อุษาบารส เป็นวรรณกรรมในดินแดนแถบสยามและดินแดนใกล้เคียงอย่างอาณาจักรอยุธยา ล้านนา ล้านช้าง และรัตนโกสินทร์ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น อาณาจักรอยุธยาและรัตนโกสินทร์เรียก "อนิรุทธ์" หรือ "อุณรุท" ในเรื่อง อนิรุทธ์คำฉันท์ ในแถบล้านนาเรียก อุสสาบารส และในแถบล้านช้าง (อันรวมถึงดินแดนแถบอีสานในไทย) เรียกว่า อุษาบารส บ้าง อุสาบารส บ้าง และ พะกึด พะพาน บ้าง

หอนางอุสา โขดหินธรรมชาติ สมมุติเป็นสถานที่ตามนิทานท้องถิ่นเรื่องอุสาบารส บนภูพระบาท อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

ที่มาและสำนวน แก้

สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากนคัมภีร์สันสกฤตของอินเดียโบราณอยู่หลายเล่มโดยเล่มที่สำคัญคือ คัมภีร์ปุราณะ โดยเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของอุษาบารส เช่น วิษณุปุราณะ ปัทมปุราณะ ศิวปุราณะ ภาควตปุราณะ อัคนิปุราณะ พรหมไววรรตปุราณะ และครุฑปุราณะ[1] สำนวนของไทยไม่ได้นำเนื้อเรื่องจากสำนวนใดสำนวนหนึ่งในฉบับสันสกฤตโดยตรง แต่ได้นำเนื้อหาจากฉบับต่าง ๆ มาประสมประสานกัน โดยสำนวนที่ใกล้เคียงกับวรรณกรรมสันสกฤตของอินเดียมากที่สุดคือ อนิรุทธ์คำฉันท์ ส่วนสำนวนและสำนวนล้านช้างมีความคล้ายคลึงกัน[2]

อุสสาบารสในฉบับล้านนา ได้รับการกล่าวถึงใน นิราศหริภุญชัย มีเนื้อความเล่าว่าเมื่อหยุดพักการเดินทางในเวลากลางคืน นอกจากมีการเล่นดนตรีแล้วยังมีการอ่านโคลงอุสสาบารสให้ผู้ร่วมขบวนเกวียนมีความบันเทิงใจด้วย เมื่อพิจารณาจากอายุของนิราศหริภุญชัย ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่งประมาณ พ.ศ. 2060 วรรณกรรมอุสสาบารสจึงมีมาก่อนหน้านี้แล้ว

กฎหมายสมัยพระเจ้ากือนาที่มีการอ้างถึงวรรณกรรมเรื่องอุสสาบารสนี้ ความตอนหนึ่งว่า "เจ้ามาอยู่เป็นแม่เรือนปั่นฝ้ายบ่พอ 50 น้ำฝ้ายไปวันใดก็เท่าอ้างอุษาบารสและสี่บทโคลงอยู่มาโรงสินว่าอั้น นางโสภาเถียงว่ากู้เงินพี่มาจ่าย ถามเอาเงินแทน ก็ว่าต่อร่อกับกูอ่านหนังสือช่างกูสัง บ่ยืมปากไผมาว่ามาอ่านเดว่าอั้น" และความอีกตอนหนึ่งว่า "อยู่เรือนเพิ่นยุเยียะยุกิน อยู่โถงด้วยหมากสักกาอุสสาสี่บทโคลง อยู่บ่ดีแก่เจ้าชาว่าอั้น"[2] มีความเป็นไปได้ว่าอุสสาบารสในฉบับล้านนาเก่าแก่ที่สุดจากนั้นจึงกระจายตัวไปสู่อยุธยาและล้านช้าง ส่วนอนิรุทธ์คำฉันท์ซึ่งเป็นวรรณคดีแบบลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของอาณาจักรอยุธยาเชื่อกันว่ามีการประพันธ์ขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชคือ ระหว่าง พ.ศ. 1991–2031[1]

