เจ้าจันทร์คำ บุรีรัตน์

คุณหญิงบุรีรัตน์ หรือ เจ้าจันทร์คำ บุรีรัตน์ (สกุลเดิม:วงศ์เมืองแก่น) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านการส่งเสริมเมืองแพร่ให้เจริญก้าวหน้าหลายอย่างนำความเจริญทางเศรษฐกิจมาสู่เมืองแพร่เป็นอันมาก[1] และเป็นชายาในเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยหนู มหายศปัญญา) เจ้าบุรีรัตน์นครแพร่

เจ้าจันทร์คำ บุรีรัตน์

เจ้าจันทร์คำ บุรีรัตน์
ประสูติพ.ศ. 2402 นครแพร่
อนิจกรรมพ.ศ. 2481
พระสวามีพระยาบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยหนู มหายศปัญญา)
ราชวงศ์แสนซ้าย
พระบิดาพระเมืองแก่น (เจ้าหนานขัติ วงศ์เมืองแก่น)
พระมารดาแม่เจ้าพิมพา วงศ์เมืองแก่น

ประวัติ

แก้

คุณหญิงเจ้าจันทร์คำ บุรีรัตน์ (สกุลเดิม:วงศ์เมืองแก่น) เกิดเมื่อราว พ.ศ. 2402 ณ บ้านประตูชัย ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นธิดาคนที่ 3 ของพระเมืองแก่น (เจ้าหนานขัติ วงศ์เมืองแก่น) พระเมืองแก่นนครแพร่ และแม่เจ้าพิมพา วงศ์เมืองแก่น มีเจ้าพี่น้อง 11 คน ได้แก่

  • เจ้าฟองแก้ว วงศ์เมืองแก่น สมรสครั้งแรกกับเจ้าอุปราช (น้อยเสาร์ วราราช) ครั้งที่ 2 กับเจ้าหนานหล้า คราพันธุ์
  • เจ้าบุ มหายศปัญญา สมรสกับเจ้าน้อยแดง มหายศปัญญา (โอรสเจ้าบุรีรัตน์ (น้อยหนู มหายศปัญญา) กับหม่อมสา )
  • เจ้าจันทร์คำ บุรีรัตน์
  • เจ้าแสงคำ วงศ์เมืองแก่น สมรสครั้งแรกกับเจ้าน้อยกันทะวัง ศรีจันทร์แดง ครั้งที่ 2 กับเจ้าน้อนปั๋น แก่นมณี
  • เจ้าศรีนวล วราราช สมรสกับเจ้าหนานปั๋น วราราช (โอรสเจ้าอุปราช (น้อยเสาร์ วราราช) )
  • เจ้าน้อยทาน ทุ่งมีผล สมรสกับนางกัญญา ทุ่งมีผล
  • เจ้าหนานเขียว วงศ์เมืองแก่น สมรสกับนางเปี้ย วงศ์เมืองแก่น
  • เจ้าน้อยทอง ทุ่งมีผล สมรสครั้งแรกกับนางคำแปง ครั้งที่ 2 กับเจ้ากุย ทุ่งมีผล
  • เจ้าน้อยสิงห์ วงศ์เมืองแก่น สมรสกับนางหน่อแก้ว แกล้วกล้า
  • เจ้าไล คันธะวิชัย สมรสกับเจ้าน้อยโทน คันธะวิชัย
  • เจ้าน้อยปั๋น วงศ์เมืองแก่น สมรสกับเจ้าคำปัน วงศ์เมืองแก่น

