ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ
ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ (อังกฤษ: Hugh McCormick Smith, ชื่อย่อ: H.M. Smith) (21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2408 / ค.ศ. 1865 -28 กันยายน พ.ศ. 2484 / ค.ศ. 1941) นักชีววิทยา ชาวอเมริกัน อธิบดีสำนักงานประมง (the Bureau of Fisheries) แห่งสหรัฐอเมริกา
ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ | |
---|---|
เกิด | 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2408 วอชิงตัน ประเทศสหรัฐ |
เสียชีวิต | 28 กันยายน พ.ศ. 2484 (75 ปี) |
อาชีพ | นักสำรวจ |
ประวัติ
แก้ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ หรือ ดร.ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ เกิดที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) ได้จบการศึกษาปริญญาเอกแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกนิติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908)
เริ่มต้นทำงานที่ สำนักประมง สหรัฐอเมริกา (U. S. Fish Commission) ปี พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) ในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ 1897-1903 หัวหน้าห้องปฏิบัติการชีววิทยาทางทะเล (Marine Biological Laboratory ที่ Wood Hole, และโดยเป็นผู้กำกับดูแลงานทางด้านการศึกษาและสำรวจธรรมชาติในทางวิทยาศาสตร์ ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริกา
ระหว่างปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ถึงปี พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) ได้เดินทางพร้อมคณะนักสำรวจมาที่ฟิลิปปินส์ ด้วยเรือชื่อ USS Albatross ด้วยเป็นกรรมการสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก เพื่อสำรวจความหลากหลายของธรรมชาติในภูมิภาคแถบนี้
บทบาทในประเทศไทย
แก้ดร. สมิธ ได้เดินทางมาสู่ประเทศไทย เพื่อต้องการศึกษาปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่มีความสามารถพิเศษแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น ๆ นั่นคือ ปลาเสือพ่นน้ำ (Toxotes spp.) ซึ่งเป็นปลาพื้นบ้านของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในระยะเวลานั้น ทางราชการไทย ได้ดำริจัดตั้งหน่วยงานราชการขึ้นมากำกับดูแลงานทางด้านสัตว์น้ำขึ้นมาในปี พ.ศ. 2464 โดยใช้ชื่อว่า หน่วยเพาะพันธุ์ปลาหรือหน่วยงานบำรุงและรักษาสัตว์น้ำ ขึ้นตรงต่อกระทรวงเกษตราธิการ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบัน) และแต่งตั้งให้ ดร.สมิธ ดำรงตำแหน่ง Adviser in fisheries to His Siamese Majesty's Govermment ในปี พ.ศ. 2466 โดยจัดสำนักงานให้ที่วังสุริยง (นางเลิ้ง) งานขั้นแรกคือการสำรวจว่าสัตว์น้ำที่มีอยู่ในประเทศไทยมีมากน้อยเท่าใด เพื่อนำมาประกอบการเพาะพันธุ์ การบำรุงพันธุ์พันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อขยายผลในเชิงอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งผลในการสำรวจจะจำแนกในทางชีววิทยา โดยมีภาพประกอบและจัดรวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ โดยการสำรวจในน่านน้ำจืด และในน่านน้ำทะเล ทั่วราชอาณาจักรไทย และจัดกลุ่มเป็นหมวดหมู่ พร้อมทั้งยังได้เขียนหนังสือที่กล่าวถึงทรัพยากรในประเทศไทยซึ่งรู้จักในนามของหนังสือ "อนุกรมวิธาน" และยังเขียนบทวิจารณ์ถึงทรัพยากรของประเทศไทยพร้อมทั้งให้คำอธิบายและรายละเอียดและข้อแนะนำในการบริหารจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศไทย โดยเขียนหนังสือที่ชื่อ A Review of the Aquatic Resources and Fisheries of Siam, with Plans and Recommendation for the Administration, Conservation and Development เสนอต่อกระทรวงเกษตราธิการและได้นำเสนอทูลเกล้า ฯ และอนุมัติให้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ และต่อมาก็ได้มีพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2469 ให้ตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ดร.ฮิว แมคคอร์มิค สมิท เป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ (ปัจจุบันคือ กรมประมง)
ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ มีผลงานทางด้านการค้นพบความหลากหลายทางชีวภาพและทำการอนุกรมวิธานไว้มากมาย โดยค้นพบชนิดพันธุ์ของสัตว์ประเภทต่าง ๆ ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์ปีก พรรณพืช ไว้ไม่ต่ำกว่า 25 ชนิด อาทิ ปลาเทพา (Pangasius sanitwongsei), ปลาบู่รำไพ (Magilogobius rambaiae) และมีผลงานเป็นหนังสือที่ยังใช้อ้างอิงมาจนถึงปัจจุบัน คือ The Fresh Water Fishes of Siam, or Thailand ในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) และมีความสำคัญต่อประเทศไทย คือ เป็นอธิบดีกรมประมงคนแรก ที่ได้บุกเบิกงานทางด้านการค้นคว้าศึกษาทรัพยากรทางน้ำตราบจนปัจจุบัน
ดร. ฮิวจ์ แมคคอร์มิค สมิธ เสียชีวิตในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948)