อุษาบารสในฉบับภาคอีสานมีการกระจายตัวปรากฏในจังหวัดต่าง ๆ ใน 8 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานีและบุรีรัมย์ ปรากฏเป็น 32 สำนวน แบ่งเป็นฉบับใบลาน 28 สำนวน (รวมฉบับที่ปรากฏในประเทศลาว 1 สำนวน) ฉบับที่ปริววรรตแล้ว 4 สำนวน (รวมสำนวนที่ดนุพลไชยสินธุ์ปริวรรตเรื่องจำบัง) ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเนื้อเรื่องเดียวกับอุษาบารส[1]

โครงเรื่อง แก้

กษัตริย์องค์หนึ่งไม่มีบุตรธิดา ได้ขอบุตรสาวจากฤาษีมาเลี้ยงแต่ไม่ประสงค์ให้นางพบชายอื่นใดและไม่อยากให้นางมีสามี มีวันหนึ่งนางไปสรงน้ำที่ท่าน้ำ ได้ทำกระทงเสี่ยงสารลอยน้ำไป โอรสของกษัตริย์อีกเมืองหนึ่งเก็บได้จึงได้ตามหาตัวจนพบ ทั้งคู่รักใคร่กันจึงแอบลักลอบอยู่ด้วยกัน เมื่อพระบิดาทราบจึงกริ้วหวังจะประหารพระโอรส แต่เสนาอำมาตย์ห้ามไว้เพราะกลัวจะเกิดสงคราม จึงหาทางออกโดยการท้าพนัน สร้างวัดแข่งขันกันโดยเอาพระราชธิดาเป็นเดิมพัน ผู้สร้างเสร็จช้าจะต้องตาย ฝ่ายโอรสวางแผนวางกลลวงว่าจะสว่างแล้ว ให้ฝ่ายตรงข้ามเลิกสร้าง ทำให้ฝ่ายพระบิดาแพ้จึงต้องสิ้นพระชนม์ไป

ทั้งสองได้กลับมายังเมืองของฝ่ายชาย แต่นางสนมทั้ง 4 เคียดแค้นจึงวางแผนให้ทั้งสองต้องแยกจากกัน แล้วนางสนมต่างเข้าไปต่อว่าทุบตีจนขับไล่นางออกจากเมือง นางได้กลับไปเข้าป่าตามเดิมตามลำพัง เมื่อโอรสได้รู้ความจริงจึงตามมาแต่นางป่วยหนักจนตาย และพระโอรสก็ตรอมใจตาย[3]

สถานที่อันเกี่ยวเนื่อง แก้

สถานที่อันเกี่ยวเนื่องจากวรรณกรรม ได้แก่ ภูพระบาทใหญ่ และภูพระบาทน้อย (ในทิวเขาภูพาน) อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี[4] เช่น หอนางอุสา กู่นางอุสา บ่อน้ำนางอุสา วัดลูกเขย วัดพ่อตา และคอกม้าท้าวบารส[5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 เชิดชาย บุตดี (กันยายน–ธันวาคม 2555). "ตำนานอุษาบารส ฉบับวัดพระพุทธบาทบัวบก: พัฒนาการของตัวบท และการอธิบายความหมายของพื้นที่ภูมิศาสตร์". วารสารสังคมลุ่มนํ้าโขง. 8 (3).
  2. 2.0 2.1 ปิยะพงษ์ โพธิ์เย็น, ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง. "การศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมชาดกล้านนาเรื่องอุสสาบารส" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  3. "ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่อง อุษาบารส" (PDF).
  4. "'อุ้มสม' เสพสังวาส พิธีกรรมขอฝน ในวรรณกรรมโบราณ". มติชนสุดสัปดาห์.
  5. "อุทยาน ประวัติศาสตร์ภูพระบาท". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.