เขาชนไก่
เขาชนไก่ เป็นเขาในหมู่ที่ 6 บ้านท่าหว้า ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีความสูง 265 เมตร เป็นเขาโดด มองเห็นชัดอยู่ทางด้านเหนือของเมืองกาญจนบุรี[1] บริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของค่ายฝึกเขาชนไก่ของกรมรักษาดินแดน
ชื่อ
แก้ชื่อ "เขาชนไก่" เชื่อว่าเป็นบ้านเดิมของขุนไกร พ่อของขุนแผน เป็นสถานที่ที่นางทองประศรี แม่ของขุนแผนพาขุนแผนหรือพลายแก้ว เมื่อครั้งยังเด็กมาหลบราชภัย เข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ "ดอนเขาชนไก่" บนยอดเขาชนไก่มีลานกว้าง มีหลักหินแสดงบริเวณอยู่ เชื่อกันว่าเป็นลานชนไก่ของขุนแผน หลังเข้ารับราชการขุนแผนได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรีหรือพระสุรินทฦๅชัย ชาวบ้านจึงได้สร้างศาล "เจ้าพ่อเขาชนไก่" ขึ้นมาสักการะ[2]
ชื่อ "เขาชนไก่" ปรากฏอยู่ในนิทานตาม่องล่าย ระบุว่าเป็นที่เกิดจากไก่ของตาเพชรเพื่อนตามองหล้าย ไปต่อสู้กันบริเวณดังกล่าว[3]
ประวัติศาสตร์
แก้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ระหว่างสงครามเก้าทัพซึ่งเป็นสงครามเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายระหว่างไทยกับพม่า พม่าได้ยกกองกำลังมาทั้งหมด 9 ทัพ ซึ่งหนึ่งในทัพนั้นเดินทางเข้ามาทางทุ่งลาดหญ้า เขาชนไก่นั้นถูกใช้เป็นที่ตั้งและดูการเคลื่อนไหวของพม่า ซึ่งในเวลาว่างนั้นทหารไทยก็เอาไก่มาชนกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ เขาชนไก่ บริเวณยอดเขาประดิษฐานศาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ในการรบที่ลาดหญ้าครั้งนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงให้ออกญามหาโยธาคุมทหารมอญ 3,000 คน เป็นกองหน้าไปตั้งสกัดข้าศึกที่ด่านกรามช้าง ส่วนทัพใหญ่ตั้งค่ายมั่นที่ทุ่งลาดหญ้าตรงช่องสะเดาใกล้กับเขาชนไก่ และยังทรงให้ตั้งค่ายอีกค่ายหนึ่งที่ปากแพรก (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณตัวเมืองกาญจนบุรี)[4] จึงถือได้ว่าบริเวณเขาชนไก่เป็นยุทธศาสตร์การรบที่สำคัญแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
แหล่งโบราณคดีเขาชนไก่
แก้บริเวณแหล่งโบราณคดีพบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือสมัยหินเก่าและหินกลางหรือวัฒนธรรมฮหว่าบิ่ญ และหลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะในครั้งสงคราม 9 ทัพ พ.ศ. 2328 จึงพบโบราณวัตถุหลายประเภทกระจายอยู่โดยทั่วไปและยังพบเจดีย์โบราณทรงระฆังคว่ำฐานเหลี่ยมแบบกรุงศรีอยุธยาตอนปลายอยู่บนยอดเขาชนไก่[5]
จากการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีดังนี้ เครื่องมือหินกะเทาะแบบสับตัด ทำจากหินกรวดแม่น้ำ เครื่องมือหินกะเทาะใช้คม 2 ด้านเป็นแบบเครื่องมือสำหรับขูด เครื่องมือหินกะเทาะแบบขวานสั้น เครื่องมือหินกะเทาะใช้ปลายสำหรับขุด นอกจากนั้นยังพบหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์เช่น โซ่คล้องช้างทำด้วยสำริด กล้องยาสูบสมัยอยุธยา ลูกปัดแก้ว และแหวนทองหัวพลอย เป็นต้น[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๒ (อักษร ก-ธ) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, ๒๕๕๙. (แก้ไขปรับปรุงข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓)
- ↑ ค่ายฝึกเขาชนไก่ "เขตทหารยินดีต้อนรับค่ะ"[ลิงก์เสีย]
- ↑ อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. "การเดินทางของตำนานตาม่องล่ายจากอ่าวไทยสู่ท้องถิ่นต่าง ๆ".
- ↑ อบต ลาดหญ้า
- ↑ "ยอดเขาชนไก่ ชมวิวแบบ 180 องศา สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์". ข่าวสด.
- ↑ กรมศิลปากร. "เขาชนไก่" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/