เขียดจิก
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Amphibia
อันดับ: Anura
วงศ์: Ranidae
วงศ์ย่อย: Raninae
สกุล: Hylarana
สปีชีส์: H.  erythraea
ชื่อทวินาม
Hylarana erythraea
(Schlegel, 1837)
ชื่อพ้อง
  • Hyla erythraea Schlegel, 1837
  • Rana erythraea (Schlegel, 1837)

เขียดจิก กบบัว เขียดเขียว หรือ เขียดบัว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hylarana erythraea) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก ชนิดหนึ่ง ในวงศ์กบนา (Ranidae)

มีลำตัวด้านหลังและด้านข้างลำตัวสีเขียว ขอบด้านล่างของด้านข้างลำตัวสีน้ำตาลเข้ม และมีจุดสีเข้มกระจายอยู่ที่ด้านข้างลำตัวกับบนหลังทางส่วนท้ายของลำตัว ขอบปากบนสีขาว ด้านท้องสีขาว แผ่นเยื่อแก้วหูสีน้ำตาล ขาหน้าและขาหลังสีน้ำตาลและมีแถบสีเข้มพาดตามความยาวของขา ขาหน้าเรียวและนิ้วตีนยาว ขาหลังเรียวยาวและนิ้วตีนยาว เมื่อพับขาหลังแนบกับลำตัวไปทางด้านหน้า ข้อตีนอยู่ในตำแหน่งช่องเปิดจมูก นิ้วตีนหน้าไม่มีแผ่นหนังระหว่างนิ้ว นิ้วตีนหลังมีแผ่นหนังเกือบเต็มความยาวนิ้ว

มีขนาดจากปลายปากถึงรูก้นประมาณ 70 มิลลิเมตร ลำตัวเรียว ผิวหนังลำตัวเรียบ มีแผ่นหนังหนา สีขาวหรือสีครีมขอบสีน้ำตาลเข้มค่อนข้างกว้างอยู่ที่ขอบด้านนอกลำตัว แผ่นหนังนี้เริ่มต้นจากด้านท้ายตาไปที่ส่วนต้นขาหลัง

ลูกอ๊อดมีขนาดตัวปานกลาง ลำตัวยาวและหัวแบน ด้านหลังสีเขียว ท้องและด้านข้างลำตัวสีน้ำตาลและมีลายร่างแหสีน้ำตาลเข็มที่ข้างตัว หางยาวและมีกล้ามเนื้อแข็งแรง แผ่นครีบหางใหญ่และมีลวดลายเป็นร่างแหสีน้ำตาลเข้ม ปากอยู่ด้านล่างแต่ค่อนข้างสูงขึ้นมาทางด้านหน้าของส่วนหัว ช่องปากเล็ก มีตุ่มฟัน ขอบของจะงอยปากบนและของจะงอยปากล่างมีรอยหยัก จะงอยปากล่างใหญ่กว่าจะงอยปากบน ลูกอ๊อดมีนิสัยการกินอาหารแบบผู้ล่าและมีพฤติกรรมล่าเหยื่อที่อยู่ในน้ำ

จัดได้ว่าเป็นสมาชิกในวงศ์นี้ที่มีขนาดเล็ก มักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีกอพืชน้ำขึ้นหนาแน่น เช่น บัว, จอกแหน, ผักตบ เป็นต้น หากินในเวลากลางคืน มีความว่องไวมาก พบกระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค[2]

ภาพนี้ถูกถ่ายโดยนายแพทย์วรกานต์ รุ่งประเสริฐ ในพื้นที่แหล่งน้ำใกล้ป่าพรุในจังหวัดนราธิวาส

เขียดจิก มีเสียงร้อง "จิ๊ก ๆๆๆๆๆ" ประกอบกับมักหลบซ่อนอยู่ตามกอบัว อันเป็นที่มาของชื่อ [3]

อ้างอิง

แก้
  1. "Hylarana erythraea". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.1. 2011. สืบค้นเมื่อ 30 August 2011.
  2. "เขียดจิก" (PDF).
  3. เขียด ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hylarana erythraea ที่วิกิสปีชีส์