เซี่ยตู (จีน: 下都; พินอิน: Xià dōu) เป็นหนึ่งในเมืองหลักของรัฐเยียน ระหว่างยุครณรัฐของจีนโบราณ อาจเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่ 400 ถึง 300 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีประชากรสูงสุดประมาณ 300,000 คน[1] เยียนจ้าวหวาง (燕昭王) เจ้าผู้ครองรัฐเยียน (ประมาณปี 311–279 ก่อนคริสต์ศักราช) ได้ย้ายเมืองหลวงของรัฐเยียนไปยังเมืองจี้ () (ปัจจุบันคือปักกิ่ง) และก่อตั้งเซี่ยตูเป็นเมืองหลวงรองของรัฐ[2][3]

เซี่ยตู
下都
ภาพแผ่นกระเบื้องสมัยรัฐเยียน
แผ่นกระเบื้องสมัยรัฐเยียน
แผนที่ที่ตั้งของเซี่ยตูในประเทศจีน
แผนที่ที่ตั้งของเซี่ยตูในประเทศจีน
ที่ตั้งของเซี่ยตู
แผนที่ที่ตั้งของเซี่ยตูในประเทศจีน
แผนที่ที่ตั้งของเซี่ยตูในประเทศจีน
เซี่ยตู (มณฑลเหอเป่ย์)
ที่ตั้งประเทศจีน
ภูมิภาคมณฑลเหอเป่ย์
พิกัด39°37′00.84″N 116°03′21.6″E / 39.6169000°N 116.056000°E / 39.6169000; 116.056000
พื้นที่32 ตร.กม.
ความเป็นมา
สมัยประมาณ 697 ก่อน ค.ศ. – 226 ก่อน ค.ศ.
วัฒนธรรมเยียน
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ค้นพบค.ศ. 1929

ราวปี พ.ศ. 2472[4] กลุ่มนักโบราณคดีชาวจีนภายใต้การนำของหม่าเหิง (馬衡) นักโบราณคดีที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ค้นพบซากเมืองโบราณแห่งนี้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ห่าง 7 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเขตเทศมณฑลอี้ (易县), นครเป่าติ้ง ตอนกลางของมณฑลเหอเป่ย์[5] ซึ่งห่าง 100 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงใต้จากใจกลางกรุงปักกิ่ง[6] การขุดค้นเต็มรูปแบบดำเนินการโดยทีมวิจัยด้านวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2504[5] ซากที่ขุดพบเผยให้เห็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างในพื้นที่สี่เหลี่ยมสองกลุ่มที่มีอายุย้อนไปถึงสองช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันคือ กลุ่มหนึ่งจากยุคชุนชิว และอีกกลุ่มจากยุครณรัฐ[7]

เมืองถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนตะวันออกและตะวันตก โดยคั่นด้วยกำแพง[5][8]

สิ่งก่อสร้างกลุ่มแรกทางทิศตะวันออกประกอบด้วยกำแพงและลำคลองที่ไหลไปทางเหนือและใต้ผ่านใจกลางเมืองไปสู่แม่น้ำอี้ ขนาดของเมืองครอบคลุมพื้นที่ 32 ตารางกิโลเมตร ล้อมรอบด้วยคูเมืองและกำแพงดิน ฐานกำแพงเมืองกว้างที่สุด 40 เมตร ส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองเก่าที่มีความสูงถึง 6.8 เมตร ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ เมืองเซี่ยตูมีห้าเขตประกอบด้วยพระราชวัง, โรงปฏิบัติงาน, ย่านที่อยู่อาศัย, สุสาน และแม่น้ำ[5] การขุดค้นได้พบโครงสร้างอันใหญ่โตประกอบด้วยอาคารไม้ที่มีหลังคาเซรามิก, ร้านงานฝีมือ, โรงหล่อเพื่อผลิตสัมฤทธิ์และเหล็ก และโรงกษาปณ์เพื่อผลิตเหรียญสัมฤทธิ์, โรงปฏิบัติงานผลิตวัสดุเซรามิกและอาวุธ[7]

