่างมากจากบทบาทสำคัญในการพิชิตจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กในปี ค.ศ. 263 เตงต๋งยังได้ติดตามบิดาในการพิชิตจ๊กก๊กด้วย

เตงต๋ง (เติ้ง จง)
鄧忠
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
เสียชีวิตมีนาคม ค.ศ. 264[1][2]
นครเหมียนจู๋ มณฑลเสฉวน
บุพการี
ญาติพี่ชายหรือน้องชายอย่างน้อย 1 คน
อาชีพนายทหาร
บรรดาศักดิ์ฮุ่ยถางถิงโหว (惠唐亭侯)
รูปเตงต๋งจากเกม โรแมนซ์ออฟเดอะทรีคิงดัมส์ XI ของค่ายเกมโคเอ

ประวัติ

แก้

เตงต๋งเป็นชาวอำเภอจี๋หยาง (棘陽縣 จี๋หยางเซี่ยน) เมืองงีหยง (義陽郡 อี้หยางจฺวิ้น) ซึ่งอยู่บริเวณอำเภอซินเหย่ มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน[3] เตงต๋งเป็นบุตรชายคนหนึ่งของเตงงายขุนพลของวุยก๊ก เตงต๋งยังมีพี่ชายหรือน้องชายอีกอย่างน้อย 1 คน

เตงงายบิดาของเตงต๋งเข้าร่วมในการรบหลายครั้ง รวมถึงการรบต้านการบุกของเกียงอุยขุนพลของจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กหลายครั้ง มีความดีความชอบเป็นอย่างมาก ดังนั้นในปี ค.ศ. 256 ราชสำนักวุยก๊กจึงแต่งตั้งให้เตงงายมีบรรดาศักดิ์เป็นเติ้งโหว (鄧侯) และตั้งให้เตงต๋งบุตรชายมีบรรดาศักดิ์เป็นฮุ่ยถางถิงโหว (惠唐亭侯)[4]

การพิชิตจ๊กก๊กของวุยก๊ก

แก้

ในปี ค.ศ. 263 ราชสำนักวุยก๊กมอบหมายให้เตงงายยกทัพบุกจ๊กก๊ก เตงต๋งติดตามเตงงายไปร่วมรบด้วย ต่อมาเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กและจงโฮยขุนพลวุยก๊กตั้งรบกันที่เกียมโก๊ะ (劒閣 เจี้ยนเก๋อ) ทั้งสองฝ่ายอยู่ในภาวะที่ยังเอาชนะกันไม่ได้ ในช่วงเวลานั้นเดียวกันนั้น เตงงายยกพลผ่านทางลัดที่อิมเป๋ง (陰平 อินผิง; ทางตะวันตกของอำเภอเหวิน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ไปถึงอิวกั๋ง (江油 เจียงโหยว) และกำลังมุ่งหน้าไปเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) นครหลวงของจ๊กก๊ก เตงงายปะทะเข้ากับทัพของจูกัดเจี๋ยมขุนพลจ๊กก๊กที่กิมก๊ก (綿竹 เหมียนจู๋) เตงงายสั่งให้เตงต๋งตีข้าศึกจากด้านขวา และให้สุเมา (師纂 ชือ จฺว่าน) ตีข้าศึกจากด้านซ้าย ทั้งเตงต๋งและสุเมาถูกจูกัดเจี๋ยมตีจนล่าถอย ทั้งสองบอกกับเตงงายว่า "ไม่อาจเอาชนะข้าศึกได้" เตงงายตอบด้วยความโกรธว่า "ศึกนี้จะกำหนดว่าเราจะอยู่หรือตาย ที่พวกเจ้าพูดว่าไม่อาจเอาชนะข้าศึกนั้นหมายความว่าอย่างไร" เตงงายคาดโทษประหารชีวิตกับเตงต๋งและสุเมาไว้ แล้วสั่งให้ทั้งคู่ออกรบอีกครั้งเพื่อทำความชอบหักลบกับความผิดพลาด ผลปรากฏว่าเตงต๋งและสุเมาตีทัพจ๊กก๊กแตกพ่าย สังหารจูกัดเจี๋ยมตลอดจนถึงจูกัดสง, เตียวจุ๋น (張遵 จาง จุน), หฺวาง ฉง (黃崇), หลี่ ฉิว (李球) และคนอื่น ๆ[5] ทัพวุยก๊กยึดได้กิมก๊ก (綿竹 เหมียนจู๋) และมุ่งเข้าสู่เซงโต๋ในทันที เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กยอมจำนนต่อเตงงาย เตงงายจึงพิชิตจ๊กก๊กได้สำเร็จ

