ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เกตโตในทวีปยุโรปภายใต้การยึดครองของนาซี ถูกจัดตั้งขึ้นโดยนาซีเยอรมนีเพื่อกักขังชาวยิว และบางครั้งอาจรวมชาวยิปซี เข้าไปในพื้นที่แออัดแน่นของนคร รวมแล้ว ตามบันทึกของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การล้างชาติโดยนาซีสหรัฐอเมริกา "พวกเยอรมันจัดตั้งเกตโตอย่างน้อย 1,000 แห่งเฉพาะในโปแลนด์และสหภาพโซเวียตส่วนที่เยอรมนียึดครองและผนวกไว้" ดังนั้น ตัวอย่างจึงตั้งใจเพียงเพื่อแสดงให้เห็นขอบเขตและสภาพความเป็นอยู่ของเกตโตทั่วยุโรปตะวันออก[1] แม้คำว่า "เกตโต" จะใช้โดยทั่วไปในงานประพันธ์เกี่ยวกับการล้างชาติโดยนาซี แต่พวกนาซีมักเรียกสถานกักกันเหล่านี้บ่อยครั้งว่า "ย่านชาวยิว" (Jewish Quarter)

ไม่นานหลังการรุกรานโปแลนด์ใน ค.ศ. 1939 นาซีเยอรมนีเริ่มต้นการเคลื่อนย้ายชาวยิวโปแลนด์ออกจากบ้านอย่างเป็นระบบ และส่งตัวเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนดให้ตามนครและเมืองใหญ่ของโปแลนด์ เกตโตแห่งแรกที่ปีโอเตอร์คูฟตริบูนัลสกีก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1939 และอีกหลายแห่งที่ก่อตั้งขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1940 และ 1941 เกตโตหลายแห่งมีการตั้งกำแพงกั้นหรือปิดล้อมด้วยรั้วลวดหนาม ในกรณีของเกตโตปิดผนึก ยิวคนใดที่หลบหนีจะถูกยิง วอร์ซอเกตโตเป็นเกตโตที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปภายใต้การยึดครองของนาซี โดยมีชาวยิว 400,000 คนอาศัยกันอยู่อย่างแออัดในพื้นที่ 3.4 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางนคร[2] ลอดซ์เกตโตเป็นเกตโตแห่งใหญ่รองลงมา โดยมีชาวยิวอาศัยอยู่ราว 160,000 คน[3]

ประเภทและสภาพความเป็นอยู่ แก้

สถานการณ์ในเกตโตนั้นโหดร้าย ในกรุงวอร์ซอ ประชากร 30% ถูกบังคับให้อาศัยอยู่ในพื้นที่ 2.4% ของนคร โดยมีความหนาแน่นถึง 7.2 คนต่อห้อง[2] พวกยิวไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกเกตโต ดังนั้นพวกเขาจึงต้องพึ่งการลักลอบและการปันส่วนอาหารที่พวกนาซีจัดให้ ในกรุงวอร์ซอ การปันส่วนนั้นอยู่ที่ 253 แคลอรีต่อชาวยิวหนึ่งคน เปรียบเทียบกับ 669 แคลอรีต่อชาวโปแลนด์หนึ่งคน และ 2,613 แคลอรีต่อชาวเยอรมันหนึ่งคน ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด อาหารที่ไม่เพียงพอและการสุขาภิบาลที่แทบไม่มี ทำให้ชาวยิวหลายแสนคนเสียชีวิตด้วยโรคระบาดหรือความหิวโหย[4]

เกตโตสามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภท เกตโตปิดหรือปิดผนึกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในโปแลนด์และสหภาพโซเวียตภายใต้การยึดครองของนาซี เกตโตเหล่านี้ถูกล้อมด้วยกำแพงอิฐ รั้วหรือรั้วลวดหนามซึ่งขึงไว้ระหว่างเสา ยิวไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นใด หากฝ่าฝืน ทางการเยอรมันประกาศว่าจะถูกประหารชีวิต สภาพความเป็นอยู่ในเกตโตปิดนั้นเลวร้ายที่สุด ย่านที่ยิวอยู่อาศัยนั้นแออัดและขาดสุขอนามัยอย่างยิ่ง การอดอยาก การขาดแคลนอาหารเป็นประจำ การขาดแคลนความอบอุ่นในฤดูหนาว และพนักงานเทศบาลที่ไม่เพียงพอนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคระบาดบ่อยครั้ง เช่น โรคบิดและไข้รากสาดใหญ่ จนนำไปสู่อัตราการตายที่สูง[5] เกตโตนาซีส่วนใหญ่เป็นประเภทนี้[1]

เกตโตเปิด ซึ่งไม่มีกำแพงหรือรั้วล้อม เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สองในโปแลนด์และสหภาพโซเวียตภายใต้การยึดครองของนาซี แต่ยังพบในทรานส์นิสเตรียของยูเครน ซึ่งถูกยึดครองและปกครองโดยทางการโรมาเนีย มีข้อจำกัดอย่างเคร่งครัดในการเข้าและออกจากเกตโตเหล่านี้[1]

เกตโตได้ถูกกำจัดหรือทำลายในช่วงปลายของการล้างชาติโดยนาซี เป็นเวลาระหว่างสองถึงหกสัปดาห์เท่านั้น ในสหภาพโซเวียตภายใต้การยึดครองของนาซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลิทัวเนีย และโซเวียตยูเครน เช่นเดียวกับในฮังการี เกตโตเหล่านี้ถูกปิดผนึกอย่างแน่นหนา ประชากรยิวที่ถูกคุมขังไว้ในนั้นรอแต่ถูกเนรเทศหรือถูกยิงโดยพวกเยอรมัน ซึ่งบ่อยครั้งด้วยความช่วยเหลือของกองกำลังฝ่ายสนับสนุน[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Types of Ghettos. United States Holocaust Memorial Museum, Washington, D.C.
  2. 2.0 2.1 Warsaw, United States Holocaust Memorial Museum
  3. Ghettos, United States Holocaust Memorial Museum
  4. Browning, Christopher R. (2004), The Origins of the Final Solution: The Evolution of Nazi Jewish Policy 1939-1942, Lincoln: University of Nebraska Press, ISBN 0803213271.
  5. Hershel Edelheit, Abraham J. Edelheit, A world in turmoil: an integrated chronology of the Holocaust, 1991