นอกจากนี้ยังพบโครงสร้างสำหรับพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งหลุมที่ใช้สำหรับบูชายัญสัตว์ พบสุสานที่สำคัญในพื้นที่ตอนเหนือของแหล่งขุดค้น ประกอบด้วยสุสานขนาดใหญ่ 13 แห่งที่ตกแต่งด้วยแจกันเซรามิกและของประดับตกแต่งต่าง ๆ พบอาวุธจำนวนมากอยู่ในสุสานบางแห่ง[7] วังและสุสานหลวงก็ตั้งอยู่ในเมืองส่วนทิศตะวันออกเช่นกัน มีการค้นพบสุสานหลวงสองแห่งซึ่งมีการฝังรถศึกและม้า[9] มีการค้นพบที่สำคัญในปี พ.ศ. 2508 คือพบหลุมศพขนาดใหญ่ซึ่งมีอายุในช่วงต้นทศวรรษของปี 200 ก่อนคริสตกาล ภายในกำแพงเมืองเซี่ยตู หลุมศพประกอบด้วยร่างทหารของรัฐเยียนอย่างน้อย 22 นายพร้อมอาวุธ หมวก และอุปกรณ์[4]

เมืองถูกสร้างขึ้นในเทือกเขาไท่หาง ขนาบข้างด้วยแม่น้ำเป่ย์อี้ทางทิศเหนือและแม่น้ำจงอี้ทางทิศใต้ ภูมิประเทศที่ทุรกันดารทำให้ง่ายต่อการป้องกันจากการถูกโจมตี เมืองมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนอย่างรอบคอบ โดยพิจารณาจากตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ซึ่งได้รับการปกป้องสามด้าน และเปิดโล่งไปทางทิศใต้สู่ที่ราบภาคกลางของจีน[8]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. George Modelski, World Cities: –3000 to 2000, Washington DC: FAROS 2000, 2003. ISBN 0-9676230-1-4.
  2. "Chinese History - The Feudal State of Yan 燕". ChinaKnowledge.de (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2016.
  3. "Site of the Second Capital of State of Yan" (ภาษาอังกฤษ). Hebei Government. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2016.
  4. 4.0 4.1 Wagner, Donald B. (2012). "4.10. A mass grave of fallen soldiers of the state of Yan". Iron and Steel in Ancient China (ภาษาอังกฤษ). BRILL. pp. 176–182. ISBN 978-9004096325.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "Site of Yan Xiadu" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2018.
  6. "Ancient Yan state city of Xiadu". Wikimapia (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2016.
  7. 7.0 7.1 7.2 Roberto Ciarla (1998). Atlante di Archeologia (ภาษาอิตาลี). Torino: Utet. p. 518. ISBN 978-8802050218.
  8. 8.0 8.1 Xiadu. Il mondo dell'archeologia (ภาษาอิตาลี). Istituto dell'Enciclopedia Italiana. 2002–2005. OCLC 492851086. สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2018.
  9. 西周燕都遗址博物馆 [Western Zhou Dynasty Yandu Site Museum] (ภาษาจีน). 北京旅游局. 23 มิถุนายน 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 สิงหาคม 2008.

บรรณานุกรม แก้

  • Kwang-chih Chang (1986). The Archaeology of Ancient China (ภาษาอังกฤษ) (4 ed.). New Haven: Yale University Press. ISBN 978-0300037821.
  • Kwang-chih Chang (1976). Early Chinese Civilization: Anthropological Perspectives (ภาษาอังกฤษ). Cambridge MA: Harvard University Press. ISBN 978-0674219991.
  • Zhong Yuanzhao; Chen Yangzheng; และคณะ (1986). History and Development of Ancient Chinese Architecture. 中国科学院自然科学史研究所 (ภาษาอังกฤษ). Beijing: Science Press. ASIN B0000CQJGQ. S2CID 127848598.
  • 杨宽 (2003). 《中国古代都城制度史研究》 (ภาษาจีน). 上海: 上海人民出版社. ISBN 7-208-04003-6.