เขาศูนย์ เป็นภูเขาที่อยู่ใน หมู่ที่ 9 ต.ไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากภูเขาหลวงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 15 กิโลเมตร ทิศเหนือตั้งอยู่ในเขตตำบลกระเปียด ทิศใต้ และตะวันออกตั้งอยู่ในเขตตำบลไม้เรียง ทิศตะวันตกตั้งอยู่ในเขตตำบลคลองเส

ภูมิประเทศของเขาศูนย์ เป็นพื้นที่ป่าที่มีการปลูกต้นยางพาราแทรกอยู่โดยทั่วไปจนถึงยอดเขา บางส่วนเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล ลักษณะพื้นที่เป็นแนวเขาสูงสลับกับร่องเขา ร่องน้ำทางทิศเหนือจะไหลสู่คลองชัยต่อกับแม่น้ำตาปี ร่องน้ำทางทิศตะวันตกของพื้นที่จะไหลสู่คลองขันต่อกับแม่น้ำตาปี ร่องน้ำทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของพื้นที่จะไหลลงสู่คลองเสต่อกับแม่น้ำตาปี เขาศูนย์มีเขาบริวารอีกสามลูก คือ เนินลูกกรอก ควนไฟไหม้ และเขาขวาง

ยอดเขาศูนย์ มีความสูง 510 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บนยอดเขาเป็นที่ตั้งของสถานีถ่ายทอดสัญญาณโทรคมนาคม มีการตัดถนนลาดยาง ขึ้นไปบนเขาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ระยะทาง 7 กิโลเมตร ในช่วงตอนเช้า หรือหลังฝนตกจะมีทะเลหมอกปกคลุมโดยรอบ ปัจจุบันเขาศูนย์ กลายเป็นแหล่งทองเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ หลังจากการปิดเหมืองไปเมื่อปี 2524 และมีทะเลหมอกแดนใต้ สามารถมองเห็นวิวและหมอกได้ 360 องศา และมีอากาศดีตลอดปี เขาศูนย์เป็นพื้นที่สีแดงในยุค คอมมิวนิสต์รุ่งเรือง และกลายเป็นชนวนทำให้มีการ แย่งชิงหลุ่มแร่และการฆ่ากันรายวัน จนได้รับว่า ดินแดน มิคสัญญี ในขณะนั้น

การประวัติทำแร่วุลแฟรมบนเขาศูนย์ แก้

มีการค้นพบแร่วุลแฟรมบนภูเขา [1][2] ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาหาแร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากการหาแร่บนผิวดินที่เรียกว่าลูกพลัดต่อมาพัฒนาเป็นการขุดลึกลงไปในชั้นหินเป็นอุโมงค์ไปตามสายแร่ เมื่อมีการขุดกันมากสาย แร่ที่พบก็อยู่ลึกลงไปทุกทีและสินแร่ที่ขุดได้มีปริมาณน้อยลง แต่เนื่องจากชื่อเสียงที่โด่งดังของเขาศูนย์ยามนั้นว่าเคยสร้างคนขุดให้รวยได้ภายในเวลารวดเร็ว ทำให้ผู้คนที่หวังจะแสวงโชคยังคงอพยพเข้ามา จนกระทั่ง พ.ศ. 2524 กองทัพภาคที่ 4 โดยพลโทจวน วรรณรัตน์ (ยศในขณะนั้น) ได้ออกคำสั่งปิดเขาศูนย์ ห้ามมีการขุดและซื้อขายแร่บนเขาอย่างเด็ดขาด โดยให้เหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ แต่ยังคงมีการดื้อแพ่งของผู้แสวงโชคส่วนหนึ่งที่ทำการต่อไปตามปกติ ดังนั้นในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2525 กองทัพภาคที่ 4 โดยพลโทหาญ ลีนานนท์ (ยศในขณะนั้น) ได้ออกคำสั่งรื้อถอนสิ่งก่อสร้างทั้งหมด และให้ขนย้ายสิ่งของ สัมภาระและคนทั้งหมด ลงจากเขาศูนย์ภายใน 24 ชั่วโมง มีการจัดบริการรถยนต์และรถไฟขบวนพิเศษอพยพย้ายผู้คนที่มาแสวงโชคกลับภูมิลำเนา ส่วนผู้ไม่มีที่ทำกินก็ให้อพยพไปที่นิคมสร้างตนเองสุคิริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาสพร้อมมอบที่ดินทำกินให้ ตามแนวนโยบาย 66/23 หรือ “ใต้ร่มเย็น” ทำให้การทำแร่บนเขาศูนย์ได้หยุดลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา

การขุดแร่ที่ผ่านมาทำให้เหลือสายแร่อยู่ในระดับที่ลึกมากกว่า 200 เมตร ประกอบกับแร่วุลแฟรมมีราคาที่ตกต่ำมาก แม้สถานการณ์ในพื้นที่จะสงบลงแล้วก็ตาม จึงไม่มีผู้สนใจจะขุดแร่ที่เขาศูนย์อีกต่อไป เพราะไม่คุ้มกับความเสี่ยงและการลงทุน ในที่สุดการขุดแร่วุลแฟรมบนเขาศูนย์ก็หยุดไปโดยปริยายจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันเขาศูนย์ ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาส โดยพัฒนาให้เป็นจุดชมวิว บนยอดเขาศูนย์ และเส้นทางเดินสำรวจ อุโมงค์เหมืองเก่า และพัฒนาเส้นทางให้สะดวกสะบายสำหรับนักท่องเที่ยว โดยมีถนนคอนกรีตตลอดเส้นทาง และ ระหว่าง กม.0-2 ก็ มีที่พักรีสอร์ทเกิดขึ้นหลายเจ้า และร้านกาแฟ ทำให้สะดวกในการเดินทางสู่ยอดเขาศูนย์

อ้างอิง แก้

8°30′N 99°27′E / 8.5°N 99.45°E / 8.5; 99.45

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-01. สืบค้นเมื่อ 2008-10-03.
  2. http://newsgroups.derkeiler.com/Archive/Soc/soc.culture.thai/2006-02/msg00927.html