ภายหลังการพิชิตจ๊กก๊ก จงโฮย, เฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย), สุเมา และคนอื่น ๆ ร่วมกันลอบรายงานต่อสุมาเจียวว่าเตงงายมีใจกำเริบจากความสำเร็จในการพิชิตจ๊กก๊กและต้องการจะก่อกบฏ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 264[6] ราชสำนักวุยก๊กออกพระราชโองการสั่งให้จับกุมเตงงายและเตงต๋ง แล้วจับใส่รถนักโทษคุมตัวกลับมาลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) นครหลวงของวุยก๊ก[7]

ผลสืบเนื่องจากการก่อกบฏของจงโฮย

แก้

ในปี ค.ศ. 264 จงโฮยและเกียงอุยก่อกบฏต่อสุมาเจียวแต่ไม่สำเร็จเพราะนายทหารใต้บังคับบัญชาก่อการกำเริบต่อต้านจงโฮย ตัวจงโฮยและเกียงอุยถูกสังหาร ผู้ใต้บังคับบัญชาของเตงงายคิดการจะยกไล่ตามขบวนคุ้มกันเตงงายเพื่อจะปล่อยตัวเตงงายและเตงต๋งพ่อลูก แต่อุยก๋วน (衛瓘 เว่ย์ กว้าน) ขุนพลวุยก๊กส่งเตนซก (田續 เถียน ซฺวี่) และคนอื่น ๆ ไปโจมตีเตงงายที่กำลังอยู่ระหว่างถูกคุมตัวไป เตนซกและคนอื่น ๆ ยกกำลังทหารตามมาทันทางด้านตะวันตกของกิมก๊ก แล้วจัดการสังหารเตงงาย, เตงต๋ง, สุเมา และคนอื่น ๆ[8]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. ทั้งสามก๊กจี่เล่มที่ 4 และจิ้นชู เล่มที่ 2 ระบุว่าเตงงายพร้อมด้วยเตงต๋งบุตรชายถูกจับกุมในเดือน 1 ของศักราชเสียนซี (咸熙) ปีที่ 1 เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ถึง 14 มีนาคม ค.ศ. 264 ในปฏิทินจูเลียน จือจื้อทงเจี้ยนเล่มที่ 78 ระบุว่าเตงงายและเตงต๋งถูกจับกุมในวันเหรินเฉิน (壬辰) ของเดือนนั้น แต่จริง ๆ แล้วไม่มีวันเหรินเฉินในเดือนนั้น วันเหรินเฉินถัดไปอยู่ในเดือน 2 และเทียบได้กับวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 264 ในปฏิทินจูเลียน ทุกแหล่งข้อมูลเห็นพ้องกันกันว่าเตงงายและเตงต๋งเสียชีวิตหลังจงโฮยผู้เสียชีวิตในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 264

อ้างอิง

แก้
  1. de Crespigny (2007), p. 109.
  2. (春,正月,壬辰,詔以檻車徵鄧艾。 ...) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 78. หมายเหตุ: ไม่มีวัน เหรินเฉิน (壬辰) ในเดือนนั้น
  3. (鄧艾字士載,義陽棘陽人也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  4. (甘露元年詔曰:「逆賊姜維連年狡黠,民夷騷動,西土不寧。艾籌畫有方,忠勇奮發,斬將十數,馘首千計;國威震於巴、蜀,武聲揚於江、岷。今以艾為鎮西將軍、都督隴右諸軍事,進封鄧侯。分五百戶封子忠為亭侯。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  5. (蜀衛將軍諸葛瞻自涪還綿竹,列陳待艾。艾遣子惠唐亭侯忠等出其右,司馬師纂等出其左。忠、纂戰不利,並退還,曰:「賊未可擊。」艾怒曰:「存亡之分,在此一舉,何不可之有?」乃叱忠、纂等,將斬之。忠、纂馳還更戰,大破之,斬瞻及尚書張遵等首,進軍到雒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  6. (春,正月,壬辰,詔以檻車徵鄧艾。 ...) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 78. หมายเหตุ: ไม่มีวันเหรินเฉิน (壬辰) ในเดือนนั้น
  7. (鍾會、胡烈、師纂等皆白艾所作悖逆,變釁以結。詔書檻車徵艾。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
  8. (師纂亦與艾俱死。纂性急少恩,死之日體無完皮。) อรรถาธิบายจากชือ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.

บรรณานุกรม

แก้
  • ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
  • เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
  • de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.