เขื่อนลำตะคอง เป็นเขื่อนดิน (earthfill dam) สร้างขึ้นบริเวณช่องเขาเขื่อนลั่นกับช่องเขาถ่านเสียด กั้นขวางลำตะคอง ตั้งอยู่ในตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนสูง 40.3 เมตร สันเขื่อนยาว 527 เมตร กว้าง 10 เมตร อ่างเขื่อนเก็บน้ำเหนือเขื่อนมีความยาวตลอดลำน้ำ 19 กิโลเมตร มีพื้นที่ 277,000 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร[1]

เขื่อนลำตะคอง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
ผู้ดำเนินการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
เขื่อนและทางน้ำล้น
ปิดกั้นลำตะคอง
ความสูง40.3 เมตร
ความยาว527 เมตร
ความกว้าง (ฐาน)256 เมตร
อ่างเก็บน้ำ
ปริมาตรกักเก็บน้ำ310 ล้านลูกบาศก์เมตร
รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นมิกาโด หมายเลข 952 จอดอยู่ในพิธีเปิดเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว, จังหวัดนครราชสีมา โดยพันเอก แสง จุละจาริตต์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คนที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2510

เขื่อนลำตะคองเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2512 สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2517 เริ่มมีการเสนอการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดสูบกลับเมื่อ พ.ศ. 2518[2] จนระหว่าง พ.ศ. 2532–2534 ได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) ให้ศึกษาความเป็นไปได้ โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ พ.ศ. 2534–2537 โครงการจึงได้รับอนุมัติก่อสร้าง

สิ่งก่อสร้างประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำตอนบนสร้างบนยอดเขาเขื่อนลั่น พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 0.4 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 212 ไร่ มีความจุของอ่าง 9.9 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างล่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเดิม มีความจุของอ่างประมาณ 290 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าใต้ดิน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ จำนวน 4 ชุด รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ อุโมงค์ส่งน้ำ 2 แนว เชื่อมระหว่างอ่างเก็บน้ำบนภูเขาและโรงไฟฟ้าใต้ดิน ยาวประมาณ 1,470 เมตร[3]

โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ อยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 350 เมตร มีขนาดกว้าง 23 เมตร ยาว 175 เมตร สูง 47 เมตร เพื่อเพิ่มระยะทางจากอ่างเก็บน้ำบนเขาถึงอาคารโรงไฟฟ้าให้น้ำที่ไหลลงมามีกำลังแรงขึ้น ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด 250 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตติดตั้ง 500 เมกะวัตต์ ต่อมาได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 เครื่อง รวมการผลิตทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง เป็นเชื้อเพลิงหลัก[4] และมีกังหันลมลำตะคอง จากข้อมูล พ.ศ. 2563 ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าจำนวน 14 ต้น ทอดยาวไปตลอดแนวเขายายเที่ยง[5]

อ้างอิง

แก้
  1. "เขื่อนลำตะคอง". ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-20. สืบค้นเมื่อ 2021-11-20.
  2. "Lam Takhong Dam". 2TourThailand.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 July 2011. สืบค้นเมื่อ 6 March 2011.
  3. "เปิดแฟ้ม "โรงไฟฟ้าลำตะคอง " อีกโครงการอื้อฉาวของ "กฟผ."".
  4. "โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา". การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย.
  5. ""ลำตะคอง"น่าเที่ยว ปั่นจักรยานชมทุ่งกังหันลม-รู้จักโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับใต้ดินแห่งเดียวในไทย". ผู้จัดการออนไลน์.