เจ้าจันทร์คำ สมรสกับเจ้าน้อยหนู มหายศปัญญา (โอรสเจ้าบุรีรัตน์ (หนานปัญญา) กับเจ้าเฮือนแก้ว มหายศปัญญา) ซึ่งต่อมาเจ้าน้อยหนูได้เป็นพระยาบุรีรัตน์ เจ้าจันทร์จึงเป็นคุณหญิงบุรีรัตน์ตามบรรดาศักดิ์สามี แม้คุณหญิงเจ้าจันทร์คำจะไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียน แต่ท่านก็เป็นคนเก่ง มีสติปัญญา ทันเหตุการณ์ กล้า และเข้มแข็ง สามารถต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองชั้นสูงได้เป็นอย่างดี ในสังคมเมืองนครแพร่สมัยนั้นจึงไม่มีใครเด่นเทียบท่านได้ คุณหญิงเจ้าจันทร์คำไม่มีบุตรธิดากับพระยาบุรีรัตน์ ท่านจึงนำลูกหลานทั้งของพระยาบุรีรัตน์ที่เกิดจากภรรยาเดิมและภรรยาน้อย กับลูกหลานฝ่ายคุณหญิงเองมาเลี้ยงดู โดยให้ความรัก ความสุข ความสบายทั่วหน้ากัน

คุณหญิงเจ้าจันทร์คำ บุรีรัตน์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. 2481

การทำงาน

แก้

กิจการไม้สัก

แก้

หลังจากพระยาบุรีรัตน์ถึงแก่อนิจกรรม คุณหญิงเจ้าจันทร์คำได้รับสัมปทานการทำไม้สัก ที่ห้วยเปี้ย ห้วยขมิ้น ห้วยผาคำ ในนครแพร่ นานราว 40 ปี โดยได้จัดสรรปันส่วนให้ลูกหลานทุกคน รับผิดชอบดำเนินการตามกำลังและฐานะของแต่ละคน ในขณะที่คุณหญิงเป็นผู้ลงทุน จัดหาพาหนะและอาหารเลี้ยงคนงานให้

คุณหญิงเจ้าจันทร์คำ มีบทบาทในด้านการส่งเสริมเมืองแพร่ให้เจริญก้าวหน้าหลายอย่าง เช่น ด้านเศรษฐกิจ ได้สร้างตึก/ห้องแถวไม้ให้เช่าทำการค้าทั้งบริเวณประตูชัย อำเภอเมืองและที่อำเภอเด่นชัย สร้างตลาดสด และโรงหนัง ขึ้นที่บริเวณประตูชัย ซึ่งนับเป็นตลาดสดและโรงหนังแห่งแรกของเมืองแพร่ (ภายหลังตลาดสดแห่งนี้ได้เปลี่ยนเป็นของเทศบาลเมืองแพร่ เทศบาลได้รื้อสร้างใหม่และขยายบริเวณให้กว้างขวางกว่าเดิม) ทำให้ย่านประตูชัยกลายเป็นย่านการค้าสำคัญมาจนปัจจุบัน และนำความเจริญทางเศรษฐกิจมาสู่เมืองแพร่เป็นอันมาก

กิจการสาธารณะ

แก้
  • ด้านการศึกษา คุณหญิงเจ้าจันทร์คำได้บริจาคที่ดินส่วนหนึ่งให้แก่โรงเรียนนารีรัตน์จังหวัดแพร่ (ปัจจุบันคือที่ตั้งหอประชุมและสนามบาสเก็ตบอลของโรงเรียน) และบริจาคเงินช่วยสร้างอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียน
  • ด้านการศาสนา คุณหญิงเจ้าจันทร์คำเป็นโยมอุปัฏฐากวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร และเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ในการบูรณะและก่อสร้างวิหารหลังใหม่จนเกือบเสร็จสมบูรณ์ เมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2472

คุณหญิงเจ้าจันทร์คำเป็นผู้ยึดมั่นในพุทธศาสนา ทำบุญตักบาตรทุกเช้ามิได้ขาด และในช่วงงานประเพณีขึ้นพระธาตุช่อแฮในเดือน 6 เหนือ ซึ่งเป็นประเพณียิ่งใหญ่ของชาวแพร่ คุณหญิงเจ้าจันทร์คำพร้อมด้วยลูกหลานบริวาร จะพากันไปทำอาหารเลี้ยงพระในตอนเช้า แล้วฟังเทศน์ ฟังสวดในเวลากลางคืน

อ้างอิง

แก้
  1. สตรีศรีล้านนา.สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.www.sri.cmu.ac.th